แผลเป็น... ใครว่าเรื่องเล็ก


ในยุคสมัยที่ความสวยความงามกำลังครองโลก ทำให้เหล่าบรรดาสารพัดครีม ยากิน ยาบำรุงต่างๆ พากันขายดิบขายดี ทั้งหมดเพียงเพื่อความหล่อเหลา สวยงามทั้งสิ้น และหากวันหนึ่งวันใดแผลเกิดอุบัติขึ้นและกลายเป็นแผลเป็น นูนแดงขึ้นมา และเจ้าจุดนั้นจะกลายเป็นจุดบอดของร่างกายที่ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญใจ เพราะอาจกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนที่จะดูแลให้ถูกวิธี ต้องรู้จักให้ถ่องแท้เสียก่อน

จากงานเสวนาเรื่อง "รู้จริงเรื่อง...แผลเป็น" น.พ.ธรรมนูญ พนมธรรม ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลราชวิถี ใหัความรู้เกี่ยวกับแผลเป็นไว้ว่า

แผลเป็น หรือ แผลนูนที่เป็นปัญหาและควรจะให้ความใส่ใจดูแล อย่างใกล้ชิดนั้นมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นเนื้อเยื่อนูนหนา สีแดงคล้ำ และมีขนาดแผลเป็นคงที่ ไม่ขยับขยายเติบโตขึ้น เรียกว่า "ไฮเปอร์โทรฟิก-สการ์" แต่ถ้าแผลนั้นไม่อยู่นิ่ง มีการเติบโตขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า "คีลอยด์" แผลประเภทนี้ต้องดูแลเป็นอย่างดีเพราะมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ส่วนตำแหน่งหรือโซนอันตรายที่จะทำให้เกิดแผลนูนแดงได้นั้น ถูกระบุไว้ว่ามีที่หัวไหล่ หู หน้าอก และหลัง และยิ่งถ้าเกิดแผลในตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวได้บ่อยๆ ก็มีโอกาสสูงที่แผลจะไม่สวย และอาจเกิดเป็นแผลนูนได้

"
กรณีที่พบมาก เป็นแผลนูนจากการเจาะหู ที่แรกๆ ก็ดูสวยดี แต่หลังจากนั้นมี น้ำเหลืองซึมออกมา เกิดอาการเจ็บบวม ใส่ตุ้มหูไม่ได้
แต่เมื่อรักษาจนหายแล้ว รูที่เจาะไว้กลับตัน แถมยังมีตุ่มนูนขึ้นมาอีก หรือคนที่ผ่าตัดหน้าอก ตอนแรก แผลจะเป็นเพียงเส้นตรงยาวๆ เหมือนหนอนแล้ว แต่ผ่านมากลายเป็นปลิงตัวใหญ่ๆ ไปแทน"

วิธีการแก้ไขนั้น
ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้นวดเมี่อมีพบว่าแผลแข็งและเจ็บ การนวดจะช่วยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงที่แผลมากขึ้นทำให้มีการสลายคอลลาเจนที่หนาตัว ให้บางลง การใช้ยา ครีมและมอยส์เจอไรเซอร์และใช้การนวดแผลเป็นร่วมด้วยก็อาจช่วยได้กับบางแผล

"การใช้ครีมสกัดจากหัวหอม ใช้วิตามินอี หรือ เอ เจลทั้งหลาย หรือกินยารักษาโรคเกาต์ ที่มีคนคิดและกำลังทำกันอยู่นั้น ต้องบอกว่า ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์สนับสนุนว่าได้ผลจริง เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาดูให้ดี"

แต่กระนั้นเลย ก็ต้องระวัง เพราะถ้านวดแผลที่ยังไม่หายสนิทแผลก็อาจปริ บวมขึ้นมา หรือผู้ที่มีโอกาสเป็นแผลนูน หรือนวดในบางตำแหน่ง เช่นหน้าอก หู หัวไหล่ อาจกลายเป็นการกระตุ้นแทนที่แผลจะยุบกลับนูนขึ้นมาแทน

อีกวิธีการแก้ไขคือ การฉีดสเตอรอยด์เข้าไปในแผล ผลที่ได้แผลยุบจริง แต่จะหายไปชั่วระยะหนึ่งราว 1 ปี หรืออาจทำให้แผลนูนกลายเป็นรอยบุ๋มแทน ซึ่งจะรักษายากมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทปปิดแผล การป้องกันแสงแดด การใช้ซิลิโคนเจลชีทปิดแผล รวมไปถึงการใช้เลเซอร์ทำการผ่าตัด ก็ล้วนแต่เป็นกรรมวิธีการรักษาทั้งสิ้น

ทางที่ดี เมื่อเกิดแผลพยายามป้องกันอย่าให้เกิดการติดเชื้อ แต่ทางที่ดี ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลขึ้นมาเลยจะดีกว่า

แผลเป็น... ใครว่าเรื่องเล็ก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์