‘ชื่อ’ นั้นสำคัญไฉน? ตั้งไว้เป็นมงคล....ชวนจดจำ


กระแส 5 คุณชายจากละคร “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” มาแรง!! เรื่องราวของคุณชาย 5 พี่น้องแห่งตระกูลจุฑาเทพ ประกอบด้วย คุณชายธราธร คุณชายปวรรุจ คุณชายพุฒิภัทร คุณชายรัชชานนท์ และคุณชายรณพีร์ ทำให้บรรดาพ่อแม่ที่เป็นแฟนละครนำชื่อคุณชายทั้ง 5 คน ไปตั้ง เป็นชื่อบุตรที่เกิดใหม่กันเป็นจำนวนมาก!

จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยพบว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ มีประชาชนนำชื่อพระเอกละครเรื่องดังกล่าวมาตั้งชื่อบุตรเกิดใหม่แล้วกว่า
1 พันคน โดย ชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ รัชชานนท์ มีจำนวน 664 คน รองลงมาได้แก่ พุฒิภัทร 412 คน อันดับ 3 ธราธร 142 คน อันดับ 4 ปวรรุจ 112 และอันดับ 5 รณพีร์ 26 คน นอกจากนี้ ยังมีชื่อจุฑาเทพอีกจำนวน 30 คน

อ.คฑา ชินบัญชร กล่าวถึงความสำคัญของการตั้งชื่อให้ฟังว่า ชีวิตของคนไทยมีความผูกพันกับการตั้งชื่อมายาวนาน เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นชาติ และที่สำคัญพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา โดยการนำรูปแบบมาจากอักษรขอมโบราณ

การตั้งชื่อใน สมัยสุโขทัย จะเป็นในลักษณะเพื่อบ่งบอกความเป็นตัวตนของคน ๆ นั้น ซึ่งจะเป็นชื่อเรียกที่ง่าย ๆ เป็นคำพยางค์เดียวสั้น เช่น คง มั่น จิด อ้าย ยี่ ดำ ขาว แดง เป็นคำเรียกง่าย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเฉพาะคน เพราะสมัยนั้นเป็นช่วงที่กษัตริย์หรือผู้นำของชุมชนกำลังกู้บ้านเมืองจากขอม มีการสร้างบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น

“ชื่อในสมัยนี้จึงเกี่ยวข้องกับบุคคล เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของบ้านเมืองเป็นหลัก และที่สำคัญเป็นชื่อที่เรียงลำดับความ เช่น ลูกคนที่ 1 ชื่อ อ้าย คนที่ 2 ก็เรียกว่า ยี่ คนที่ 3 ก็เรียกว่า ไส ยังไม่มีชื่อว่าอ้ายอะไรเพราะในที่นี่ชื่ออ้ายไม่ได้แปลว่าพี่ แต่แปลว่า 1 อีกทั้ง ในสมัยนั้นผู้คนมีจำนวนน้อยการตั้งชื่อเรียกก็ยังไม่ซ้ำกัน จึงเป็นชื่อที่เรียกง่าย ๆ ที่ไม่เน้นความเป็นสิริมงคลแต่เน้นที่ตัวบุคคลหรือตั้งชื่อตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่เป็นหลัก”

ต่อมาใน สมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี ยังมีการตั้งชื่อ 1 พยางค์และ 2 พยางค์อยู่ แต่เริ่มมีคำบาลีและสันสกฤตเข้ามาผสมกับคำไทยในการตั้งชื่อ เนื่องจากกษัตริย์ในสมัยอยุธยามีการทำนุบำรุงพระศาสนา มีพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้น เริ่มมีการทำการค้าขาย มีการพูดคุยกับคนต่างชาติมากขึ้น มีการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ เช่น อินเดีย ศรีลังกา อีกทั้ง ไทยยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญของชาติต่าง ๆ ทั้ง โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส รวมไปถึงระบบกษัตริย์และวรรณะก็มีผลกับการตั้งชื่ออีกด้วย

