จัดการกับความโกรธอย่างไรดี


จัดการกับความโกรธอย่างไรดี

“ถ้าอยากเป็นคนงาม อย่าวู่วามโกรธง่าย” เป็นข้อเตือนใจที่คนไทยใช้เตือนตนเอง และอบรมสอนลูกหลานมาทุกยุคทุกสมัย เราต่างรู้ซึ้งกันดีว่า ความโกรธนำมาซึ่งความเสียหายหลายสิ่งหลายอย่างหลายคนจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่โกรธหรือไม่แสดงความโกรธให้ผู้อื่นเห็น ซึ่งบางคนสามารถทำได้ดีแต่ในขณะเดียวกันบางคนก็ดูเหมือนว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร อะไรทำให้คนเราแตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ


ธรรมชาติของความโกรธ
อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่มีติดตัวมนุษย์ตั้งแต่ช่วง 3-4 เดือนแรกของชีวิต เป็นภาวะอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยความรู้สึกไม่พอใจ คัดค้าน ต่อต้าน หรือเป็นปฏิปักษ์ ความโกรธนั้นถูกยั่วยุให้เกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมีความคับข้องใจ บ่อยครั้งที่ดูเหมือนจะแยกกันไม่ออกระหว่างความโกรธกับความเกลียด แต่ที่จริงแล้วมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ความโกรธเป็นความรู้สึกช่วงเวลาหนึ่งที่เรามีต่อบุคคลซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่เราคุ้นเคย ใกล้ชิด หรือรักใคร่ ในขณะที่ความเกลียดเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า ซึ่งมีอิทธิพลของการเรียนรู้ร่วมอยู่ด้วย


สาเหตุของความโกรธ ความโกรธมักเกิดขึ้นเมื่อความหวัง

ความต้องการและความปรารถนากับสภาพความเป็นจริงไม่ตรงกัน และที่สำคัญคือ สภาพการณ์นั้น ๆ มีผลกระทบต่อความรู้สึกภาคภูมิใจ อบอุ่นใจ และความมั่นคงภายในจิตใจของบุคคล จนทำให้ยอมรับความจริงนั้น ๆ ได้ยาก ความโกรธอาจเกิดจาก

- ความรู้สึกเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี เสียความสำคัญ เมื่อถูกหรือคิดว่าถูกทอดทิ้ง สบประมาทลบหลู่ดูหมิ่น

- การปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงในการสูญเสียสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในชีวิตหรือสิ่งของที่รักมาก ความรู้สึกโกรธจะเป็นขั้นตอนหนึ่งของการไม่ยอมรับความจริง โดยมีความรู้สึกว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับตนด้วย และบางครั้งก็โกรธตรงที่ว่าตนไม่สามารถจัดการหรือป้องกันเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

- ความผิดหวัง ไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาดคิดไว้ เช่น คิดว่าเมื่อเจอคนรู้จัก เรายิ้มให้เขา เขาควรยิ้มตอบ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ เขาไม่ยิ้ม เรารู้สึกเสียหน้า เก้อ และโกรธ หรือการที่เรามีความหวังดีปรารถนาดีต่อคน ๆ หนึ่ง พยายามปกป้องทุกวิถีทาง แต่คน ๆ นั้นกลับไม่เห็นค่า ไม่เข้าใจ และยังต่อว่าหรือตำหนิเรา บางครั้งความรู้สึกน้อยใจ เสียกำลังใจและโกรธก็อาจเกิดขึ้นได้

ทำไมคนจึงโกรธมากน้อยต่างกัน เรื่องเดียวกัน ในสถานการณ์เดียวกัน คนบางคนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ บางคนโกรธนิดหน่อย บางคนไม่โกรธแต่กลับรู้สึกขัน สังเวชใจ หรือสงสารคนก่อเรื่องให้แก่ตนเสียด้วยซ้ำ อะไรทำให้ระดับความโกรธของคนเราต่างกัน ข้อควรพิจารณาเห็นจะเป็นในเรื่อง คุณลักษณะพื้นฐานจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องต่อไปนี้เป็นสำคัญ

