รำลึก′สมเด็จเกี่ยว′ จาก7วันสู่70กว่าปี


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก

เมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์หรือสมเด็จเกี่ยว ตั้งใจที่จะบวชเป็นสามเณรเพียง 7 วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณะเพศตราบจนเข้าสู่วัยชรา ได้สร้างคุณูปการให้แก่พระพุทธศาสนามหาศาล เหมือนมีชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนา จริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าอ่อนโยน บ่งบอกถึงพลังแห่งเมตตาธรรม โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เป็นพระอาจารย์


จากวันที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค เพราะความรักที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น เมื่อก้าวขึ้นสู่การบริหารคณะสงฆ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง แม้พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ต้องการให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง แต่สมเด็จเกี่ยวกลับเลือกที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดารและเดินทางไปยากที่สุดคือ ภาคอีสาน เนื่องจากสมเด็จเกี่ยวได้เล็งเห็นว่า หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่ให้การศึกษา

นับแต่วันนั้น สมเด็จเกี่ยวก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการพบปะผู้คน ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่องานพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง ออกไปเยี่ยมพระสงฆ์ในทุกวัดที่อยู่ในการปกครอง ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ และสภาพการเป็นอยู่เพื่อแนะนำการจัดระบบการศึกษา

ภายหลังเมื่อลูกศิษย์รูปหนึ่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดที่ห่างไกล เกิดอาพาธไม่มีโรงพยาบาลรักษาจนถึงแก่มรณภาพ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างตึกสงฆ์อาพาธในจังหวัดชายแดนตามมาอย่างเงียบๆ ภายใต้ชื่อ "ตึกผู้มีพระคุณ" โดยไม่มีการเรี่ยไร ไม่มีการบอกบุญ และไม่ได้ประกาศให้ใครรับรู้ ทุนในการสร้างทั้งหมดได้มาจากการรวบรวมปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่ทำบุญในโอกาสต่างๆ เมื่อครบจำนวน ก็ลงมือสร้างตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จากวันนั้นเป็นต้นมา ตึกสงฆ์อาพาธภายใต้ชื่อ "ตึกผู้มีพระคุณ" จึงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนตึกแล้วตึกเล่าตราบจนปัจจุบัน

ในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ สมเด็จเกี่ยวเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อาทิ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของสมเด็จเกี่ยว ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาล เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

สำหรับประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อยังเยาว์ได้ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบ ป.4 และเมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ 7 วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้สมเด็จเกี่ยวยังคงมั่นในสมณเพศต่อมาโดยไม่คิดลาสิกขา โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่าน พระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย

สมเด็จเกี่ยวเป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัย ได้นำไปฝากไว้กับ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) โดยอยู่ในการปกครองของพระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ต่อมาปี พ.ศ.2492 เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย ได้แก่ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมและศีลธรรม, เป็นกรรมการตรวจสำนวนแปลพระวินัยปิฎก ฉบับปี พ.ศ.2500 ของคณะสงฆ์ไทย, เป็นอาจารย์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เป็นเจ้าคณะภาค 9 ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร จำนวน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์, เป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชญาโณทยมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดสระเกศ, เป็นเจ้าคณะภาค 10 ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร จำนวน 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ นครพนม มุกดาหาร และอำนาจเจริญ และเป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น เจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, เป็นประธานคณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.), เป็นประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ พิจารณาส่งพระภิกษุไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ, เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรใน 23 จังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และภาคตะวันออกอีก 4 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547

ด้านการเผยแผ่ สมเด็จเกี่ยวแสดงพระธรรมเทศนาในโอกาสต่างๆ แสดงธรรมทางสถานีวิทยุในรายการ "ของดีจากใบลาน" เป็นองค์อุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เป็นต้น และมีหนังสือธรรมะเผยแผ่ อาทิ ดีเพราะมีดี, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ เป็นต้น

ส่วนด้านสาธารณูปการ สมเด็จเกี่ยวเป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ 25 ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่นๆ ในราคาที่ถูก และบริจาคเงินสร้างตึกสงฆ์อาพาธในท้องถิ่นชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญหลายแห่งในนาม "อาคารผู้มีพระคุณ" เพื่อพยาบาลพระภิกษุ สามเณร ผู้อาพาธ และสาธุชนทั่วไป

วันนี้สมเด็จเกี่ยวได้มรณภาพลงแล้วด้วยสิริอายุ 85 ปี นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทยและวงการศาสนา



ที่มานสพ.มติชน


รำลึก′สมเด็จเกี่ยว′ จาก7วันสู่70กว่าปี


รำลึก′สมเด็จเกี่ยว′ จาก7วันสู่70กว่าปี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์