สำรวจโลกของฮอร์โมน

ฮอร์โมนส่วนมากผลิตจาก'ต่อมไร้ท่อ' แต่นอกจากผลิตจากต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) แล้วยังสามารถผลิตได้จากเซลล์อื่นๆ อีก

(endocrine ออกเสียงได้ 2 แบบคือแบบอเมริกัน โดยทั่วไป"เอนโดคริน" แบบอังกฤษ "เอนโดครายน์")  

ต่อมไร้ท่อเป็นที่ผลิตฮอร์โมนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีทั้ง ต่อมไร้ท่อที่จำเป็น และต่อมไร้ท่อที่ไม่จำเป็น

1.1 ต่อมไร้ท่อที่จำเป็น หมายถึงต่อมที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย ซึ่งถ้าร่างกายขาดฮอร์โมนเหล่านี้ จะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ได้แก่ ต่อมอะดรีนัลคอร์เท็ก ต่อมพาราไทรอยด์ ตับอ่อน เป็นต้น

1.2 ต่อมไร้ท่อที่ไม่จำเป็น หมายถึงต่อมที่ผลิตฮอร์โมนที่ร่างกายขาดฮอร์โมนนี้ ร่างกายยังสามารถดำรงอยู่ได้ แต่จะมีความผิดปกติตามหน้าที่ของฮอร์โมนที่ขาดไป ได้แก่ ต่อมไพเนียล ต่อม   ไทมัส รังไข่ และอัณฑะเป็นต้น

ต่อมไร้ท่อยังแบ่งตามการหลั่งของฮอร์โมนที่มีผลต่อเซลล์ต่างๆได้ดังนี้

- โอโตคริน (autocrine) เป็นเซลล์ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนแล้วมีผลต่อเซลล์ต่อมเอง

- พาราคริน (paracrine : para : รอบๆ) เป็นเซลล์ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนแล้วมีผลต่อเซลล์ข้างเคียง

- เอนโดคริน (endocrine) เป็นเซลล์ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนแล้วมีผลต่ออวัยวะที่ห่างออกไป

2.เนื้อเยื่อ

เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆที่ผลิตฮอร์โมนได้แก่ เนื้อเยื่อชั้นในของผนังกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และไตเป็นต้น กลุ่มของฮอร์โมนที่ผลิตที่เนื้อเยื่อเรียกว่าฮอร์โมนจากเนื้อเยื่อ ( tissue hormone) ได้แก่

- แกสตริน (gastrin) สร้างจากเนื้อเยื่อชั้นในของกระเพาะอาหาร มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำย่อยและกรดไฮโดรคลอริก และการหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อน รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก

- ซีครีติน (secretin) หลั่งจากลำไส้เล็กส่วนต้น หรือดูโอดีนัม( duodenum)   กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งน้ำย่อยและกระตุ้นตับให้หลั่งน้ำดีออกมาย่อยอาหาร

3.เซลล์ประสาท

เซลล์ประสาทที่ผลิตฮอร์โมน หรือเรียกว่า นิวโรซีครีทอรีเซลล์ (neurosecretory cell) ได้แก่เซลล์ประสาทในสมองส่วนไฮโพทาลามัส กลุ่มฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ประสาทเรียกว่านิวโร ฮอร์โมน (neuro hormone) แล้วถูกส่งไปตามเอกซอนของเซลล์ประสาท จนกระทั่งถึงปลายประสาท เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ไปมีผลต่ออวัยวะเป้าหมาย
ฮอร์โมนประสาทที่สร้างจากนิวโรซีครีทอรีเซลล์ในไฮโพทาลามัส แล้วเดินทางมาสิ้นสุด และหลั่งฮอร์โมนประสาท ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง แล้วหลั่งเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะเป้าหมาย

เราสามารถแบ่งฮอร์โมนตามโครงสร้างเคมีได้ 4 ประเภท คือ

1. สเตรอยด์ฮอร์โมน (steroid hormones)