- ทัศนคติในการมองผู้อื่น คนบางคนมองผู้อื่นในแง่ดีงามอยู่เสมอ บางคนมองอย่างเป็นกลางในขณะที่บางคนหวาดระแวงและมองแง่ร้ายตลอดเวลา

- ความสามารถในการเข้าใจมนุษย์ ในแง่ของความต้องการ ท่าทีและที่มาของพฤติกรรมการแสดงออก ทั้งโดยส่วนรวมทั่วไปและที่เป็นเฉพาะรายบุคคล

- ความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีหลักการและเป้าหมายการดำเนินชีวิตหรือการทำงานที่แน่นอน มักไม่ใคร่ใส่ใจในเรื่องเล็กน้อยที่อาจจะก่อกวนให้เสียอารมณ์ได้

- กระบวนการคิดของแต่ละคน บางคนเมื่อคิดหวังสิ่งใด มักต้องการได้รับการตอบสนองทันทีในขณะที่บางคนอดได้รอได้ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขึ้น บางคนยืดหยุ่นได้ แต่บางคนยึดติดกับแนวความคิดเดิม ไม่ยอมเปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ใด ๆ

- ความสามารถในการควบคุมอารมณ์เมื่อมีอารมณ์โกรธ บางคนแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไม่มีการยับยั้งสงวนท่าทีแต่อย่างใด บางคนสามารถกลบเกลื่อน หรือเตือนตัวเองให้แสดงออกในขอบเขตที่เหมาะสมได้

สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ และการฝึกฝนบริหารจิตใจอยู่เป็นนิจ

การแสดงความโกรธและผลกระทบ การแสดงความโกรธมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาการที่สังเกตเห็นได้บ่อยโดยทั่วไปคือ ปากสั่น มือสั่น ตัวสั่น เสียงสั่น พูดเสียงดัง หน้าตาแดงก่ำร้องไห้ กระทืบเท้า เดินหนี วิ่งหนี ไม่ยอมพูดด้วย ทำลายข้าวของ ทำร้าย ชกต่อย ในส่วนที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายก็มี เช่น หัวใจเต้นแรง กล้ามเนื้อเกร็ง อวัยวะต่าง ๆ ต้องทำงานอย่างฉุกเฉิน

ผู้ที่อยู่ในอาการโกรธแค้นนาน ๆ และต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การเป็นโรคบางชนิดได้ อาทิ ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ เป็นต้น การมีอารมณ์โกรธ นอกจากจะส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพของบุคคล และเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นแล้ว ยังส่งผลร้ายให้แก่สุขภาพทั้งกายและจิตอีกด้วย เพราะในขณะที่มีอารมณ์โกรธนั้น จะมีความรู้สึกวิตกกังวลและเกิดความว้าวุ่นใจร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากเป็นเรื้อรังยาวนานก็จะเป็นปัจจัยนำไปสู่การเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้

การควบคุมอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธบางครั้งเราควบคุมไม่ให้เกิดไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนเรื่องที่ควบคุมได้ที่ควรคำนึงถึง 2 ประการ คือ การควบคุมวิธีการในการระบายความโกรธและการควบคุมระยะเวลาของการโกรธ

การควบคุมวิธีการในการระบายอารมณ์โกรธ เมื่อมีอารมณ์โกรธ บางคนเข้าใจดีว่าการแสดงท่าทีหรือกล่าวคำรุนแรงกับคู่กรณีหรือผู้หนึ่งผู้ใดออกไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ นานา หรือในบางทีก็ไม่กล้า จึงพยายามฝืนใจไม่แสดงออกในขณะนั้น แล้วใช้วิธีระบายอารมณ์กับคนใกล้ชิด ซึ่งความโกรธก็ดูจะบรรเทาเบาบางลงและความเสียหายก็จะเกิดน้อยลง ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ เราทำร้ายผู้ใกล้ชิดหรือคนที่เรารักโดยที่เราไม่ตั้งใจ ด้วยการระบายอารมณ์โกรธที่มีต่อคนอื่นใส่บุคคลเหล่านี้ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว และผู้ที่ถูกเราระบายอารมณ์ใส่ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะใคร หรืออะไรเราจึงได้โกรธมากมายอย่างนี้พาลระแวงสงสัยหรือขุ่นข้องหมองใจว่า เขาทำผิดสิ่งใดกัน เราจึงได้โกรธมากมายอย่างนี้ กรณีเช่นนี้

