Good Health...Station 2 เริ่มที่? เด็กทารก มีคุณภาพ


Good Health...Station 2 เริ่มที่? เด็กทารก มีคุณภาพ

จากโครงการดีๆ "ฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ" ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ นับเป็น Good Health Start Here Station I คือ อนามัยแม่และเด็กเพราะเป็นโครงการที่ให้สิทธิประโยชน์อย่างมากมายกับแม่และเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์บัตรสุขภาพแม่ : หญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับสิทธิการฝากครรภ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับการคัดกรองทารกในครรภ์ เพื่อให้เด็กที่คลอดออกมา "มีคุณภาพ" นอกจากรอดปลอดภัยแล้ว ยังปลอดโรคพันธุกรรมต่างๆ มากมาย 

ส่วนสิทธิประโยชน์บัตรสุขภาพเด็กนั้น เด็กที่คลอดออกมา จะได้รับบัตรสุขภาพเด็ก เข้ารับบริการฟรี การตรวจคัดกรองโรคและได้รับวัคซีนตามวัย

จากข้อมูลการประชุมของ World Economic Forum (WEF)-The Global Competitiveness Report 2012-2013 ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน และปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย คือ อันดับที่ 8 มีคะแนนต่ำที่สุด เป็นรองจากประเทศเวียดนาม ที่ได้อันดับ 7 และประเทศกัมพูชา อันดับ 6?เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจและอยู่ในระหว่างมอบหมายผู้เกี่ยวข้องนำผลดังกล่าวไปวิเคราะห์?เรื่องนี้มองเชิงบวกต้องบอกว่าเป็นโอกาสในการที่เราจะต้องหาแนวทางในการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นระบบ 

ในฐานะคนทำงานด้านสาธารณสุขมองความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสาธารณสุขว่า เมื่อเราทำให้เด็กเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพด้านร่างกายได้สำเร็จ อนาคตเด็กไทยในช่วงวัยต่อไปคือการทำให้เขามีความรู้ นั่นคือการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ?

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยนำเรียนเป็นข้อเสนอกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการในคราวประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงศึกษา กศน. สพฐ. เลขาฯ สกอ.เข้าร่วมประชุมด้วย ว่าขณะนี้เด็กไทยเกิดประมาณปีละ 8 แสนคน เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการให้เด็กไทยเกิดอย่างมี "คุณภาพ" ก็อยากให้เด็กทั้ง 8 แสนคน ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็ก อนุบาล ประถม มัธยม ทั้งสายสามัญ สายอาชีพ และจบปริญญาตรีทุกคนถ้วนหน้า (100%) เรียกว่า "Education for all, All for Education" 

ผมเคยได้ฟังจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านพูดเรื่องการจัดการศึกษาว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลประกาศนโยบายให้เด็กๆ ของเขาต้องเรียนจบปริญญาตรีทั้งหมด 100% โดยพ่อ แม่ และรัฐบาลต้องช่วยกันสนับสนุน ดูแลให้ "เด็ก" หรือทรัพยากรมนุษย์ ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นปัญญาชน 100% นับเป็น "นโยบายสาธารณะ" ที่ดีที่น่านำมาใช้เป็นแบบอย่าง

ทำไมคิดเช่นนั้น?

เพราะผู้เขียนเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนหากมีโอกาสอยู่ในสถานศึกษา ได้รับการ "กล่อมเกลา" เรียนรู้จากครู เพื่อน และคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน รวมทั้งกล่อมเกลาทาง "ศาสนา" ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตามโอกาสที่จะเป็นเด็กดี มีมากกว่า เก่งไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ขอให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกที่เอื้อต่อสุขภาพ และการเรียนการสอน ด้วยความรัก เต็มใจ ที่รัฐบาลจัดให้นั้น ดีกว่าเด็กที่มีโอกาส "ตกหล่น" กลางทาง บางคนไม่มีโอกาสเข้าเรียนตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก อนุบาล ประถมศึกษา พอเข้าสู่มัธยมต้น ปลาย และอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย จะเห็นชัดว่าเด็กจะค่อยๆ หลุดอออกไปตามลำดับ จะทำให้เกิดปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษา ความไม่รู้หนังสือ ขาดสติปัญญา ติดสุรา เกม การพนัน มั่วสุมยาเสพติด เกิดปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร นำมาสู่การทำแท้ง เสียชีวิต เสียอนาคต 

เหล่านี้คือปัญหาของสังคมของไทย ที่นับวันจะทวีความรุนแรง นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมในที่สุด ผลกระทบ คือ "เด็ก" จะหมดอนาคต คนที่เสียใจมากที่สุดก็คือพ่อแม่นั่นเอง

คงต้องขอฝากผู้เกี่ยวข้อง นักการเมือง ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษา ดูกรณีประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ เริ่มเมื่อไหร่ก็ได้แต่ขอเพียงช่วยกันปั้นเด็กไทยให้เป็น "ปัญญาชน" ที่ดี มีคุณภาพทุกๆ คน

เหนืออื่นใด Good Health?Station 2 ที่สำคัญพลาดไม่ได้ สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่อง "แม่และเด็ก" คือ "เด็กในวัยทารก" ผู้เขียนยังเชื่อว่าพ่อแม่ยังรักหวงแหน ห่วงใย การดูแลอย่างใกล้ชิดยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น 

- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยสายใยรักและผูกพัน รวมถึงให้อาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อลูกรักแข็งแรง อาหารที่เหมาะสมตามวัย

- การดูแลพัฒนาการในขวบปีแรก รวมถึงการติดตามพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสมของเด็กตามเกณฑ์อายุ ที่ควรจะเป็นในแง่ IQ, EQ, MQ ที่เด็กทุกๆ คนควรได้รับการดูแลและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ แข็งแรง