การตั้งชื่อในสมัยอยุธยา จึงมีการตั้งชื่อพยางค์เดียวและ 2 พยางค์ ซึ่งเป็นคำเรียกที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ รวมทั้งแสดงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมกับชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน เช่น จัน ซึ่งในที่นี่หมายถึง ไม้จัน อาจจะเกิดในหมู่บ้านที่มีไม้จันมาก หอม เหม็น ทองขำ แจ่ม เอี้ยงเลื่อน ฉิม อิน หรือ ทองอิน บุญมา

“บางชื่อฟังแล้วดูเหมือนไม่ได้มีความเป็นสิริมงคลหรือไม่ได้มีความหมายสวยงาม เช่น เหม็น จอด เนื่องจากในสมัยนั้นมีความเชื่อว่า การตั้งชื่อเช่นนี้เพื่อให้ผี แม่ซื้อ หรือดวงวิญญาณร้ายไม่มารบกวนหรือมาเอาชีวิตเด็กไป หรือเด็กที่ไม่สบายบ่อย ๆ ก็จะตั้งชื่อให้น่าเกลียด น่ากลัวจะได้ไม่มีโรคภัยพอตั้งแล้วเมื่อโตขึ้นก็ไม่เปลี่ยนเพราะเรียกกันจนติดปากแล้ว”

เมื่อถึง สมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงแรก ๆ ซึ่งยังใช้ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การตั้งชื่อจะเป็นคำบาลีและสันสกฤตผสมกับภาษาไทย และเริ่มมีคำเขมรเข้ามาใช้ในการตั้งชื่อเพิ่มด้วย เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแผ่นดินเขมรผนวกเข้ากันเป็นราชอาณาจักรสยาม ทำให้ได้รับวัฒนธรรมของระบบกษัตริย์ การตั้งชื่อจึงมีหลายพยางค์มากขึ้นสำหรับคนชนชั้นสูง เช่น พระองค์เจ้า เจ้าฟ้า รวมทั้ง เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่จะจำกัดอยู่ที่เชื้อพระวงศ์เท่านั้นไม่ลงมาที่คนสามัญชนที่เป็นชนชั้นสูงหรือพ่อค้าที่มีศักดินา

“ในช่วงเวลานั้นผู้คนเริ่มมีจำนวนมากขึ้น นอกจากเป็นเมืองท่าแล้วที่สำคัญเป็นช่วงของยุคล่าอาณานิคม จึงทำให้ผู้คนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ การตั้งชื่อจึงเพิ่มคำขึ้นเป็น 2-3 พยางค์ โดยจะพบชื่อที่เป็นคำสมาสหรือคำสนธิขึ้นในสมัยนี้ในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูงในสังคม ส่วนคำเรียกสั้น ๆ 1-2 พยางค์ก็ยังมีตั้งกันอยู่ในคนธรรมดา”

มาในช่วงปลายของระบอบสมบูรณา ญาสิทธิราชย์ รัชกาลที่ 4-5 ซึ่งในสมัยนั้นชุมชนเริ่มใหญ่ขึ้น คนมีจำนวนมากขึ้น การใช้ชื่อพยางค์เดียวเริ่มใช้ซ้ำกัน เช่น ชื่อมั่น มี 10 คนในหมู่บ้าน จึงเริ่มมีการใช้คำหลายพยางค์ขึ้น รวมทั้ง มีการรับคำมาจากเขมรเพิ่มขึ้น คำบาลี สันสกฤต และคำพ้องเสียง รวมไปถึงคำทับศัพท์จากต่างประเทศจึงทำให้ในช่วงนี้ มีการตั้งชื่อที่มีความหลากหลาย มีความไพเราะ และที่สำคัญเริ่มที่จะมีการใช้คำที่มีความเป็นสิริมงคลมากขึ้น ชื่อ สวย งาม เหม็น อ้วน จะไม่มีตั้งกันแล้ว จะเปลี่ยนเป็น พิสมัย วิมลยุพา อำนวย สมบูรณ์

