ท่องไปในกาลเวลา กับ


 

"ไทม์ แมชีน" ที่เรารู้จักมักคุ้นกัน มีอยู่ในการ์ตูนอย่าง โดราเอมอน หรือในนวนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์แนวไซไฟ ในความเป็นจริงแม้แต่ใน ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของนักฟิสิกส์เลื่องชื่ออย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ยังพูดถึงการเดินทางข้ามกาลเวลาเอาไว้ เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเฉยๆ เท่านั้น

นักฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีที่ครอบคลุมถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในจักรวาลทฤษฎีนี้ เข้าใจกันดีว่า อย่างน้อยที่สุด การเดินทางข้ามเวลาไป "ข้างหน้า" ก็มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี

จริงๆ แล้ว ในเวลานี้ นักฟิสิกส์ก็ประสบความสำเร็จในการส่งอนุภาคขนาดเล็กมาก ที่เรียกว่า "มิวออน" (อนุภาคแบบเดียวกับอิเล็กตรอน) ข้ามเวลาไปข้างหน้าได้ด้วยการบิดเบือนสภาวะแรงโน้มถ่วงที่อยู่โดยรอบตัวอนุภาค




แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการส่งมนุษย์ หรืออากาศยาน หรืออวกาศยานข้ามกาลเวลาไปสู่ที่หมายในอีก 100 ปีข้างหน้า จะมีความเป็นไปได้ในเร็วๆ นี้ เพียงแค่ในทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติจริงยังต้องมีหลายอย่างต้องทำ ต้องศึกษาวิจัยและคิดค้นกันอีกมาก

ที่เป็นปัญหามากกว่า และเป็นที่ถกเถียงกันมากแม้แต่ในหมู่นักฟิสิกส์ด้วยกันเองก็คือ การเดินทาง "ย้อนเวลา" กลับไปในอดีต

นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ ถือว่าการเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีต "ทำไม่ได้" แต่นักฟิสิกส์อีกบางคนกลับมั่นใจว่า "ทำได้"

เอริค ดับเบิลยู. เดวิส
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากสถาบันนานาชาติ เอิร์ธเทค ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพิ่งนำเสนอแนวความคิดเรื่องการเดินทางข้ามและย้อนกาลเวลาเอาไว้ในวารสาร สถาบันอเมริกันเพื่อแอสโตรนอติคส์และแอโรนอติคส์ ฉบับประจำเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บอกเอาไว้ว่า องค์ความรู้ทางฟิสิกส์ที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ มีมากเพียงพอต่อการหาทาง "ท่องไปในกาลเวลา" ได้แล้ว

เขาบอกว่าทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็น "ไทม์ แมชีน" ของมนุษย์ คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า "รูหนอน" หรือ "เวิร์มโฮล" ซึ่งไอน์สไตน์ "ทำนาย" เอาไว้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปนั่นเอง

หลักการทำงานของการใช้ "รูหนอน" ท่องกาลเวลาของเดวิส ก็เป็นหลักการเดียวกันกับที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่เชื่อว่า "วาร์ฟไดรฟ์" หรือการเดินทางของยานอวกาศด้วยความเร็วเหนือ "แสง" เป็นไปได้นั่นเอง

นั่นคือ ถ้าเราสมมุติ เวลา ณ ปัจจุบันเป็น จุด ก. แล้วต้องการเดินทางไปยังจุด ข. ที่อยู่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าให้เร็วที่สุด เร็วกว่าแสงเดินทางระหว่างจุดทั้งสองให้ได้ ก็ต้องใช้ "ทางที่ลัด" ที่สุด ระหว่างจุดสองจุดดังกล่าว

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ลองสมมุติให้จุดทั้งสองอยู่บนปลายสองข้างของแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งวางอยู่ในแนวระนาบระยะห่างระหว่างจุดทั้ง2 เป็นตัวแทนของ "เวลา" หรือ "กาล" ในการเดินทาง ส่วนแผ่นกระดาษทำหน้าที่เป็น "ช่องว่าง" หรือ "สเปซ"ระหว่างจุดทั้งสอง

ทีนี้ถ้าหากเรางอกระดาษให้ปลายสุดทั้งสองข้างย่นเข้าหากัน ระยะห่างระหว่างจุด ก. กับจุด ข. บนแผ่นกระดาษจะถูกหดแคบเข้าหากัน ในขณะที่สเปซ หรือช่องว่างยังคงเท่าเดิม เพียงแค่ถูกโค้งงอไปเท่านั้น

ต่อไป ถ้าหากเราสามารถเจาะ "ช่อง" หรือ "รู" ให้อะไรลอดไปมาระหว่างจุด ก. กับจุด ข. ได้ แล้วส่งสิ่งของผ่านรูดังกล่าว ของสิ่งนั้นก็จะเดินทางไปและกลับในกาลเวลาได้ เร็วกว่าการเดินทางไปตามสเปซ หรือช่องว่างปกติ ซึ่งกินเวลาตามปกติ

นั่นคือการ "ข้าม" กาลเวลา หรือ "ย้อน" กาลเวลา โดยอาศัยรูที่ว่า ซึ่งเรียกกันว่า "รูหนอน" นั่นเอง ที่สำคัญก็คือ การเดินทางนี้ไม่ได้ทำลายกฎทางฟิสิกส์ที่ว่า วัตถุไม่สามารถเดินทางเร็วกว่าแสงได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้เดินทางเร็วกว่าแสง แต่อาศัย "ทางลัด" ที่ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดเท่านั้น

เดวิสเชื่อว่าในอนาคต เราจะใช้วิธีการนี้เดินทาง "ย้อนเวลา" ได้ นั่นหมายถึงว่า "รู" ที่ว่านั้น คือ "ไทม์ แมชีน" ของเรานั่นเอง

แต่ในความเป็นจริง ในการเดินทางข้ามเวลาไปมา เราไม่เพียงต้องคำนึงถึงเรื่องของไทม์และสเปซเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงอีกหลายอย่างหลายประการ อาทิ แรงโน้มถ่วง เป็นต้น เรื่องที่คิดว่าง่ายๆ ก็เลยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

แถมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์อย่าง โรเบิร์ต โอเวน แห่งโอเบอร์ลิน คอลเลจ ในโอไฮโอ ก็ออกมาค้านสุดตัวว่า ทั้งหมดนั่นขัดกับกฎทางฟิสิกส์หลายข้อมาก และเมื่อเราเข้าใจกฎแห่งฟิสิกส์อย่างถ่องแท้ ทะลุปรุโปร่งแล้ว

ราจะรู้โดยพลันว่า การเดินทางข้ามเวลาไปมานั้น เป็นไปไม่ได้





ที่มา : นสพ.มติชน

ท่องไปในกาลเวลา กับ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์