สังคมละเหี่ยใจ อย่าได้ไปเศร้าตาม


สังคมละเหี่ยใจ อย่าได้ไปเศร้าตาม

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกเพลียละเหี่ยใจกับข่าวสารบ้านเมือง ไม่ว่าจะยิงกันรายวันที่ 3 จังหวัดภาคใต้ 


ข่าวคนโกง ปล้น จี้ ยิง ฆ่า พระนอกรีต พระดีกลายพันธุ์ ฯลฯ ข่าวร้ายเข้าเกาะกุมจิตใจ แค่เศรษฐกิจรัดตัว งานเครียด รายได้ไม่พอใช้ ก็หนักหนาอยู่แล้ว ทำให้ชีวิตมันหดหู่เศร้าหมอง มีแต่เรื่องร้ายๆ ไม่น่ารื่นรมย์ เราจะมีชีวิตอยู่ให้โสภาภายในสังคมอันเลวร้ายนี้ได้ ให้มีความสุขมีรอยยิ้มได้อย่างไร

พ.ญ อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ บอกว่า เมื่อใดที่เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ดี นั่นแสดงว่าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คือสัญญาณที่ดีว่าเริ่มทนไม่ไหว และจะไม่ยอมรับมันอีกต่อไป แต่สิ่งที่ตามมาคือตั้งคำถามแล้วอย่าลืมลงมือทำ เช่น ข้างบ้านมีคลองน้ำเน่าคุณเอาแต่บ่นแล้วรอเวลาว่าเมื่อไหร่ กทม. จะมาแก้ให้ จงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้กระทำด้วยการเป็นผู้นำในชุมชนเชิญชวนคนในละแวกบ้านมาช่วยเก็บขยะ ลอกคลอง เอาต้นไม้มาปลูกชายคลองให้ดูสวยร่มรื่นแบ่งหน้าที่ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ ปัญหาตรงนั้นก็หมดไปแถมได้สัมพันธภาพที่ดีกับคนใกล้บ้าน

ถ้าละแวกบ้านมีแต่เด็กติดยา กังวลว่าลูกจะอยู่อย่างไร คุณก็เป็นแกนนำในการรณรงค์คนในหมู่บ้าน ไปจัดหาพื้นที่สร้างสนามกีฬาเล็กๆ เช่น ใต้ทางด่วนใกล้บ้าน ที่รกร้างแถวบ้าน จัดทำเป็นสนามฟุตบอล สนามบาส สนามแบต พ่อแม่อาจจะช่วยกันลงขันซื้ออุปกรณ์กีฬา เป็นโต้โผในการจัดแข่งกีฬาสีของคนในซอย ดึงเด็กให้มีกิจกรรมกีฬาแทนเอาเวลาว่างไปทำสิ่งไม่ดี พ่อแม่ก็จะได้ออกกำลังกายไปพร้อมกับลูก

ทุกวันนี้มีแต่ข่าวร้ายรายวัน ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ สิ่งที่แนะนำคือรับข่าวสารแต่พอดี ถ้าดูย้ำๆ ถี่ๆ ก็เลิกดูซะบ้าง บางคนดูในทีวียังไม่พอ ไปตามรายละเอียดต่อในเน็ตโพสต์ต่อไปยังกลุ่มเพื่อนพูดย้ำให้ความเห็นกับข่าวนี้ซ้ำๆ ถ้าเกินวันละ 2 ชม แนะนำให้หยุด งานวิจัยระบุว่าหากเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ๆ คนที่อยู่ในเหตุการณ์มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูง แต่ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง แต่ติดตามข่าวตอกย้ำใกล้ชิดมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ถึง 10%

"ถ้ารู้สึกว่ามีแต่ข่าวร้าย ก็หยุดติดตามข่าวแล้วเปลี่ยนจากผู้รับสารไปเป็นผู้ส่งสาร เช่น ตั้งกลุ่มไลน์ หรือเฟซบุ๊ก กับเพื่อนๆ ให้เป็นกลุ่มแห่งความสุข “เลือกส่งแต่ภาพดอกไม้ วิวสวยๆ คำคมดีๆ ที่ให้กำลังใจ รูปภาพฮาๆ น่ารัก มีข่าวอะไรน่าชื่นชมก็ไปโพสต์ไว้ งดรับข่าวลบ หยุดดูทีวีแล้วไปปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย วาดรูป เรียนเปียโน เปลี่ยนสังคมด้วยตนเองเรามีพลังที่ทำได้ไม่ยอมพ่ายแพ้หมดหวังกับสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง” คุณหมอแนะนำ

ดนัย จันทร์เจ้า นักเขียน และคอลัมนิสต์แนวชีวิตรื่นรมย์ เปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ ว่า ถ้ามีปลาหนึ่งตัวจะเลือกกินเนื้อปลาหรือกินก้าง ถ้ารู้ว่าสังคมมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเราจะเลือกรับอะไร เนื้อปลามีมากกว่าก้างจะไปกินก้างให้ติดคอทำไม ถ้าเรามองโลกอย่างเข้าใจก็จะรู้ว่าเรื่องร้ายๆ มันมีน้อยกว่าเรื่องดี เราก็ควรมองแต่เรื่องดีๆ รับรู้แต่สิ่งดีๆ ทำแต่เรื่องดีๆ มันเหมือนพลังดึงดูด คิดดี ทำดี พูดดี เราจะเจอแต่เรื่องดีๆ

