เด็กๆ ก็เป็นไมเกรนได้นะ


 อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ปวดศีรษะแบบไมเกรน พบมากในเด็กวัยเรียน วัยหนุ่มสาว หญิงวัยเจริญพันธุ์ในระยะก่อนมีประจำเดือน แต่ผู้สูงอายุมักไม่เป็นโรคนี้ อาการแสดงในเด็กอาจจะแตกต่างจากผู้ใหญ่

อาการเฉพาะของโรคปวดไมเกรน

ลักษณะของไมเกรนจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไมเกรนธรรมดา และไมเกรนชนิดคลาสสิค

 ไมเกรนธรรมดา
พบได้บ่อยกว่าไมเกรนคลาสสิค โดยผู้ป่วยจำนวน 2/3 จะปวดศีรษะครึ่งซีก อีก 1/3 จะปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง อาการปวดจะปวดเป็นพักๆ เวลาหายปวดจะหายสนิท การปวดแต่ละครั้งจะนานตั้งแต่ 1/2 ชม. ถึง 2-3 ขม. หรือนานเป็นวันๆ ก็ได้ ความถี่ของการปวดไม่แน่นอน อาจเป็นนานๆ ครั้ง 2-3 ครั้ง ต่อเดือนหรือบางรายเป็นถี่มากทุกวัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนำก่อนปวดได้ เช่น รู้สึกหงุดหงิด เป็นต้น อาการที่พบร่วมขณะปวดศีรษะ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อแตก ตาไม่สู้แสง เสียงดังจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น

 ไมเกรนคลาสสิค
พบได้น้อยกว่าไมเกรนธรรมดา มักจะมีอาการนำมาก่อนประมาณ 10 นาที แล้วจึงจะมีอาการปวดศีรษะตามมา อาการนำที่พบได้บ่อย คือ อาการทางตา เช่น ตาฝ้า เห็นแสงระยิบระยับ บางครั้งจะเห็นเป็นลำแสงซิกแซก บางคนจะเห็นเป็นแสงพุ่งมาตรงกลางทำให้มองอะไรไม่เห็นไปชั่วครู่ อาจมีอาการแขนขาชา หรือพูดไม่ได้ชั่วครู่ก่อน

สาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรน 
1. สาเหตุที่เกิดภายในร่างกาย จากพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้
 2. สาเหตุที่มาจากภายนอกร่างกาย เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดอาการ สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ การอดนอน ทำงานหนักมากเกินไป ความเครียด การดื่มเหล้า กาแฟ ยาคุมกำเนิด อาหารบางชนิดจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีซึ่งมีผลกระตุ้นเส้นเลือดในสมองให้หดตัวและขยายตัว ทำให้มีอาการปวดศีรษะได้ ได้แก่ กล้วยหอม ชอคโกแลต เนยแข็ง เบียร์ และไวน์ เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน
ส่วนใหญ่ได้จากประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียด ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากรายที่แพทย์สงสัยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไมเกรน เช่น เนื้องอก ลมชัก

การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน แบ่งเป็น 2 ส่วน

 ส่วนที่ 1 ขณะมีอาการปวดศีรษะ ควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้ยาแก้ปวดธรรมดา
2. ในกรณีที่รับประทานยาพาราเซตตามอลแล้วไม่หาย ควรรับประทานยาที่แรงขึ้น เช่น แอสไพริน หรือยากลุ่ม NSAIDS ควรรับประทานหลังอาหาร กรณีเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ควรรับประทานยากลุ่มนี้ และควรดื่มน้ำตามลงไปมากๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
3. สำหรับผู้ที่ปวดศีรษะมากและบ่อยๆ ควรจะรับประทานยาพวกเออร์ก็อตทันทีที่เริ่มมีอาการนำ เพราะตัวยาจะช่วยทำให้เส้นเลือดไม่ขยาย ก็จะไม่มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ควรรับประทานตามแพทย์สั่ง เนื่องจากยาประเภทนี้มีผลแทรกซ้อน คือ อาจทำให้เส้นเลือดส่วนปลายของแขนขา หรือเท้าบีบตัวจนตีบ เลือดเดินไม่สะดวก ทำให้ปลายมือหรือเท้าเขียวคล้ำได้ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างมาก บางคนที่รับประทานยาประเภทนี้เป็นเวลานาน อาจเกิดพังผืดมารัดที่ท่อไตทั้งสองข้าง ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ออก

 ส่วนที่ 2 ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ โดย
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวด ได้แก่
- การอดนอน
- การตรากตรำทำงานมากหรือเรียนหนักเกินไป
- การอดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ มีผลให้เกิดอาการได้ง่ายขึ้น
- การเล่นกีฬาที่หักโหมจนเหนื่อยอ่อน แต่ถ้าเล่นกีฬาเบาๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- การมองแสงที่มีความจ้ามากๆ แสงที่กระพริบมากๆ
- เสียงดัง
- กลิ่นน้ำหอมบางชนิด กลิ่นบุหรี่หรือซิการ์ กลิ่นสารเคมีบางอย่าง กลิ่นท่อไอเสียรถยนต์
- อาหารบางชนิด เช่น ฟาสฟู้ด ช็อกโกแลต ชีส เนยแข็ง แฮม ไส้กรอก กาแฟ ชา กล้วยหอม เห็ด มะเขือเทศ ขนมปังหวาน
- อากาศร้อนจัด อากาศเย็นจัด
2. การฝึกการคลายความเครียด เช่น กัดฟันเกร็งให้แน่นและคลายออกหรือหายใจเข้าแรงๆ แล้วกลั้นเอาไว้ครู่หนึ่งแล้วหายใจออกช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปวดศีรษะข้างเดียวแบบไมเกรน
3. คลายความเครียดจากการทำงาน การเรียนหรือจากสาเหตุอื่นๆ ลง

การใช้ยาป้องกันไมเกรน

ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเมื่ออาการปวดศีรษะรุนแรงหรือเป็นบ่อย ทำให้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน การใช้ยาป้องกันมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ได้ผลในการป้องกัน ยาป้องกันจะออกฤทธิ์ป้องกันอาการปวดศีรษะ หลังจากให้ยาไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์

ดังนั้นในช่วงแรกที่มีอาการปวดศีรษะผู้ป่วยต้องรักษาตนเองแบบขณะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย
วิธีอื่นๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ การฝังเข็ม นั่งสมาธิ เป็นต้น

การบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยตนเอง 
1. ใช้ก้อนน้ำแข็งหรือกระเป๋าน้ำแข็งประคบที่ศีรษะ
 2. นอนพักผ่อนให้พอเพียงในห้องที่เงียบสงบ
 3. นวดด้วยกลิ่นหอม (ถ้ามี)

เด็กๆ ก็เป็นไมเกรนได้นะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์