การควบคุมระยะเวลาของการโกรธ ความโกรธที่เกาะแน่นในใจยิ่งนานวันเท่าไรก็จะส่งผลร้ายมากขึ้นเท่านั้น เมื่อรู้ตัวว่าโกรธและนึกรู้ถึงผลเสียที่จะตามมา การใช้ปัญญาและเหตุผลเพื่อระงับหรือลดความโกรธให้น้อยลง ดูจะมีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ลดลงหรือหมดไปมิใช่ด้วยการคิดพยายามทนต่อความโกรธนั้น ที่จะเป็นไปได้คือ ต้องพยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องที่โกรธให้ได้เสียก่อนว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อเข้าใจดีแล้ว ความรู้สึกเห็นใจและให้อภัยก็จะตามมาและพัฒนาไปสู่ความรัก ความเข้าใจ ที่มีเหตุผลได้

แนวทางในการพิจารณาเพื่อการลดหรือระงับความโกรธ อาจมีได้ดังนี้

นึกถึงผลของการโกรธ โดยพิจารณาว่า ระหว่างผลดีและผลเสียอะไรมีมากกว่ากัน ระหว่างผู้ที่ทำให้เราโกรธกับตัวเราเอง ใครเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการโกรธมากกว่ากัน ตัวเราผู้โกรธเองใช่หรือไม่ และบางครั้งยังรวมไปถึงคนที่รักเราหรือคนที่เรารักด้วยใช่ไหม แล้วทำไมเราจึงต้องสานต่อความโกรธให้มีอยู่ต่อไป บางครั้งผู้ที่ทำให้เราโกรธอาจทำไปโดยไม่รู้ตัว หรือไม่เจตนาก็ได้ และที่ร้ายกว่านั้นคือถ้าเขาเจตนา การทุกข์ทรมานด้วยความโกรธของเรามียิ่งทำให้เขาสมหวังมากขึ้นหรือ ทำไมเราจึงต้องซ้ำเติมตัวเอง แล้วคนประเภทนั้นมีคุณค่ามากพอที่เราจะไปเสียอารมณ์ด้วยละหรือ

นึกถึงความดีหรือส่วนดีของอีกฝ่าย ถึงแม้เขาจะทำไม่ดี ไม่ถูกใจเราในเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่น ๆ เขาก็ทำได้ดี หรือไม่ก็เท่าที่ผ่าน ๆ มา เขาก็ดีกับเราตั้งหลายเรื่อง บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องมองข้ามหรือทำใจ ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีสิทธิ์และไม่ควรไปตั้งความหวังในตัวคนอื่น เพราะแม้แต่ตัวเราเองบางครั้งเราหวังให้ตัวเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จตั้งหลายครั้ง เราไม่ค่อยผิดหวังหรือโกรธตัวเอง เพราะว่าเราเข้าใจ ยอมรับและให้อภัยตัวเองเสมอ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ทำไมเรามักจะยอมรับไม่ได้ หรือไม่พยายามที่จะเข้าใจ เมื่อคนอื่นไม่ทำตามที่เราหวังไว้

กล้าเผชิญกับความจริง พยายามพิจารณาตัวเองและปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ โดยพิจารณาจากเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้ว่า จริง ๆ แล้วเราก็มีส่วนผิดด้วยใช่หรือไม่ เราคิดเข้าข้างตนเองมากเกินไปใช่ไหม เราไม่สามารถที่จะเข้าใจและให้อภัยคนคนนี้อีกต่อไปแล้ว หรือเราทำตัวเหมาะสมกับการเป็นผู้ใหญ่แล้วละหรือเหล่านี้เป็นต้น

ผู้ที่มีเหตุผลและมีมโนธรรม ย่อมสามารถลดหรือระงับความโกรธได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ถ้ามีความตั้งใจจริง

