ตำนานดอกไม้ไฟ


 ตำนานดอกไม้ไฟ


ชาวจีนคือผู้จุดตำนานดอกไม้ไฟ

ประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ
จัดรวมเข้าอยู่ในประเภทเดียวกันเพราะใช้หลักการและส่วนผสมเหมือนกัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้กับวัตถุระเบิดด้วย นอกจากนี้ยังมีที่มาเดียวกัน คือในเตาไฟ เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว

ว่ากันว่า ในระหว่างที่ชาวจีนหุงหาอาหาร ซึ่งสมัยนั้นยังใช้ฟืนและถ่านอยู่ มักจะเกิดการระเบิดปะทุขึ้นอยู่เสมอ บางคนเข้าใจไปว่าที่ปะทุขึ้นมานั้นเพราะกำลังทดลองผสมดินปืนให้มีคุณภาพดีขึ้น อันที่จริงแล้วทั้งดินปืน การปะทุของถ่านในเตา และพวกดอกไม้ไฟ มีๆวนผสมเหมือนกันคือ ซัลเฟอร์ ถ่าน และดินประสิวแต่สมัยนั้นยังไม่มีใครคิดประดิษฐ์ปืนขึ้นใช้เลย

นักประวัติศาสตร์ละประเด็นที่ว่า อาหารจานใดที่ทำให้เกิดการปะทุขึ้นในเตาไฟ โดยหันไปสนใจส่วนผสมทั้งสามข้างต้น ซึ่งเมื่ออยู่ด้วยกันจะปะทุขึ้น ว่าเป็นสิ่งที่ครัวชาวจีนทุกแห่งมีไว้เสมอดินประสิวหรือโปตัสเชียมไนเตรต ใช้สำหรับหมักและถนอมอาหารเช่น ใส่ในกุนเชียงและหมูแผ่น ซัลเฟอร์ใช้เร่งไฟให้แรงขึ้น ส่วนถ่านก็เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดความร้อน

ต่อมาชาวจีนค้นพบว่าเอาส่วนผสมทั้งสามใส่เข้าไปในปล้องไม้ไผ่และจุดไฟ ปล้องไม้ไผ่จะพุ่งขึ้นพร้อมกับเกิดประกายไฟ และมีเสียงระเบิดดังมาก เรียกประดิษฐกรรมชิ้นนี้ว่า 'ประทัด' นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าเสียงดังของประทัดจะทำให้ภูตผีปีศาจตกใจกลัวจึงนิยมใช้ในพิธีไล่วิญณาณไล่ราหูให้คายพระจันทร์ออกมา หรือใช้ในงานพิธีเฉลิมฉลอง เช่น งานแต่งงาน งานฉลองชัย งานตรุษเป็นต้น

ถึงแม้ชาวจีนจะใช้ของทั้งสามอย่างซึ่งเป็นส่วนผสมของดินปืนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ก็ไม่เคยนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางทหารผู้ที่ใช้ส่วนผสมทั้งสามในการทำลายล้างเป็นคนแรกกลับเป็นคนทางตะวันตกและเป็นพระเสียด้วย ในศตวรรษที่ ๑๓ บาทหลวงแบร์โทลด์ ชวาร์ช พระโรมันคาทอลิกในนิกายฟรานซิสกันเป็นผู้ประดิษฐ์ปืนขึ้นใช้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

จริง ๆ แล้ว คนจีนสนใจใช้ส่วนผสมของวัตถุระเบิดทั้งสามในทางสร้างสรรค์มากกว่า คือ เพื่อเฉลิมฉลองและการบิน การคิด ประดิษฐ์ประทัดซึ่งพัฒนาขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็นบ้องไฟ อาจเป็นความคิดเบื้องต้นในการพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าของชาวจีนนั่นเอง นักประดิษฐ์ผู้หนึ่งชื่อ วันหู่ พยายามสร้างเครื่องบินโดยใช้ว่าว ๒ ตัวเป็นเหมือนปีก ขับเคลื่อนด้วยบ้องไฟที่มีลักษณะคล้ายจรวด จำนวน ๔๒ บ้อง มีเก้าอี้อยู่ตรงกลางระหว่างว่าวด้วย โดยเขาตกลงใจเป็นผู้ทดลองนั่งเก้าอี้ตัวนี้เหินฟ้าเอง แต่โชคไม่ดี เมื่อเขาจุดไฟที่จรวดพร้อมกันทั้งหมด ทั้งว่าวกระดาษ เก้าอี้ไม้ และตัวผู้ประดิษฐ์เองพลอยถูกฉีกไหม้เป็นเถ้าถ่านไปด้วย

ต้นศตวรรษที่ ๑๗ นักเทคนิคด้านดอกไม้ไฟชาวยุโรปสามารถประติดประดอยลักษณะการระเบิดของดอกไม้ไฟเพื่อตกแต่งฉากสถานที่ทางประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ความบันเทิงแบบนี้เป็นที่นิยมไปทั่วเพราะให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นกัน

ดอกไม้ไฟมีสีเหลืองกับสีอำพันออกแดงเป็นหลักมากว่า ๘ ศตวรรษ จน ปีค.ศ. ๑๘๓๐ นักเคมีจึงสามารถประดิษฐ์ให้ประกายไฟมีสีฟ้าออกเขียวได้โดยใช้ผงแร่เหล็กใส่เข้าไป ทศวรรษต่อมาจึงมีการคิดส่วนผสมที่ทำให้ดอกไม้ไฟระเบิดเป็นรูปคล้ายดาว ซึ่งระยะแรกเป็นสีขาว ต่อมาจึงเป็นสีแดงสดและฟ้าอ่อนได้ สีสุดท้ายที่เป็นสีพื้นฐานของดอกไม้ไฟ คือ สีฟ้าสด ประดิษฐ์ขึ้นได้ใน ปีค.ศ. ๑๘๔๕ เป็นสีที่ทำยากที่สุด จนถึงกลางศตวรรษที่ ๑๙ ดอกไม้ไฟจึงมีสีต่าง ๆ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้



“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

ตำนานดอกไม้ไฟ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์