สเตรอยด์ฮอร์โมนทั้งหมดสังเคราะห์มาจากคอเลสเทอรอล (cholesterol) แล้วเปลี่ยนเป็นสารตัวกลางคือเพรกนิโนโลน (pregnenolone) แล้วจะเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์แต่ละชนิดและเนื้อเยื่อนั้นๆ ว่าทำหน้าที่อะไร มีคุณสมบัติละลายในไขมัน จึงสามารถแพร่ผ่านเข้า เยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นไขมันและโปรตีนไปทำปฏิกิริยาในนิวเคลียส

สเตรอยด์ฮอร์โมนได้แก่ฮอร์โมนเพศ (sex hormone) เช่น อีสโทรเจน (estrogen)     เทสโทสเทอโรน (testosterone) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนนอก (adrenal cortex) เช่นแอลโดสเตอโรน (aldosterone) คอร์ติซอล (cortisol) รวมทั้งวิตามินดี (vitamin D)

2. เปปไทด์ฮอร์โมนหรือโปรตีนฮอร์โมน (peptide/protein hormones)

ฮอร์โมนส่วนใหญ่เป็นเปปไทด์ฮอร์โมน ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนจำนวนแตกต่างกัน ต่อกันเป็นสายเปปไทด์ (peptide chain) ทำให้ฮอร์โมนในกลุ่มนี้ มีขนาดแตกต่างกัน มากตั้งแต่เล็กที่สุด คือ   ไทโรโทรปิน รีลีสซิ่งฮอร์โมน (thyrotropin releasing hormone: TRH) ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ตัวไปจนถึงโปรตีนฮอร์โมนที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โกรธฮอร์โมน (growth hormone) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนบางตัว เช่นพาราไทรอยด์ฮอร์โมน (parathyroid hormone) และอินซูลิน (insulin) โปรตีนฮอร์โมนบางชนิดที่รวมกับ คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) เรียกว่า ไกลโคโปรตีน (glycoprotein) ได้แก่ฮอร์โมนกลุ่มโทรปิกฮอร์โมน ( tropic hormone) และโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) ได้แก่ LH, FSH, HCG และ TSH นอกจากนี้ยังพบที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง หรือบางส่วนของไฮโพทาลามัส (hypothalamus) เช่น ฮอร์โมนออกซิโทซิน

3. เอมีนฮอร์โมน (amine hormones)

 เอมีนฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่มีขนาดเล็ก ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และไนโตรเจน สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนไทโรซีน (tyrosine) ซึ่งมีสูตรโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน (amino acid derived hormone) ได้แก่ฮอร์โมนแคททีโคลามีน (catecholamine: epinephrine, norepinephrine) ฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxine)ซึ่งทั้งหมดนี้มีหมู่เอมีน(NH2) อยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนซีโรโทนิน (serotonin) และเมลาโนโทนิน (melanotonin) โดยระดับของฮอร์โมนไม่แน่นอน  มีระดับสูงๆ ต่ำๆ อยู่เสมอ และเมื่อสร้างแล้วจะเก็บไว้เมื่อได้รับการกระตุ้นจึงหลั่ง

4. เอโคซานอยด์ (eicosanoid hormones)

 เอโคซานอยด์ (eicosanoids) เป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่มีวงแหวนคาร์บอน 5 ตัวอยู่ที่ปลาย เป็นอนุพันธ์ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ฮอร์โมนกลุ่มนี้ได้แก่พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ธรอมบ็อกแซน (thromboxane) ลิวโกไทรอีน (leukotriene) เป็นอนุพันธ์ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีคาร์บอน 20 อะตอม (20 carbon polyunsaturated fatty acid เรียกว่า อะแรคคิโดเนท (arachidonate) มีลักษณะเป็นพาราครินฮอร์โมน คือเมื่อหลั่งออกมา ฮอร์โมนจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียง แต่จำนวนที่ผลิตออกมาจะไม่มาก และจะไม่สร้างเก็บไว้ 

จะสร้างก่อนการใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจะหยุดการทำงานอย่างรวดเร็ว

สำรวจโลกของฮอร์โมน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์