สถานการณ์ใดที่ควรแสดงความโกรธ ในบางครั้งแม้แต่คนที่อารมณ์เยือกเย็นสุขุมอยู่เสมอนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นขึ้นมา และเมื่อความอดทนหมดสิ้นลง ก็สามารถจะกระทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดได้เหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะคนทุกคนต่างมีสัญชาติญาณแห่งการเอาชนะผู้อื่นเพื่อความอยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่สำนึกในคุณค่าของตัวเองนั้น จะต้องป้องกันศักดิ์ศรีของตนเสมอ การต่อสู้ของบุคคลเหล่านี้ไม่เพียงเพื่อการดำรงความเคารพในตัวเองไว้เท่านั้น แต่ยังดำรงความเคารพนับถือที่คนอื่นมีต่อตนไว้อีกด้วย และที่สำคัญเขายังรู้ด้วยว่าอารมณ์โกรธนั้น บางครั้งสามารถนำมาใช้จัดการหรือปกครองคนบางประเภทได้ คนเราจึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการต่อสู้เมื่อถึงคราวจำเป็นจริง ๆ

จัดการกับคนที่กำลังโกรธอย่างไรดี คนที่กำลังโกรธและเกี่ยวข้องกับเรานั้นมี 2 ประเภทคือ

ประเภทแรก กำลังโกรธและใช้เราเป็นที่ระบายอารมณ์ ซึ่งสาเหตุของการโกรธอาจโกรธที่ตัวเราหรือโกรธคนอื่นแต่มาลงที่เราก็ได้ วิธีการที่ใช้แล้วได้ผลที่ควรพิจารณานำไปใช้ คือ การวางท่าเคร่งขรึมการนิ่งฟัง การแสดงออกทางสายตา หรือด้วยการพูดด้วยคำพูดที่มีน้ำหนักเพียงคำสองคำเหล่านี้ อาจทำให้อีกฝ่ายถึงกับงันไปก็มี เมื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาพยายามทำแล้วไม่ได้ผล เขาก็จะเงียบเสียงลง ท่าทีที่ใช้ต้องให้เหมาะสมกับสถานะของทั้งสองฝ่าย เช่น เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าสถานะสูงกว่า เราอาจทำได้เพียงการนิ่งฟังแต่ถ้าเขากับเราเท่าเทียมกัน อาจใช้คำพูดให้ได้คิด หรือในผู้ที่สถานะต่ำกว่าเราอาจใช้การแสดงออกทางสายตา การะแนะนำสั่งสอน เหล่านี้ก็ควรพิจารณาให้เหมาะสมด้วย

ประเภทที่สอง อารมณ์โกรธยังค้างอยู่และต้องการการช่วยเหลือ พวกนี้สงบลงบ้างแล้วการช่วยเหลือผู้ที่กำลังโกรธไม่มีอะไรดีที่สุดเท่ากับการรับฟังอย่างตั้งใจ ในเรื่องราวที่เขาเล่าหรือระบายออกการมีคนฟัง บางครั้งดูเหมือนว่าความโกรธได้ลดลงไปกว่าครึ่งแล้ว ส่วนเรื่องการแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือการให้คำแนะนำปรึกษาใด ๆ นั้น ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นจริงเป็นสำคัญแนวทางการปฏิบัติใด ๆ จะบังเกิดผลดีได้ก็ต่อเมื่อ ผู้รับมีความพร้อมที่จะรับ มีความสามารถที่จะใคร่ครวญ


พิจารณาและเลือกวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองแล้วเท่านั้น

เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันไปได้อย่างราบรื่นและสงบ บางครั้งจำเป็นต้องไม่เอาใจใส่หรือต้องทนต่อคำสบประมาทเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเพิกเฉยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และคำพูดติเตียนของคนอื่นเสียบ้างและเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องต่อสู้ สิ่งสำคัญคือ ความสุขุมและวิจารณญาณที่ดีพอ โดยมีจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การแก้ปัญหาอย่างประนีประนอม มิใช่การต่อสู้กันด้วยวาจาหรือกำลัง หากแต่เป็นการเอาชนะกันด้วยไมตรีจิตมิใช่ด้วยการบีบบังคับใด ๆ

แหล่งที่มา :

สมพร อินทร์แก้ว. เอกสารสุขภาพจิต ประกอบการเผยแพร่ทางโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง. มปท. มปป, หน้า 38 – 43.

สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


จัดการกับความโกรธอย่างไรดี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์