คนเราควรจำกัดการให้อภัยไว้แค่ไหน?


คนชอบพูดกันว่ารักแล้วต้องพร้อมจะอภัยได้เสมอ คนเราควรจำกัดการให้อภัยไว้แค่ไหนกันแน่?

คำพูดเท่ๆ ในโลกนี้มีอยู่มาก บางทีก็เอาไว้ขึ้นหิ้งฟังกันเพราะๆ

บางทีก็ยกระดับจิตใจเราขึ้นมานิดหนึ่ง และบางทีก็เอาไปใช้ได้จริงๆ กลายเป็นต้นทางกรรมดีของคนดีกันยาวๆ

คำเท่ๆ ในโลกอุดมคติของความรัก ประเภทที่ว่า "รักแท้ต้องไม่แพ้ความเลวของคนรัก" หรืออีกนัยหนึ่งต้องรู้จักอภัยเขาเสมอนั้น จะว่าไปก็ยกระดับจิตใจได้เหมือนกัน จากที่ไม่ค่อยจะรู้จักอภัยใครเลย อย่างน้อยมาเว้นไว้สักคนที่เรารักก็ยังดี คิดเสียว่าเขาเผลอไป

ทว่าคนเราเผลอเลวบ่อยๆ นี่คิดเป็นอื่นไม่ได้นะครับ มันต้องมีความเลวอยู่จริงๆ ถึงเผลอได้ไม่หยุด และถ้าจะตะบี้ตะบันรักคนเลวให้ได้ ฉันจะเทิดทูนความรัก เอารักเป็นความสำคัญหมายเลขหนึ่งให้ได้ ทั้งชีวิตก็อาจอยู่บนเส้นทาง "ผิดทั้งหมด" เพียงเพราะรักตัวเดียว

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าการอภัยที่แท้จริงนั้น เราวัดกันที่ใจ ถ้าใจไม่ผูกเจ็บ ถ้าใจไม่มีโทสะยามเห็นหน้าหรือคิดถึงกัน อันนั้นแหละเรียกว่าอภัย จัดเป็นทาน เป็นการฝึกตนขั้นสูง เพื่อไปถึงความเป็นผู้ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวใคร ซึ่งมีค่าเท่ากับไม่อยากเอานรกมาไว้ในใจ ตลอดจนไม่อยากก่อกรรมอันเป็นเหตุให้ต้องเข้าถึงนรกของจริงในวันหนึ่ง

และความสามารถในการอภัยคนใกล้ตัวที่บ้านหรือที่ทำงานนั้น ทำได้แค่ไหนก็มักขึ้นอยู่กับการเตรียมใจไว้ล่วงหน้าด้วยครับ เตรียมไว้มากก็อภัยได้มาก เตรียมได้น้อยก็อภัยได้น้อย ไม่เตรียมเลยก็ยากจะอภัย ณจุดเกิดเหตุ

ธรรมดาคนเราถ้าไม่เคยผ่านพบบุคคลน่าผิดหวังมาก่อนเลย ก็จะไม่มีการเตรียมใจเลย คาดหวังเต็มที่ พอไม่ใช่อย่างที่หวังก็เจ็บหนักหน่อย แต่พอเจอหลายๆครั้ง ก็ควรเห็นเป็นบทเรียนชีวิตให้คิดเตรียมใจไว้มากๆ ในคราวหน้า

อย่างไรก็ตาม หากเตรียมใจไว้ขนาดที่อภัยได้ไม่มีขีดจำกัด เช่นนี้ก็เกิดผลเสีย คือคนผิดก็จะทำผิดไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่มีบทลงโทษเลย ไม่มีไก่ถูกเชือดให้ลิงดู ลิงก็อาจได้ใจ เกเรกันใหญ่จนไม่มีใครคุมอยู่

สรุปคือการอภัยด้วยใจหาใช่การยอมหยวนไปหมดทุกเรื่อง ยอมผูกมัดกันต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ท่านเป็นผู้มีเมตตามหาศาล เป็นจอมอรหันต์ผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเกลี้ยงเกลา แต่ถ้าภิกษุในปกครองทำผิดร้ายแรงท่านก็ไม่เลี้ยง ไม่เอาไว้ในวัดต่อ แต่จะ "ตัดสินประหาร" ให้ขาดจากความเป็นภิกษุชนิดกลับมาบวชร่วมสังฆกรรมกันอีกไม่ได้เลย

คำถามคือเราจะเอาอะไรเป็นเครื่องชี้โทษ ว่าหนักหนาเกินกว่าจะสักแต่อภัยกัน?

 อันดับแรกคงต้องใช้ "ใจ" เป็นหลัก
ความรู้สึกยังไหวไหม พอจะคิดในทางเป็นกุศลได้อยู่หรือเปล่า นี่ขึ้นอยู่กับขันติบารมีของคุณเป็นหลัก ถ้าต้องทุกข์หนักระดับอกไหม้ไส้ขมเป็นเวลานาน นั่งอยู่ดีๆเหมือนอยากแหกปากร้องตีอกชกหัว อันนี้ก็ต้องพิจารณาว่าทนกันไปก็เกิดอกุศลธรรมขึ้นในชีวิตเราเปล่าๆ

 อีกมาตรวัดหนึ่งที่ต้องใช้ "ตา" เป็นเครื่องตัดสิน
คือพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเห็นแววว่ายังสำนึกผิด ยังอยากแก้ตัวอยู่ ก็อภัยไปก่อน เพราะบางคนผิดครั้งเดียวแล้วได้รับการอภัย ก็เปลี่ยนเป็นถูกตลอดกาลไปเลย แต่บางคนผิดแล้วผิดอีกยังหน้ารื่น ไม่มีแววว่าจะสำนึกขึ้นมาได้ แบบนี้พอสวดมนต์แผ่เมตตาให้อภัยเสร็จก็สลัดทิ้งจากใจไปได้เลยครับ อย่าเก็บไว้

รักในอุดมคติแบบเด็ก ป. ๑ นั้น ไม่ต้องคาดหวังอะไรนอกจากฝึกอยู่ร่วมกันแบบไม่หวังผล แต่รักของผู้ใหญ่ในวัยทำงาน แบบที่จะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีลูกด้วยกัน อันนี้ต้องคาดหวัง ต้องดูใจให้ดีๆว่าเป็นใจที่ซื่อต่อกันได้เพียงใด

ถ้าเจอคนที่พร่ำเพ้อว่า "รักฉัน รักความเลวของฉันด้วย และอย่าคาดหวังอะไรจากฉันมาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง" ขอให้เร่งรู้เถอะว่าเขาพร้อมจะอยู่กับตัวเอง และไม่เคยพร้อมจะอยู่กับคุณ


คนเราควรจำกัดการให้อภัยไว้แค่ไหน?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์