บันทึก คู่มือคนกรุงเทพฯ อ่านแล้วรู้ รากเหง้า


บันทึก คู่มือคนกรุงเทพฯ อ่านแล้วรู้ รากเหง้า

ชื่อนั้นสำคัญไฉน ชื่อบอกอะไรหลายๆอย่าง โดยเฉพาะชื่อสถานที่มักมีความเป็นมาและบอกเรื่องราวผ่านชื่อนั้นๆ

 ชื่อจึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างย่อของสถานที่ ที่บอกถึงภูมิศาสตร์ วิถีความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ช่วงเวลาหนึ่ง

ในหนังสือ "กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง" บรรณาธิการโดย "สุจิตต์ วงษ์เทศ" พาลัดเลาะย้อนอดีตและกลับสู่ปัจจุบันของกรุงธนบุรี - กรุงเทพฯ ลงไปถึงเขตแขวงต่างๆ ที่จะทำให้เข้าใจรากเหง้าของ "กรุงเทพฯ" ได้ลึกซึ้งยิ่ง

กรุงธนฯ มีก่อนกรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ทับซ้อนเดียวกันกับกรุงธนฯ ร.6 โปรดให้แยกตั้งเป็นจังหวัดพระนคร กับจังหวัดธนบุรี แต่ "คณะปฏิวัติ" เผด็จการทหาร ยกเลิกทั้ง 2 จังหวัด แล้วรวมเป็นกรุงเทพมหานคร สืบจนทุกวันนี้

อย่างเช่น "เขตดินแดง" ที่มาจากสภาพถนน ในสมัยรัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม  ที่ได้สร้างถนนด้วยดินลูกรังจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาถึงสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อรถวิ่งผ่านก็ทำให้ฝุ่นสีแดงกระจายทั่วทำให้ประชาชนเรียกถนนเส้นนี้ว่าถนนดินแดง
หรือ"แขวงบ้านช่างทองหล่อ" ที่ได้ชื่อมาจากวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของคนในชุมชนสมัยนั้น ซึ่งภายในชุมชนมีช่างฝีมือด้านการทำพิมพ์หล่อตั้งบ้านเรือนไกลกันต่อเนื่องไปตามคลองบางกอกน้อย

และที่มาของชื่อ "เขตพระโขนง" นั้นมาจากลักษณะพื้นที่ซึ่งมีปากคลองที่โค้งเหมือนคิ้ว โดยคำว่า ขนง แปลว่าคิ้วในภาษาเขมร
สำหรับที่มาของชื่อ "เขตหลักสี่" นั้นหมายถึงหลักหมุดที่ 4 ในคลองเปรมประชากร โดยแต่ละหมุดจะห่างกัน 4 กิโลเมตร ต่อมาได้กลายเป็นสถานีรถไฟ

หรือที่มาของชื่อ "เขตยานนาวา" ที่ใครสักกี่คนจะรู้ว่า ยานนาวา นั้นหมายถึงเรือ ที่ได้ชื่อมาจากวัดยานนาวาซึ่งเป็นวัดสำคัญของย่านนี้ 

เดิมวัดยานนาวามีชื่อเดิมว่าวัดคอกกระบือ  รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้สร้างพระอุโบสถ ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้บูรณปฏิสังขรณ์พร้อมให้สร้างสำเภาจีนรองรับเจดีย์ และพระราชทานนามวัดว่ายานนาวาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายของความเป็นมาของชื่อเขตสถานที่ในกรุงเทพฯและกรุงธนฯในหนังสือ"กรุงเทพฯกรุงธนฯมีภูมิสถานชื่อบ้านนามเมือง"ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตำบลบ้านเมืองท้องถิ่นของกรุงเทพ กรุงธนฯ ผ่านชื่อเสียงเรียงนามที่เรียกขานจนถึงปัจจุบันนี้ 

การศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ผ่านชื่อสถานที่จึงเป็นเรื่องสนุกชวนติดตาม

หนังสือ : กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง
เขียนโดย  รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มหาวิทยาลัยรามคำแหง
             ประภัสสรื ชูวิเชียร มหาวิทยาลัยศิลปากร 
บรรณาธิการโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์