นึกภาพให้เห็นง่ายๆ ว่า ดอกบัวเกิดในที่ต่ำ เกิดจากโคลนตมแต่งดงามในที่สูง เช่นเดียวกันว่าทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนมีปัญหาไม่ว่าจะเกิดในวัด ในบ้าน ทุกคนล้วนต้องมีปัญหาชีวิตใหญ่บ้างเล็กบ้างคละเคล้ากันไป ความท้าทาย คือ เราจะผ่านอุปสรรคปัญหานั้นได้อย่างไร มีหลายคนที่เกิดจากที่ต่ำแต่ทำตัวมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมั่งคั่ง เมื่อเจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไปทีละจุดเปิดทีละลิ้นชัก ศาสนาพุทธสอนให้เห็นทุกข์ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ทุกข์มีให้เห็นไม่ได้ให้เป็น ปัญหาแก้อย่างมีสติ “จะทำให้ชีวิตเข้มแข็งงดงาม ใช้สติ ใช้ปัญญาค่อยๆ แก้ปัญหาคุณจะผ่านมันไปได้เพราะความทุกข์จะไม่อยู่กับคนฉลาด

วีรณัฐ โรจนประภา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านอารีย์ ผู้ที่เกษียณจากงานในวัย 40 ต้นๆ บอกเล่าถึงเทคนิคในการใช้ชีวิตในช่วงที่มีแต่เรื่องร้ายๆ ชวนให้หดหู่ ท้อถอยกับชีวิต หรือเลยเถิดไปถึงการสิ้นหวังต่ออนาคตนั้น ต้องอาศัยความกล้าที่จะเผชิญกับเรื่องชวนหดหู่นั้นกันตรงๆ อย่าใช้วิธีการเบี่ยงเบนหรือหลบหลีกพร้อมกับหวังว่าเดี๋ยวจะมีเรื่องดีๆ เข้ามาให้ชีวิตมีความสุขเอง ที่หากเรื่องดีนั้นไม่เกิดทั้งยังโดนเรื่องร้ายอื่นถมทับเข้ามาอีกความเศร้าซึมนี้จะยิ่งทวีขึ้น

เรื่องการเงิน ก็ต้องกล้าที่จะอยู่กับความจริงว่าเราหาได้แค่ไหน มีความสามารถใช้จ่ายหรือเป็นหนี้ได้แค่ไหน หากไม่ไหวจริงๆ จำต้องปรับวิถีชีวิตที่แม้จะทำให้ลำบากขึ้นก็ต้องทำ อย่างน้อยก็ยังเหลือความภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำเต็มกำลังความสามารถที่มีแล้ว ความเครียดที่เกิดจากการเสพข่าวร้ายๆ จนทำให้เหมือนจะสิ้นหวังกับเรื่องดีๆ นั้น ก็ให้ทราบว่าความเครียดไม่ว่าจะมาจากข่าวไหน หรือความผิดหวังใดนั้นล้วนมีรากเหง้ามาจากความคิดลบทั้งนั้น วิธีทางแก้ที่จะช่วยให้ชีวิตรื่นรมย์ก็คือการปรับความคิดให้เป็นบวก

“ต้องเสพข่าวลบแค่เพียงพอรู้เหตุการณ์ เพื่อจะได้จัดการกับเรื่องนั้นได้เหมาะสม และก็ต้องพยายามหาเรื่องดีๆ เข้าตัวเท่ากับกระตุ้นให้เครือข่ายทางสมองทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพนำมาซึ่งความสดชื่นขึ้น และหาเวลาไปทำเรื่องดี ไปทำจิตอาสาในองค์กรต่างๆ การทำดีจะทำให้ได้ตระหนักรู้คุณค่าของตนเองและสามารถหลุดจากความเบื่อเซ็งได้”

ปูปรุงปริยกร วิศาลโภคะ เจ้าของหนังสือ ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ อยู่ใต้เมฆ บอกว่า เรื่องราวรอบตัวที่ทำให้ใจหมองมัวทำนองนี้ก็เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย วิธีหนึ่งที่จะดึงตัวเองไม่ให้ใจรู้สึกแย่ตามก็คือวางจิตใจตัวเองให้ถูกต้อง เหมือนกับคำพระที่ท่านบอกว่าให้มีอุเบกขา คือรับรู้เรื่องราวแล้วรู้จักวางใจให้เป็นกลาง แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดคนที่ฝึกปฏิบัติจิตมาอย่างสม่ำเสมอก็ยังเคยพลาดพลั้ง อยู่ที่ต้องฝึกฝนใจตัวเองบ่อยๆ เพื่อสลัดทิ้งความคิดที่จะทิ่มแทงตัวเองให้ได้ เปิดรับเรื่องราวต่างๆ เข้ามาสู่ใจนั้นก็จำเป็นต้องมีลิมิตด้วย ความจริงบางอย่างที่สร้างความหดหู่ใจมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้ทั้งหมดก็ได้



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์