ส่วนในช่วงรัชกาลที่ 6 เมื่อมีชื่อใช้ซ้ำกันมากขึ้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเพื่อส่งเสริมความรักใคร่ผูกพันในระหว่างผู้ร่วมนามสกุล และรักษาเกียรติยศซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึง พ่อ แม่ บรรพบุรุษ ญาติพี่ น้อง และทำให้เกิดความภาคภูมิใจ โดยนามสกุลในช่วงแรก ๆ จะบ่งบอกถึง อาชีพของ พ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษที่ทำกันมา เช่น ตั้งวานิช ก็แสดงว่ามีอาชีพเป็นพ่อค้า รวมทั้ง สถานที่เกิด เช่น ณ อยุธยา

มาในสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงปัจจุบัน มีการตั้งชื่อ 2 พยางค์ขึ้นไปมากขึ้น เพราะมีความเชื่อถือในเรื่องของความเป็นสิริมงคล รวมทั้ง อยากมีชื่อที่มีความหมายที่ดีฟังแล้วดูดี ไม่ซ้ำกับใคร โดยในช่วงนี้จึงมีการใช้คำสมาส คำสนธิ และมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา ตลอดจน มีการตั้งชื่อโดยใช้หลักตำราทักษาปกรณ์ หรือ ตำรามหาทักษา ที่เรียกอีกชื่อว่า อัฏฐเคราะห์ เป็นตำราโบราณมาจากอินเดีย จึงทำให้ชื่อมีความหลากหลายมากขึ้น

โดยปัจจุบัน จะเป็นชื่อที่มีความหมายบ้าง ไม่มีความหมายบ้าง ถ้าใช้ชื่อที่มีความหมายก็จะเป็นชื่อที่มีความหมายที่เป็นสิริมงคล รวมทั้ง เป็นคำที่ไพเราะ สวยงาม มีความหมายทางบวก อีกทั้ง มีการนำชื่อของเทพเจ้า พระอรหันต์ ซึ่งถือว่าเป็นมงคลขึ้นไปอีกมาใช้ในการตั้งชื่อ เช่น วชิราภรณ์ แปลว่า เครื่องแต่งกายของพระอินทร์ วิษณุ ซึ่งก็คือ ชื่อของพระนารายณ์ บางคนตั้งชื่อ กฤษณะ ซึ่งก็คือ พระกฤษณะ


‘ชื่อ’ นั้นสำคัญไฉน? ตั้งไว้เป็นมงคล....ชวนจดจำ


ส่วนชื่อที่ไม่มีความหมาย เริ่มมีในรัชกาลที่ 8-9 ซึ่งจะตั้งชื่อโดยไม่จำเป็นต้องมีความหมายแต่ให้แปลก เท่ ไม่เหมือนใคร ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรก คือ อ่านออกเสียงแปลก เช่น โอส, ออส ส่วนอีกแบบ คือ สะกดแปลก หรือไม่ก็เป็นคำที่ทั้งออกเสียงแปลกและสะกดแปลก เช่น เมอร์ตี้, ติ้งก้า

“การตั้งชื่อตามกระแสสังคมในยุคต่าง ๆ หรือการตั้งชื่อตามกระแสละคร อย่าง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ทั้ง 5 อ.คฑา มองว่า ชื่อที่มีความหมายดี ถ้านำมาใช้แล้วทำตัวไม่ดี ไม่เหมาะสมก็ไม่มีประโยชน์ หรือ บางคนชื่อมีความหมายเป็นคนรูปสวย พูดจาไพเราะ น้ำใจดี แต่ตัวจริง หยาบคาย พูดจาโกหก ชื่อที่ตั้งมาก็ไม่มีความหมายต่อคน ๆ นั้น”

สำหรับการนำชื่อสูงเกินไป อย่าง ชื่อของพระอรหันต์มาตั้งเป็นชื่อคนโดยส่วนตัวคิดว่าไม่เหมาะสมนัก ซึ่งจะเป็นมงคลจริงถ้าคนนั้นทำตัวดี แต่ถ้าคนนั้นทำตัวไม่ดีไม่เป็นมงคลก็จะส่งผลให้ชื่อนั้นเสื่อมเสียไปด้วย รวมทั้ง ส่งผลกับคน ๆ นั้น เพราะชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกตัวตนหรือทำให้เห็นภาพลักษณ์ของคนชื่อนั้น ฉะนั้น การนำมาใช้ต้องระมัดระวัง

