วันหมดอายุ เชื่อได้แค่ไหน อย่าละเลย ดูบ้าง อะไรบ้าง




วันหมดอายุของอาหารยึดถือได้จริงหรือ ผ่านกำหนดวันไปแล้วยังทานได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า

สำหรับ การกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ อย่างที่เราคุ้นตากัน ก็เช่น EXP….(วันหมดอายุ), BBE…(ควรบริโภคก่อน) นั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเก็บไว้ตามสภาวะที่ระบุไว้บนฉลาก ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็จะสามารถนำมาทานได้อย่างปลอดภัยจนถึงวันหมดอายุ

แต่ด้วย วิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน เราทั้งหลายต่างมีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปหรือแปรรูปมาเก็บตุนไว้เพื่อความสะดวก กลายเป็นบางทีเก็บไว้เยอะเกิน หมดอายุไปก่อนที่จะทานได้หมด หลายคนจึงมักนำอาหารพวกนี้แช่ตู้เย็นไว้ เพราะจะทิ้งไปก็รู้สึกเสียดาย เช่น ไส้กรอก ขนมปัง...

แล้วจริงๆ อาหารประเภทแช่เย็น และแช่แข็ง ที่พ้นวันหมดอายุไปแล้ว แต่กลิ่น รส รูปร่างยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นนั้น จะยังทานได้หรือไม่ 

คำตอบคือ ได้เหมือนกัน เพราะอุณหภูมิการจัดเก็บมีผลโดยตรงต่อการเจริญและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ กล่าวคือ อาหารนั้นจะสามารถมีอายุยืนยาวกว่าที่ได้ระบุไว้บนฉลาก เพราะอุณหภูมิแช่แข็งจะสามารถชะลอการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของจุลินทรีย์ได้ ดังนั้นหากซื้อมาแล้วควรรีบนำมาจัดเก็บในตู้เย็นให้เร็วที่สุด

 แต่ในบางกรณี ผลิตภัณฑ์อาหารอาจเสื่อมหรือเสียก่อนวันหมดอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่ต้องแช่เย็น หรือแช่แข็ง ทั้งๆ ที่กระบวนการผลิตและการจัดเก็บก็ถูกต้องตามหลักการผลิตที่ดี

สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการขนส่ง หรือร้านค้าปลีกที่นำไปขายหน้าร้านดูแลจัดเก็บไม่ดี เก็บในอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนดไว้

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เรายังจำเป็นที่จะต้องสังเกตอาหารหลังละลายน้ำแข็ง ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน สิ่งที่ต้องสังเกต มีดังนี้

 1.ก๊าซในอาหาร : หากอาหารถูกจัดเก็บไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด แล้วถุงกลับพองขึ้น นั้นหมายถึง จุลินทรีย์กำลังทานอาหารชนิดนั้น และปลดปล่อยก๊าซออกมา ยิ่งถ้าถุงบวมเป่งแล้ว หรืออาหารกระป๋องที่บวมกว่าปกติแล้ว ไม่ควรเสี่ยงทานเลย

 2.กลิ่นของอาหาร : ให้ใช้วิธีดมกลิ่นก่อนที่จะทาน หากกลิ่นผิดเพี้ยนหรือแปลกไปจากกลิ่นปกติ ให้สงสัยว่า อาหารกำลังจะเสื่อมเสีย

 3.เมือกตามผิวของอาหาร หรือลักษณะเป็นวุ้นๆ สำหรับอาหารเหลว : ธรรมชาติของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสียมักสร้างเมือกขึ้นมาในระหว่าง การเจริญ ดังนั้นจะสังเกตว่า อาหารเริ่มเสื่อมเสีย มักมีเมือกลื่นๆเคลือบอยู่ที่ผิวของอาหาร หรือ ถ้าอาหารชนิดนั้นเป็นของเหลว ก็ให้สังเกตเนื้อของเหลวนั้นว่ามีการข้นเป็นวุ้นปะปนหรือไม่

 4.สี รสชาติ และลักษณะทางกายภาพ : สีของอาหารก็มีส่วนสำคัญ หากสีเปลี่ยนหรือแตกต่างไป รวมถึงลักษณะทางกายภาพของอาหารที่เป็นชิ้นๆ ให้สังเกตรา หรือลักษณะแปลกปลอมที่มีในอาหาร หากผิดปกติแนะนำว่าทิ้งดีกว่า

นอกจากนี้ เราควรใส่ใจกับ วัตถุกันเสียในอาหาร หรือสารกันบูด หากผลิตภัณฑ์อาหารใส่สารดังกล่าวมากเกินไป บางทีผ่านวันหมดอายุแล้ว แต่อาหารนั้นก็ยังไม่เสีย แต่วัตถุกันเสียเหล่านี้ยังเป็นอันตรายทางเคมีที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาวได้ เราจึงครเลือกซื้อเลือกทานอาหารที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากส่วนผสมที่ระบุไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์




วันหมดอายุ เชื่อได้แค่ไหน อย่าละเลย ดูบ้าง อะไรบ้าง

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์