ริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง สาเหตุจากการมีภาวะหลอดเลือดดำที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองเป็นหัว ซึ่งเรียกว่า “หัวริดสีดวง” แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว โดยโรงพยาบาลธนบุรี ได้ให้ความรู้ไว้ดังนี้
สาเหตุหลักของโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระ ท้องผูก การนั่งนาน ๆ ภาวะตั้งครรภ์ หรืออาจส่งผลมาจากน้ำหนักตัวมาก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ไอเรื้อรัง ตับแข็ง ต่อมลูกหมากโตและผู้ที่มีเนื้องอกในช่องท้อง เป็นต้น
อาการของโรค เริ่มจาก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด คือ จะถ่ายอุจจาระออกมาก่อน จากนั้นจะมีเลือดสด ๆ ไม่มีมูกเลือดปน มีก้อนที่ยื่นออกมาจากทวารขณะที่เบ่งอุจจาระ คลำได้ก่อนที่บริเวณทวารหนัก เจ็บและคันบริเวณทวารหนัก
วิธีการรักษา ในปัจจุบันมีอยู่ 4 วิธี คือ รักษาโดยการให้ยาเหน็บที่ทวารหนัก เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและสร้างความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด อาจใช้ร่วมกับยาระบาย, ฉีดยาที่หัวริดสีดวงทวารเพื่อให้เกิดพังพืดรัดหัวริดสีดวงและฝ่อได้เอง มักใช้ในกรณีที่หัวริดสีดวงมีเลือดออกและหัวริดสีดวงที่ย้อยไม่มาก, ยิงยางรัดหัวริดสีดวง วิธีนี้จะทำให้ริดสีดวงฝ่อและหลุดออกไปเองประมาณ 7 วัน และวิธีสุดท้าย รักษาโดยการผ่าตัด มักใช้ในระยะที่ 3,4 และริดสีดวงที่มีการอักเสบ
อาการหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร อาจมีเลือดออกได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนถึงประมาณวันที่ 10 ของการผ่าตัดปกติจะมีเลือดออกไม่มากและจะหยุดเอง ถ้ามีเลือดออกมากให้รีบไปพบแพทย์ หรือมีน้ำเหลืองซึ่งที่ขอบทวาร 4-6 สัปดาห์ ในกรณีที่ไม่ได้เย็บปิดแผล และบริเวณปากทวารหนักอาจบวมเป็นติ่ง แนะนำให้นั่งแช่ก้นด้วยน้ำอุ่น อาจถ่ายอุจจาระไม่ออกในระยะแรก
มาถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร นั่นคือ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือ ยาเพิ่มกากใย ดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ฝึกขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอและขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน ส่วนผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำให้สังเกตว่าอาหารชนิดใดที่รับประทานแล้วช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ให้รับประทานอาหารชนิดนั้นเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมการขับถ่ายอุจจาระ นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