เกิดกับตาย ทำใจได้สบายทุกอย่าง


คนเรานี้เมื่อยังเป็นอยู่ก็เรียกว่ามีชีวิต เมื่อชีวิตนั้นสิ้นไปก็เรียกว่าตาย ชีวิตจึงคู่กันกับความตาย เรียกง่ายๆ ว่า “เป็น” กับ “ตาย”

แต่มองอีกแง่หนึ่ง ความตายที่เป็นความสิ้นสุดของชีวิตนั้น เป็นเพียงปลายด้านหนึ่ง ชีวิตก่อนจะมาถึงจุดจบสิ้นคือความตายนั้น ได้ดำเนินต่อเนื่องมาโดยเริ่มแต่จุดตั้งต้น จุดที่ชีวิตเริ่มต้นนั้นเรียกว่า “เกิด” การเริ่มต้นเป็นคู่กันกับการสิ้นสุด เมื่อมองในแง่นี้ ความตายหาใช่เป็นคู่กับชีวิตไม่ แต่เป็นเพียงการสิ้นสุดที่เป็นคู่กันกับการเริ่มต้นของชีวิตเท่านั้น ดังนั้น ความตายจึงต้องคู่กับความเกิด เรียกง่ายๆ ว่า “เกิดกับตาย”

คนทั่วไป มักตกอยู่ในแง่มองแบบที่หนึ่ง กล่าวคือ มองเห็นความตายคู่กับชีวิต เมื่อนึกถึงความตาย ก็โยงเข้ามาหาชีวิต แล้วติดอยู่แค่นั้น คือนึกแค่เป็น กับตาย เมื่อความคิดมาหยุดอยู่ที่ชีวิต นึกถึงชีวิตกับความตาย หรือเป็นกับตาย โดยยึดมั่นว่าตายตรงข้ามกับเป็น ความคิดนั้นก็จะหน่วงเหนี่ยวพัวพันและ วนเวียนอยู่กับความรู้สึกในความเป็นตัวตน และนึก ถึงความตายโดยสัมพันธ์กับตัวตน ด้วยอาการที่ให้เกิดความรู้สึกเป็นเรื่องกระทบตัวตน หรือจะสูญเสียตัวตนนั้นไป คือสั่นสะท้านเสียวใจว่า เราจะตาย เราจะไม่มีชีวิต จะไม่เป็นอยู่ต่อไป

เพราะเหตุนี้ คนทั่วไปเหล่านั้นเมื่อนึกถึงความตาย เห็นคนตาย หรือเผชิญกับความตาย จึงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวประหวั่นพรั่นพรึง หรือไม่ก็รู้สึกสลดหดหู่ ตลอดจน เศร้าโศกแห้งเหี่ยวหัวใจ ถ้านึกถึงความตายของคนที่ตนเกลียดชังหรือเป็นศัตรู ก็รู้สึกว่าตัวตนนั้นได้สิ่งที่ต้องการ แล้วกลายเป็นเกิดความยินดีลิงโลดใจ

คนทั่วไปคุ้น ชิน และตกร่องอยู่กับความรู้สึกนึกคิด อย่างนี้ จนกระทั่งในวัฒนธรรมบางสาย ภาษาที่ใช้จะเอ่ยอ้างแต่คำว่า ชีวิตกับความตาย โดยไม่รู้ตระหนักเลยถึงคู่ที่แท้ของมัน คือ เกิดกับตาย เกิดกับตายนั้นถูกกล่าวถึงอย่างแยกต่างหากกัน เป็นคนละเรื่อง ไม่ต่อเนื่องโยงถึงกัน เหมือนดังว่าไม่สัมพันธ์กัน การมองแบบนี้เปิดช่องให้แก่การดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดได้มาก ดังจะเห็นว่า เมื่อมีการเกิด ก็สนุกสนานบันเทิง เฉลิมฉลองกันเต็มที่ เมื่อมีการตาย ก็โศกเศร้าพิไรรำพันปานว่าจะตายตามไป ในท่ามกลางระหว่างนั้น ก็ดำเนินชีวิตอย่างลืมตัวมัวเมา หรือได้แต่โลดแล่นลุ่มหลงไป แก่งแย่งเบียดเบียนกัน ไม่มีสติกำกับ ไม่ใช้ปัญญานำทางให้พอดีต่อการที่จะเกิดประโยชน์สุขที่แท้แก่ชีวิตและสังคม