- การหลับนอน การพักผ่อน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ต่างๆ ประมาณว่ายุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม พ่อแม่จะทุ่มเทให้หมดทุกอย่าง

ประเด็นที่สำคัญการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ : ควรต้องกล่อมเกลา ปลูกฝังตั้งแต่วัยนี้ เพราะเด็กจะเติบโตเป็นคนดี มีความสามารถได้ พ่อแม่มีส่วนมากทีเดียว เพราะต้องปลูกฝังให้ "ลูก" เป็นเด็กที่มีความ "พยายาม" โดยต้องพัฒนาความสามารถของลูกให้ค่อยๆ เกิดขึ้นเหมาะสมตามวัย การเสริมสร้างความสามารถให้ลูกเป็นเด็กที่มีนิสัยขยันหมั่นเพียร ไม่ขี้เกียจนั้น มีหลักสำคัญที่ต้องนำมาปฏิบัติ 3 ประการ คือ 

1.การฝึกหัดให้เด็กพึ่งพาตนเอง พ่อแม่ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ลูกอายุขวบกว่าๆ ไปจนถึงอายุ 4-5 ขวบ เพราะเด็กวัยนี้เป็นไม้อ่อนดัดง่าย เช่น ตอนเล็กๆ ก็ฝึกให้เขาตักอาหารรับประทานเอง ถอดเสื้อเอง แปรงฟันเอง หกล้มให้ช่วยตัวเอง หรือช่วงอายุ 2-4 ขวบ ก็ฝึกให้รู้จักช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ช่วยจับถือของ ส่งของเล็กๆ น้อยๆ

2.ต้อง "อบรม" ลูกด้วยความรัก ความเข้าใจและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องไม่ใช้วิธีบังคับหรือฝืนใจลูก และไม่ดุด่าให้ลูกกลัว และเสียกำลังใจ พ่อแม่ต้อง "ทำดี" ให้เห็นเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบ เช่น กราบไหว้บูชาบิดามารดาทั้งเมื่อยังอยู่และเมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว การอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาอ่อนหวาน กิริยามารยาทเรียบร้อย คอยให้คำแนะนำ พูดชมเชยเมื่อลูกทำดีหรือทำได้ในบางเรื่อง และให้รางวัล แม้พูดชมเชยก็ประเสริฐแล้ว หรือจะให้รางวัลเป็นสิ่งของ เพื่อให้เขาเกิดความภูมิใจ ดีใจ หรือรางวัลสำหรับเด็กนั้นเพียงแค่ "กอด" อย่างอ่อนโยน เด็กก็จะรู้สึกอบอุ่นในใจจากสายใยรักที่มีต่อกันได้ หอมแก้มหรือปรบมือให้ก็อาจทำได้ เท่านี้ก็พอเพียงกับลูกรักของเราแล้ว เรียกว่าการให้ความรัก และการมีเหตุมีผล จะส่งเสริมให้เด็กมีความตั้งใจ มั่นใจในตัวเองที่จะพัฒนาสิ่งที่พ่อแม่จะอบรมให้ดียิ่งๆ ขึ้นอย่างเต็มใจ

3.หลักสุดท้าย คือ การเล่านิทานหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความมานะพากเพียรให้ลูกฟังบ่อยๆ สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีความเพียรพยายามในทางที่เหมาะสม โดยเลือกนิทานที่มีตัวเอกต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ หรือนิทานเกี่ยวกับการรู้จักออมทรัพย์ รู้จักประหยัด กล้าหาญ หรือนิทานเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปไมย ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมตามความสามารถที่มีอยู่ หรือแก้ปัญหาด้วยปัญญา รู้จักเหตุรู้จักผล และกล่อมเกลาให้พิจารณาทางเลือกปฏิบัติ หรือตัดสินใจตามครรลองแห่งปัญหา ด้วยความมานะอดทน 

ตัวอย่างหนึ่งมีคำพังเพยว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" แต่ลูกไม่ใช่วัว ไม่ต้องผูก ไม่ต้องตี...? ทุกคนเคยทำผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การลงโทษด้วยการทำร้ายหรือทำให้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ เป็นวิธีการที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก

เด็กถูกใช้อำนาจควบคุมบังคับกดดันมากๆ จะส่งผลทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพสูงสุดของเขา

ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมหรือเอื้ออำนวยให้เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการพูดคุย ปรึกษาหารือ ตอบคำถามสงสัยให้ลูกรักหรือลูกศิษย์กระจ่างขึ้น ฝึกให้เด็กรู้จักคิด ไตร่ตรอง ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เด็กเกิดปัญญาด้วยความเพียรพยายาม อดทน ให้เขาพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีเหตุผลน่าจะดีที่สุด...

นั่นคือ "ต้นทุนชีวิต" ที่คุณพ่อ คุณแม่ ครูบาอาจารย์ ต้องช่วยกันรดน้ำพรวนดิน

"ลูก" ตั้งแต่วัย "ทารก" คือ Station 2 ที่สำคัญการปลูกฝังสิ่งดีๆ วันละเล็กละน้อย ปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ จากบุพการีสู่ลูก ย่อมเป็น "ยาวิเศษ" เป็น "วัคซีนชีวิต" ที่ดีกับ "เขา" จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการ มีความเพียรพยายาม

และอย่าลืมปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมที่ดีให้ "ลูก" ไปพร้อมๆ กัน ภาพแห่งความฝัน Health for all?All for education ในประเทศไทยน่าจะอยู่ไม่ไกล? นะครับ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์