“...ราคาภัตตาคาร สถานที่ชาวบ้าน...”
สโลแกนที่แปลกและแตกต่าง กลายเป็นจุดขายแบบกวนๆ ที่คนให้ความนิยมของ “แป๊ะราดหน้า” ได้อย่างนึกไม่ถึง
“แป๊ะราดหน้า” ราดหน้าที่ไม่ธรรมดา เพราะที่นี่เขามีราดหน้าราคาเจ็บๆ ที่จานละ 2,000 บาทด้วยจุดเริ่มของความเจ็บนี้ เกิดจากความคิดเปรี้ยวๆ ของ “ปุ๊บปั๊บ” หนุ่มร่างใหญ่มาดกวนที่บอกว่า “คิดเล่นๆ เอามันเข้าว่า ไม่คิดเหมือนกันว่า จะมีใครกิน (หัวเราะ)”
นอกจากอาหารราคาเบสิกที่ 30-40 บาทแล้ว เขาเริ่มความอลังการจาก ราดหน้าจานละ 300 บาท ที่กลายเป็นเมนูนิยมไปอย่างคาดไม่ถึง เขาจึงค่อยๆ ขยับมาเป็นราดหน้าจานละ 500 จานละ 1,000 จานละ 1,500 และ 2,000 บาทในที่สุด ราดหน้าของเขาขายดิบขายดีทุกระดับราคาที่คอนเฟิร์มความเอร็ดอร่อย ด้วยยี่ห้อ “แป๊ะราดหน้า” นี่เอง
จุดเริ่มของแป๊ะราดหน้า เกิดจากความชอบของหนุ่มร่างใหญ่คนนี้ ที่ค่อยๆ ฉายแสงเอาเมื่อตอนที่ถูกแม่ส่งไปเรียนภาษาที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตลอด 4 ปีที่ไปๆ กลับๆ นอกจากการทำตามหน้าที่แล้ว เขายังใช้เวลาหมดไปกับการทำสิ่งที่ชอบ นั่นคือ ทำกับข้าวใส่บาตรให้กับกลุ่มคนไทย ไปจนถึงเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดจากการเป็นลูกจ้างในร้านอาหารไทยโดยที่ทางบ้านไม่เคยรู้
เขาไม่รู้ว่า สิ่งที่ทำชอบหรือเปล่า รู้แต่ว่า เขาชอบไฟลุกๆ ที่โชนขึ้นจากเตาเท่านั้น
กลับมาเมืองไทย หลังจากนั่งว่างๆ สักพัก เขาเริ่มมองหาสิ่งที่อยากทำ และ “ราดหน้า” นี่แหละคือ เป้าหมาย โดยเขาเลือกที่จะทำแบบดีลิเวอรี่ โดยใช้ชื่อว่า “ปุ๊บปั๊บ ดีลิเวอรี่”
“ผมทำคนเดียว เริ่มจากไปแจกใบปลิวก่อน แจกเองเลย ก็มีคนโทรมาบ้าง พอมีคนสั่ง เราก็ทำเอง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งเอง (หัวเราะ) ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักผม และก็ไม่มีคนรู้หรอกว่า ผมทำเองทั้งหมด”
จากดีลิเวอรี่ เขาลองปักหลักเปิดร้าน “แป๊ะราดหน้า” เป็นครั้งแรกที่ตลาดเมืองทอง ผลก็คือ เงียบกริบ...
แต่ไม่เป็นไรเอาใหม่ เขาตัดสินใจย้ายที่ขายไปแสนไกลถึง เซ็นหลุยส์ ซอย 3 ย่านสาทร ด้วยเหตุผล แสนน่ารักว่า “ผม...กลัวเจ๊ง อายคนแถวบ้าน...(หัวเราะ)”
แต่คำว่า เจ๊ง ไม่มีซ้ำรอย แป๊ะราดหน้า ขายดิบขายดีผิดคาด ตั้งแต่วันแรกจนผ่านมาถึง 2 ปี หมดเกลี้ยงทุกวัน ทั้งๆ ที่ขายเริ่มต้นที่จานละ 80 บาท 120 และ 200 บาท
ขายดีก็จริง แต่วันหนึ่งก็ถึงจุดอิ่มตัว เขาเริ่มคิดใหม่อีกครั้งว่า กลับมาตั้งหลักที่ถิ่นฐานบ้านตัวเองดีกว่า โดยคราวนี้เขามั่นใจเต็มร้อยว่าเขามาถูกทาง เพราะเขาเอาประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาใช้
ประสบการณ์ที่ว่านั้นคือ “สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราขาย ถ้าเอาของไม่ดีไปขาย ลูกค้าเขาก็มากินวันเดียว แต่ถ้าเราใช้ของดี และราคาแพงหน่อย ผมเชื่อว่า คนรับได้”