ในทางตรงข้าม ถ้ามองความตายคู่กับการเกิด ความคิดจะไม่มาติดตันอยู่ที่ตัวตน เพราะมองจากปลายหรือสุดทางด้านหนึ่งของชีวิต ข้ามเลยไปถึงปลายหรือสุดทางอีกด้านหนึ่ง ชีวิตจะกลายเป็นสภาวะธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ถูกเรามองดูเหมือนเป็นของนอกตัวทั่วไป แลเห็นเป็นกระบวนการที่คืบเคลื่อน ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของมัน จากจุดเริ่มต้นคือเกิด ไปสู่จุดอวสานคือตาย ไม่ติดพันผูกยึดอยู่กับความรู้สึกในตัวตน การมองอย่างนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตนั้นเอง เปิดโอกาสแก่สติปัญญาได้มากกว่า จึงนำไปสู่ความเข้าใจรู้เท่าทัน มองเห็นชีวิตตามที่มันเป็นของมัน อาจทำให้ลดละ ตลอดจนลอยพ้นทั้งความหวาดกลัว และความหดหู่โศกเศร้า ในคราวที่นึกถึง พบเห็น หรือแม้เผชิญหน้ากับความตาย

ความตายเป็นความจริงอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญ เมื่อจะต้องเผชิญอยู่แล้วก็ควรรู้จักปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง ให้เกิดผลดีมากที่สุด และเกิดโทษน้อยที่สุด ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้รู้จักระลึกถึงความตาย ดังปรากฏว่า หลักธรรมที่มากับเรื่องนี้ มีทั้งคำสอนสำหรับผู้มองแบบหนึ่ง ซึ่งเห็นความตายมาตันอยู่แค่ชีวิตของตน โดยสอนให้เบนจากความรู้สึกหดหู่และหวาดกลัวที่เป็นโทษ ไปสู่ความรู้สึกที่ดีงามเป็นประโยชน์ และ มีทั้งคำสอนที่ชักนำไปสู่การมองแบบที่สอง ที่จะให้เกิดปัญญา ซึ่งทำจิตใจให้เป็นอิสระบรรลุสันติสุขได้โดยสมบูรณ์

ในระดับที่เน้นการมองแบบที่หนึ่ง

๑. ให้เห็นความจริง ว่า ชีวิตของมนุษย์นั้น นอก จากจะสั้น ไม่ยืนยาวแล้ว ยังไม่มีกำหนดแน่นอนอีกด้วย อย่างที่ว่า จะตายวันตายพรุ่งไม่รู้ที่ ทำให้เห็นคุณค่าของเวลาแล้วเกิดความไม่ประมาท กระตือรือร้นเร่งทำกิจหน้าที่ บำเพ็ญคุณความดี และฝึกฝนพัฒนาตนในทุกทาง ให้ชีวิตเป็นอยู่อย่างมีค่า และเข้าถึงจุดหมายที่ประเสริฐ

๒. ให้รู้เท่าทันความจริง ว่า ทรัพย์สินเงินทองโภคสมบัติ ตลอดจนบุคคลที่รักใคร่ยึดถือครอบครองอยู่นั้น หาใช่เป็นของตนแท้จริงไม่ ไม่สามารถป้องกันความตายได้ และตายแล้วก็ตามไปไม่ได้ มีไว้สำหรับใช้บริโภคหรือสัมพันธ์กันในโลกนี้เท่านั้น

ก. ในด้านทรัพย์สินเงินทอง สมบัติพัสถาน จะได้ไม่โลภและสั่งสมจนเกินเหตุ หรือหวงแหนตระหนี่ไว้ให้เป็นเสมือนของสูญเปล่า แต่จะรู้จักจัดสรรใช้สอย ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตของตน แก่ญาติมิตรและเพื่อนมนุษย์ สมคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของมัน

ข. ในด้านบุคคลผู้เป็นที่รัก และคนในความดูแลรับผิดชอบ จะได้ไม่ยึดติดถือมั่นและห่วงหวงเกินไป จนทำให้เกิดทุกข์เกินเหตุ และทำให้จิตใจไม่สงบ กระสับกระส่าย ทุรนทุราย หลงฟั่นเฟือนในยามพลัดพราก นอกจากนั้นยังรู้ตระหนักว่าตนจะไม่อยู่กับเขาตลอดไป ทำให้เอาใจใส่ให้การศึกษาอบรมตระเตรียมคนเหล่านั้นให้รู้จักพึ่งตนเองได้

ค. ในด้านเพื่อนบ้านและคนอื่นทั่วไป จะได้เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือสงเคราะห์กัน ถึงแม้มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน หรือโกรธแค้นเคืองขุ่น ก็อาจระงับดับได้ เพราะมาได้คิดว่าจะโกรธเคืองกันไปทำไม อีกไม่นานก็จะต้องตายจากกันไป รักกันและทำดีต่อกันไว้ดีกว่า

๓. ให้รู้ตระหนักในหลักความจริง ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน มีแต่กรรมเท่านั้นที่เป็นของของตน เป็นสมบัติติดตัวที่แท้จริง ซึ่งจะตามตนไป และตนก็จะต้องไปตามกรรม เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็จะได้เลิกละ และหลีกเว้นกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดี ทำการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

การทำใจตระหนักในหลักกรรมนี้ เมื่อถึงคราวพบเห็นหรือเผชิญกับความตายเข้าจริงๆ ก็จะอำนวยผลดีพิเศษให้อีก ดังนี้

ก. เมื่อเผชิญหน้ากับความตายของตนเอง ระลึกถึงกรรมดีที่ได้ทำไว้ และไม่เห็นกรรมชั่วในตัวเอง ก็จะเกิดปีติโสมนัส เผชิญความตายด้วยความสุขสงบ และความมีสติ แม้เมื่อยังไม่ถึงเวลาตาย ก็ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวาดหวั่นกลัวภัย และไม่กลัวต่อความตาย

ข. เมื่อเกิดเหตุพลัดพราก มีผู้ตายจากไป ก็จะทำใจได้ทันเวลาหรือเร็วไวกว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เขาไปแล้วตามทางของเขา ตามที่กรรมจะนำพาไป การร้องไห้เศร้าโศกเสียใจของเรา ช่วยอะไรเขาไม่ได้ แต่นั้นก็จะไม่เกิดความโศกเศร้า หรือแม้เกิดก็ระงับดับได้ ทำให้จางคลายหายไปโดยไว พร้อมกันนั้น เมื่อตัดใจจากความอาลัยในผู้ตายแล้ว ก็จะได้หันเหความสนใจกลับมาเอาใจใส่ผู้ที่ยังอยู่ ซึ่งถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง ว่า คนเหล่านี้ที่เราช่วยเหลือได้ มีทุกข์โศกอันใดที่ควรจะไปช่วยขจัดปัดเป่า แล้วหันไปช่วยเหลือ อย่างน้อยก็มองกันด้วยสายตาและน้ำใจแห่งความมีเมตตาปรานี เห็นซึ้งว่าคนที่ตายแล้ว ก็จากไปตามทางของเขา เราช่วยอะไรไม่ได้แล้ว แต่คนที่ยังเหลืออยู่นี้ อีกไม่ช้าก็จะต้องจากกันไปอีก ในเวลาที่เหลืออยู่นี้ควรมาเมตตาอารีช่วยเหลือกัน อย่าให้ต้องเสียใจภายหลังอีกว่า โถ เราตั้งใจไว้ แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรให้ เขาก็จากไปเสียอีกแล้ว

๔. ให้ระลึกถึงหลักแห่งธรรมดา ที่ว่า ทุกคนหวาดหวั่นต่อการทำร้าย ทุกคนกลัวต่อความตาย ชีวิตเป็นที่รักของทุกคน เราฉันใด เขาก็ฉันนั้น นึกถึงอกเขาอกเราแล้ว ไม่ควรฆ่าฟันบั่นทอนกัน การระลึกได้อย่างนี้ จะทำให้เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เบียดเบียนกัน หันมาช่วยเหลือสงเคราะห์กัน อยู่ร่วมกันและปฏิบัติต่อกันด้วยดี ถึงขั้นที่ว่า ทำกับเขาเหมือนที่คิดจะทำให้แก่ตัวเราเอง หรือทำต่อคนอื่นเหมือนที่อยากให้เขาทำต่อเรา ซึ่งจะเป็นการช่วยกันสร้างสรรค์โลกหรือสังคมนี้ ให้เป็นโลกหรือสังคมแห่งสันติสุข

