7 วิธีป้อนข้าวลูก


บอกลาการป้อนข้าวแบบเหนื่อยแสนเหนื่อย ด้วยไอเดียวิธีป้อนข้าวที่จะทำให้ลูกกินได้กินดี เพราะลูกน้อยช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไป ถือว่าเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านการกิน พ่อแม่จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้อาหารมื้อนี้มีแต่ความสนุก และเป็นมื้อที่เจ้าตัวเล็กรอคอย ด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังนี้

1. จากคำเล็ก ไปคำโต โต
เริ่มจากการป้อนทีละนิดๆ คำเล็กๆ เพื่อให้ลูกได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อช่องปากในการบดอาหาร และการกลืน เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณเป็นคำโตขึ้น และเพิ่มจำนวนครั้งในการป้อนมากขึ้น เช่น จาก 5-6 ช้อน เป็น 10-12 ช้อน ตามลำดับ ในระหว่างที่ลูกกิน พ่อแม่อาจจะทำท่าเคี้ยว หรือกินไปพร้อมๆ กับลูก เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกในเรื่องของการบดเคี้ยวอาหารได้

Idea แม้ลูกจะยังเล็ก การที่พ่อแม่กิน หรือเคี้ยวให้ดู อย่าคิดว่าลูกไม่รู้เรื่องนะคะ ท่าทางต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแบบอย่างและมีผลต่อพัฒนาการด้านการกินของลูกน้อยได้

2. บรรยากาศแห่งความสนุก
จัดบรรยากาศการกินให้เป็นเรื่องสนุก ควรเป็นที่โล่ง เย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป ที่สำคัญไม่ควรมีทีวี เกม หรือของเล่นอยู่ในบริเวณที่กินข้าว เพราะอาจเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้ และไม่ควรคุยเรื่องเครียดๆ ขณะป้อนข้าวลูก

สำหรับลูกที่เริ่มนั่งได้แล้ว อาจให้นั่งบนเก้าอี้สำหรับเด็ก หรือเก้าอี้หัดนั่ง และกินข้าวร่วมกับพ่อแม่ โดยพ่อแม่คอยป้อนข้าวอยู่ข้างๆ และคอยพูดคุยหรือเล่านิทานเกี่ยวกับเรื่องการกินข้าวให้ฟังไปด้วยก็ได้ เพื่อสร้างสีสันในระหว่างการป้อนข้าว

Idea การกินอาหารร่วมกับพ่อแม่จะช่วยฝึกเรื่องการกินข้าวเองในอนาคต เพราะลูกจะคอยมอง และสังเกตมารยาทบนโต๊ะว่าเป็นอย่างไร ลูกจะนำมาเป็นแบบอย่างได้

3. ซ่อนผักใบเขียว
ถ้าเริ่มอาหารใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยกินมาก่อน เช่น ผักชนิดใหม่ ช่วงแรกอยากให้ใช้วิธีแทรกเข้าไปในอาหารที่ลูกคุ้นเคยก่อนสักระยะหนึ่ง เช่น หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือใส่สีถนอมอาหารที่ปลอดภัย เป็นต้น เมื่อลูกเกิดความเคยชินกับอาหารนั้น แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น

Idea ครั้งแรกที่ป้อน ถ้าลูกไม่กินเลย ถึงขั้นร้องงอแง อย่าท้อจนไม่ให้ลูกกินอีกเลย ให้ลองสัก 3-4 วัน แล้วลูกจะค่อยๆ เริ่มชิน จนในที่สุดเริ่มกินได้เอง เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็จะเป็นเด็กที่กินผักได้

4. ใส่ถ้วยน้องหมี
ภาชนะที่มีลวดลายการ์ตูนสวยๆ ที่เด็กๆ ชอบ หรือมีสันสดใส ก็ช่วยดึงดูดใจเรื่องการกินของลูกได้เยอะ และให้เขาได้เลือกภาชนะใส่อาหารเองว่าวันนี้จะใช้ถ้วยลายไหน คราวนี้ต้องรีบให้คุณแม่ป้อนข้าวให้แหงๆ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ภาชนะที่ใช้ควรทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน และไม่แตกง่ายด้วย

Idea ลองเปลี่ยนจากถ้วยชามพลาสติก มาเป็นถ้วยขนมปัง หรือฟักทอง มะเขือเทศดูบ้างที่เด็กๆ สามารถกินตัวภาชนะได้ด้วย ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจเรื่องการกินได้มากขึ้น

5. เล่นทายซิ
อะไรอยู่ในถ้วยจัดลักษณะอาหารเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น นำข้าวใส่รูปพิมพ์เป็นรูปหมี รูปดาว รูปหัวใจ และคุณแม่อาจจะเล่าเรื่องราวประกอบ ให้กินหู กินจมูก กินดาวเลย จะทำให้ลูกเกิดความสนใจ หรือจิ้มกินเองได้

Idea อาจทำเป็นอาหารที่สามารถหยิบกินเป็นชิ้นๆ หรือเป็นคำๆ ได้ โดยให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ ก็จะช่วยให้มื้อนั้นเป็นมื้อที่อร่อยของเจ้าตัวเล็กอีกหนึ่งมื้อเลย

6. ช่วยทำอาหาร อยากกินจัง
เด็กช่วงวัยขวบปีแรก ถึงแม้เขาจะยังหยิบจับอะไรได้ไม่มากนัก แต่การมีส่วนร่วมในการเข้าครัวมาดูมาฟังการทำอาหาร เวลาที่คุณแม่ทำอาหาร แล้วก็เล่าวิธีการทำให้ลูกฟังไปด้วย ลูกจะเกิดการเรียนรู้เรื่องของการกินได้ไม่ยากเลย

Idea สำหรับลูกน้อยที่เริ่มหยิบจับได้แล้ว ลองให้ช่วยทำอาหารง่ายๆ เช่น ทาแยมบนขนมปังหน้าตุ๊กตา โดยคุณแม่ช่วยจับมือทา แล้วลองให้เขาทำเอง เสร็จแล้วก็กินด้วยกัน

7. อย่าบังคับหนูกินนะ
สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม และมีพัฒนาการการกินที่ดีขึ้นจากช่วงแรกกิน 2-3 คำก็เป็น 5-6 คำ จนถึงครึ่งถ้วย อย่างนี้ต้องชื่นชมลูก สิ่งสำคัญถ้าลูกกินได้ไม่กี่คำแล้วไม่กินต่อ อย่าตำหนิ อย่าดุ หรือคะยั้นคะยอให้กินจนหมดถ้วย และไม่ควรบังคับลูก เพราะอาจกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย ส่งผลให้เป็นคนกินยากได้

Idea การบังคับเรื่องการกิน ลูกอาจจะเกิดความรู้สึกอยากเอาชนะ คราวหน้าเรื่องกินก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรเริ่มทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หรือสังเกตว่าพอหมดแค่นี้ แล้วลูกมีท่าทีอยากจะกินอีก ก็ค่อยเพิ่มปริมาณ

ในช่วงขวบปีแรก ถ้าลูกยังกินอาหารได้น้อย แต่ดูสดใสร่าเริง เล่นได้ตามปกติ มีพัฒนาการที่ดี อย่างนี้ไม่ขาดอาหารแน่นอน ไม่ต้องกังวลนะคะ หรือลองนำวิธีง่ายๆ เหล่านี้ไปเริ่มใช้ดู ก็จะช่วยให้เรื่องการกินของลูกง่ายมากขึ้นค่ะ

7 วิธีป้อนข้าวลูก


ขอบคุณ : Momypedia


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์