สมาร์ทโฟน หายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สารพัดวิธีปกป้อง ข้อมูล



ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเปรียบได้กับอวัยวะอย่างหนึ่งบนร่างกายคนเรา จากรายงานประจำปีของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ระบุว่า ยอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีมากกว่า 6,800 ล้านราย จากจำนวนประชากรในโลกกว่า 7,100 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2557 อาจเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบ 7,000 ล้านเครื่อง

ในจำนวนโทรศัพท์มือถือทั้งหมดยังพบอีกว่า กว่า 30% หรือ 1,820 ล้านเครื่อง เป็นโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันด้วยการทำงานของสมาร์ทโฟนที่มากกว่าการพูดคุยโดยใช้เสียง (วอยซ์) แต่ทำได้สารพัด ตั้งแต่เช็กอีเมล์, ถ่ายรูป, ถ่ายวิดีโอ, แชต ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์นำทาง หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเป็นกระเป๋าสตางค์

"สมาร์ทโฟน" ปัจจุบันจึงเสมือนทุกสิ่งในชีวิตคนเรา หากสูญหายไปไม่เพียงแค่เกิดความเสียหายในแง่ทรัพย์สิน ด้วยว่ามีราคาแพงกว่าโทรศัพท์ปกติ แต่ยังหมายความถึงการข้อมูลสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในชีวิตหายไปด้วย

"Symantac" บริษัทด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ได้วิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ "สมาร์ทโฟน" หาย พบว่า

กว่า 96% ของสมาร์ทโฟนที่หายไป จะมีผู้เก็บได้และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ภายในเครื่อง 6 จาก 10 คน จะพยายามเข้าถึงข้อมูล Social Network และ E-mail ของเจ้าของเครื่อง นั่นหมายความว่า อาจเกิดอันตรายตามมาอีกไม่น้อย โดยเฉพาะการโดนสวมรอยและการล้วงความลับ ขณะที่ 8 คนจาก 10 คนของผู้ที่พบสมาร์ทโฟนจะพยายามเข้าถึงข้อมูลธนาคารของเจ้าของเครื่อง ดังนั้นก่อนที่สมาร์ทโฟนจะหาย จึงควรมีการป้องกันไว้ก่อน เริ่มจากการจดหมายเลขอีมี่ (IMEI) หรือรหัสประจำเครื่อง ซึ่งแต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกัน วิธีดูอีมี่ทำได้โดยกด *#06#

นอกจากนี้ ควรมีการป้องกันที่ตัวเครื่อง โดยตั้งรหัสผ่านในส่วนของหน้าจอก่อนเข้าสู่เมนูหลัก และแอปพลิเคชั่นหรือข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผย โดยควรมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นป้องกันความปลอดภัยในส่วนนี้ด้วยปัจจุบันมีการคิดค้นแอปพลิเคชั่นสำหรับตามหาสมาร์ทโฟนที่หายไปออกมามากมาย เช่น ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ "นอร์ตัน โมบาย ซีเคียวริตี้" คิดมีค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 290 บาท ส่วนในระบบ IOS ของไอโฟน ก็มีโปรแกรม Find my iPhone เช่นกันกับวินโดว์โฟนที่มี Find my Phone และแบล็คเบอร์รี่ ที่มี Blackberry Protect ฝั่งผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือก็มีแอปพลิเคชั่น
ดังกล่าวออกมาด้วย เช่น โซนี่ กับ My Xperia หรือบริการตามหาโทรศัพท์ให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแท็บเลตตระกูล Xperia หรือยี่ห้อ Oppo มี Near Me Find Phone และซัมซุง มี SamsungDive ตามหาโทรศัพท์มือถือ ตระกูลกาแล็คซี่ทั้งหลาย

การทำงานของแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ทำหน้าที่คล้ายกัน คือ สามารถระบุตำแหน่งสมาร์ทโฟนที่หายไป และส่งเสียงเตือนกรณีอยู่ในระยะใกล้ และสั่งล็อกหน้าจอ ถ่ายภาพคนร้าย รวมทั้งลบข้อมูลทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นในเครื่องหรือในซิมการ์ด รวมถึงสามารถสั่งให้โทรศัพท์มือถือเหล่านี้คืนการตั้งค่าจากโรงงานในกรณีที่ไม่สามารถตามหามือถือคืนได้ด้วย ทำให้เครื่องนั้น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้

"คงศักดิ์ ก่อตระกูล" ผู้จัดการอาวุโสด้านเทคนิค บริษัท เทรนด์ไมโคร พูดถึงแอปพลิเคชั่นด้านการป้องกันว่า แบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า "โมบายดีไวซ์แมเนจเมนต์" ลักษณะเป็นการสั่งการให้โทรศัพท์มือถือส่งเสียงร้อง หรือการเปิดปิดบลูทูท, สั่งถ่ายภาพ อีกกลุ่มพัฒนาโดยผู้ผลิต "โมบายซีเคียวริตี้" ซึ่งจะเน้นความปลอดภัยที่เครื่องเป็นหลัก เช่น เมื่อโทรศัพท์มือถือหาย ทำอย่างไรไม่ให้ข้อมูลในเครื่องโดนเปิดอ่าน

ดังนั้นอันดับแรกจึงจะสั่งล็อกเครื่องก่อน ถัดมาจึงตรวจดูว่า โทรศัพท์มือถืออยู่ในพื้นที่ไหน ตามด้วยการลบดาต้าทิ้ง เมื่อไม่สามารถสั่งการอย่างอื่นได้แล้ว

"ความนิยมเรื่องการนำอุปกรณ์ส่วนตัว เช่น มือถือเข้ามาใช้ที่ทำงาน บางครั้งมีการใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลของบริษัททำให้เกิดความเสี่ยงกับองค์กรเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมือถือหาย หมายถึงข้อมูลของบริษัทอาจรั่วไหลไปด้วย หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้อาจมีไวรัสดึงข้อมูลของบริษัทออกไปก็เป็นไปได้ ดังนั้นการป้องกันของแต่ละบริษัทจึงสำคัญมาก"

ไม่เฉพาะแต่บริษัทซอฟต์แวร์หรือผู้ผลิตเครื่อง บรรดาโอเปอเรเตอร์ก็มีบริการเช่นกัน เช่น บริการ Smart Secure ของ "เอไอเอส" เป็นบริการปกป้องดูแลข้อมูลต่าง ๆ โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ ข้อความ SMS รูปภาพ คลิปวิดีโอ ปฏิทิน หรือไฟล์ Audio เพื่อสำรองข้อมูลไปยังเครื่องใหม่หากเกิดการสูญหาย ทั้งยังสั่งล็อกโทรศัพท์มือถือจากเครื่องอื่นด้วยรหัสส่วนตัว (PIN) และลบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ และเมโมรี่การ์ดได้ด้วย แต่บริการนี้คิดค่าบริการ 20 บาท/เดือน

ถ้าโทรศัพท์มือถือหายก็เข้าไปเช็กเลข IMEI หรือ Serial Number ได้ที่ http://www.centerthailand.com/ เว็บไซต์ข้อมูลกลางร้านจำนำทั่วไทย กรณีมีการนำสินค้าไปจำนำ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าหายขึ้นมาจริง ๆ อย่างแรกที่ควรทำคือ ติดต่อไปยังผู้ให้บริการ พร้อมกับแจ้งความ โดยบอกเลข "อีมี่" ของเครื่องกับตำรวจ หากใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ข้างต้นไปแล้วยังไม่สามารถตามคืนได้ก็ควรโทร.ไประงับสัญญาณในการให้บริการ เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจตามมา แต่ถ้าทำทุกขั้นตอนเรียบร้อยอยากได้เครื่องใหม่ แนะนำให้ลองถามค่ายมือถือที่ใช้บริการอยู่ เพราะบางบริษัทมีแคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้าเดิม เช่น เอไอเอสเซเรเนด เป็นต้น


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


สมาร์ทโฟน หายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สารพัดวิธีปกป้อง ข้อมูล

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์