ในระดับของการมองแบบที่สอง

๕. ให้รู้เท่าทันตามคติแห่งธรรมดา ว่า ชีวิตนี้ตกอยู่ในอำนาจของกฎธรรมชาติ มีความเป็นไปตามธรรมดา ว่าได้เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยการเกิด เมื่อมีการเริ่มต้นแล้วก็จะต้องมีการสิ้นสุด การตายคือการสิ้นสุดของชีวิตที่เกิดแล้วนั้น ดังนั้น เมื่อเกิดแล้วก็จะต้องตาย หรือมีเกิดก็ต้องมีตาย ชีวิตมีเกิด (แก่ เจ็บ) ตาย เป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดาของชีวิตนั้น นี้คือลักษณะแห่งความเป็นอนิจจัง เขาไปแล้วตามคติแห่งธรรมดานี้ ทุกคนจะต้องเป็นอย่างนี้ ตัวเราเองก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องของอนิจจัง อนิจจังทำหน้าที่ของมันแล้ว จึงไม่สมควรและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจ คิดได้อย่างนี้แล้ว ก็จะไม่กลัว และไม่เกิดความทุกข์ หรือถ้าทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ก็จะบรรเทาหรือขจัดปัดเป่าไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว

๖. ให้หยั่งรู้สภาวะของสังขาร (ก้าวต่อเลยมรณสติไปสู่วิปัสสนา) รู้เท่าทันความจริงทะลุตลอดไปว่า ชีวิตนี้เป็นสังขาร อาศัยองค์ประกอบทั้งหลายมาประชุมกันขึ้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่ง เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเกิดและการตายเป็นธรรมดาของชีวิตนั้น ไม่ใช่แต่ชีวิตที่มองเห็นเป็นตัวเป็นตนเท่านั้น แม้แต่องค์ประกอบต่างๆ ทุกส่วนของชีวิต และสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมดาแห่งความไม่เที่ยงนี้ ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วก็ดับสลาย จะปรากฏรูปลักษณ์อย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความอยากความยึดของผู้ใด ใครต้องการจะทำอะไรให้เป็นอย่างไร ก็ต้องทำที่เหตุปัจจัย

เมื่อรู้เข้าใจเท่าทันความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็จะหลุดลอยพ้นออกมาจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตใจจะเป็นอิสระ ปลอดโปร่งโล่งเบา ผ่องใสสว่างด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยปัญญา และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา เป็นสุขเบิกบานใจได้ทุกเวลา อยู่พ้นเหนือความทุกข์ บรรลุอิสรภาพและสันติสุขที่แท้จริง ผู้ที่สำเร็จผลของการมองชีวิตแบบที่หนึ่ง จะมีท่าทีต่อความตาย ตามแนวแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

“ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วที่ทำไว้ ณ ที่ไหนๆ เลย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นกลัวความตายที่จะมาถึง”
(ขุ.ชา.๒๘/๑๐๐๐/๓๕๐)

“ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก”
(สํ.ส.๑๕/๒๐๘/๕๙)

ส่วนท่านที่ประจักษ์แจ้งสมบูรณ์ในการมองชีวิตตามแบบที่สอง จะมีท่าทีต่อชีวิตและความตาย ตามนัยแห่งธรรมภาษิตที่ว่า

“จะมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าสร้อย ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็หาเศร้าโศกไม่”
(ขุ.อุ.๒๕/๑๐๘/๑๔๒)

“ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้อย่างมีสัมปชัญญะ มีสติมั่น; ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เรารอท่าเวลา เหมือนคนรับจ้างทำงานเสร็จแล้ว รอรับค่าจ้าง”
(ขุ.เถร.๒๖/๓๙๖/๔๐๓)


คัดลอกมาจาก : หนังสือ “รักษาใจยามป่วยไข้” 

เกิดกับตาย ทำใจได้สบายทุกอย่าง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์