ส่วนการใช้ชื่อสูง อย่างบุคคลในประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวร ก็มีคนนำมาตั้งเป็นชื่อ อย่าง “นเรศ” เป็นการนำชื่อพระมหากษัตริย์มาใช้ ตรงนี้ พ่อ แม่ ที่ตั้งชื่อให้คงไม่ได้มีความตั้งใจจะเทียบเทียมลูกให้เป็นกษัตริย์ แต่อยากให้ลูกมีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ รักแผ่นดิน เหมือนสมเด็จพระนเรศวรก็คงไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อตั้งชื่อสูงศักดิ์แล้วเมื่อคน ๆ นั้นประพฤติปฏิบัติตัวไม่ดีก็อาจจะเป็นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากใช้ชื่อที่สูงเกินศักดิ์แล้วควรปฏิบัติตัวให้สูงสมชื่อ เหมาะสมอย่างชื่อ จึงจะทำให้ชื่อนั้นเป็นมงคลแก่ตัวอย่างแท้จริง

ชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญกับชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ คุณธรรม ความดี วิธีคิด และจิตใจ ที่คนชื่อนั้นกระทำขึ้นมา ไม่ว่าชื่อนั้นจะมีความหมายเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะคนจะจดจำชื่อของเราได้จากความดีและความชั่วที่เราทำ ไม่ใช่เพราะชื่อเราไพเราะหรือไม่ไพเราะนั่นเอง.



‘ชื่อ’ นั้นสำคัญไฉน? ตั้งไว้เป็นมงคล....ชวนจดจำ



หลักการตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์

การตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์นั้นจะแบ่งกลุ่มของตัวพยัญชนะออกเป็นภูมิต่าง ๆ ในแต่ละวัน


วันอาทิตย์ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
วันจันทร์ ก ข ค ฆ ง
วันอังคาร จ ฉ ช ซ ฌ ญ
วันพุธกลางวัน ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
วันพฤหัสบดี บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
วันศุกร์ ศ ษ ส ห ฬ ฮ
วันเสาร์ ค ต ถ ท ธ น
วันพุธกลางคืน ย ร ล

การนับ เริ่มจาก เกิดวันใดให้นับวันนั้นเป็น บริวาร จากนั้นก็เรียงลำดับไปให้ครบคือ อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี เพื่อจะได้ทราบว่าตกอยู่ที่ทักษาใด เพื่อจะได้นำพยัญชนะที่ดีเป็นมงคลมาตั้งเป็นชื่อ ตัวอย่าง คนเกิดวันอาทิตย์ถือว่า บริวารคือ สระทั้งหมด อายุ ได้แก่ ก ข ค ฆ ง เดช คือ จ ฉ ช ซ ฌ ญ ศรี ได้แก่ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ มูละ ได้แก่ ด ต ถ ท ธ น อุตสาหะ คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม มนตรี คือ ย ร ล ว และ กาลกิณี คือ ศ ษ ส ห ฬ อ

ความหมายตามหลักทักษา

บริวาร หมายถึง บุตร สามี ภรรยา ญาติ ลูกน้อง บริวาร

อายุ หมายถึง อายุยืน ร่างกายแข็งแรง

เดช หมายถึง อำนาจวาสนา เกียรติยศ ตำแหน่ง

ศรี หมายถึง โชคลาภรวมไปถึงความสำเร็จ ความมีเสน่ห์

มูละ หมายถึง ทรัพย์สิน มรดก หลักฐาน ความมั่นคง

อุตสาหะ หมายถึง ความขยันหมั่นเพียรหน้าที่ ความรับผิดชอบ

มนตรี หมายถึง ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เจ้านาย มีคนอุปถัมภ์

กาลกิณี หมายถึง อุปสรรค ศัตรู ความเหน็ดเหนื่อย ไม่ควรมีในชื่อ


‘ชื่อ’ นั้นสำคัญไฉน? ตั้งไว้เป็นมงคล....ชวนจดจำ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์