จะทานปาท่องโก๋ทั้งที..เลือกดี ๆ ก่อนหยิบเข้าปาก!!


ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คงเคยผ่านวัยเด็กที่ต้องเดินผ่านร้านขาย น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ตอนเช้า ๆ กันใช่ไหมคะ และหลาย ๆ ท่านคงเคยเป็นแฟนพันธุ์แท้ปาท่องโก๋ชนิดที่ว่า ต้องทานกันเป็นประจำในทุก ๆ เช้า ยิ่งมาในยุคปัจจุบัน จากปาท่องโก๋ยามเช้าโดยอาเจ่ก อาแปะ ได้คิดพัฒนาให้เข้ากับยุค กับสมัย จนกลายมาเป็นปาท่องโก๋สารพัดชนิด ใส่นั่น เติมนี่ เพื่อเพิ่มมูลค่า ขึ้นห้างบ้าง ขายในร้านดูดีมีชาติตระกูลบ้าง

แต่รู้กันไหมว่า ปาท่องโก๋หน้าน่าทานเหล่านี้ อาจมีภัยร้ายแฝงอยู่ ที่ค่อย ๆ สะสมในร่างกายเราอย่างช้า ๆ จนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นมาได้ มีข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์หลายงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า การนำน้ำมันที่ใช้ทอดแล้วนำกลับมาทอดซ้ำ มีหลักฐานว่าทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เกิดความดันโลหิตสูง และ ก่อให้เกิดโรค “มะเร็ง”

ทราบกันไหมว่า ในแต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตัน และพบว่า น้ำมันที่ใช้ทอดเป็นน้ำมันที่น้ำกลับมาใช้ซ้ำ จนเสื่อมคุณภาพกลายเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทาน ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต และภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งล้ำไส้ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้ ไอของน้ำมันที่เสื่อมสภาพจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากกการสูดดม อันตรายของน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพเกิดจากโครงสร้างของน้ำมันถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารโพลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคความดัน โลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่า ปัจจัยที่ส่งผลจนทำให้เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวนี้ คือ น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบว่า ในน้ำมันทอดซ้ำนั้นมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งประกอบด้วย “สารก่อมะเร็ง” อย่างแรง !!! มาอ่านกันดีกว่าว่า จะเลือกทานปาท่องโก๋ และอาหารประเภททอดอย่างไรให้ห่างไกลโรคร้ายกันนะคะ

เมื่อทราบต้นเหตุของปัญหาว่าอยู่ที่ “น้ำมันทอดซ้ำ” แล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะทำได้ ก็คือ

- เลือกรับประทานอาหารอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปริมาณการสะสมของสารอันตรายดังกล่าวจากอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เชื่อไหมคะว่าผลงานวิจัยบางผลงานได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดซ้ำของพ่อค้า แม่ค้า พบว่ามีการใช้น้ำมันทอดซ้ำโดยที่ไม่มีการเติมน้ำมันใหม่ถึงร้อยละ 65 และส่วนใหญ่มีการทอดซ้ำมากกว่า 30 ครั้ง น่ากลัวไหมล่ะคะ กับอาหารทอดที่เราเข้าไปกัน ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจว่า ในปัจจุบัน มีคนรอบตัวเราหลาย ๆ คนตรวจพบมะเร็งกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

- หากจำเป็นจะต้องทาน หรือ อยากทานจริงๆ แนะนำให้เลือกร้านที่เราสามารถสังเกตุเห็นน้ำมันในกระทะทอด หรือบริเวณที่คุณพ่อค้า แม่ค้า ใช้ทอดได้ น้ำมันในกระทะควรมีสีเหลืองใส ไม่คล้ำดำ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายร้านนะคะ ที่ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจ สนใจสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว ด้วยการใช้น้ำมันใหม่ และหมั่นเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอยู่เสมอ ๆ

- ทานอาหารให้หลากหลาย อย่าทานอะไรซ้ำ ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย (วิธีนี้เป็นหลักของผู้เขียนเองเลยล่ะคะ) เพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมของสารอันตรายต่าง ๆ ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา หรือสัมผัสได้ด้วยกลิ่น และรสชาติ

ผู้เขียนไม่ได้เจตนาจะมุ่งประเด็นไปที่ปาท่องโก๋เพียงอย่างเดียว ยังมีอาหารชนิดอื่นที่คุณผู้อ่านที่รักสุขภาพทั้งหลายต้องระวัง กับอาหารทุก ๆ ชนิดที่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำ เช่น หมูทอด ไก่ทอด มันฝรั่งทอด เต้าหู้ทอด ถั่วทอด และอาหารอีกมากมายหลายชนิดกันด้วยล่ะคะ อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันนะคะ อยากสุขภาพดีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ควรใส่ใจและเลือกอาหารที่เราจะบริโภคกันในทุก ๆ ครั้งก่อนจะหยิบอะไรเข้าปากกันดีกว่าค่ะ

ปล. แอบกระซิบก่อนลากันว่า หากอยากรู้ว่าน้ำมันในปาท่องโก๋นั้นมีมากมายแค่ไหน เพียงลองนำปาท่องโก๋ที่กำลังจะหยิบเข้าปาก ใช้กระดาษทิชชู่สีขาว (จะได้เห็นชัดเจน)สัก 5-6แผ่น ห่อปาท่องโก๋ให้รอบ และทำการบีบขยำปาท่องโก๋ แล้วคุณผู้อ่านจะไม่กล้าหยิบปาท่องโก๋ชิ้นต่อไปเข้าปากเหมือนที่ผู้เขียนได้ลองทำมาแล้วเลยล่ะคะ ^^

เนื้อหาบางส่วนจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/
รูปประกอบจาก http://2travel4.blogspot.com/

"PrincessFangy"
twitter.com/PrincessFangy


จะทานปาท่องโก๋ทั้งที..เลือกดี ๆ ก่อนหยิบเข้าปาก!!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์