คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่รักษาศีล 8 และไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็น "การถือศีลกินเจ"
ในปัจจุบัน ผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ และต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
นอกจากการงดเว้นเนื้อสัตว์อันถือเป็นการเบียดเบียนชีวิตแล้วยังมีอาหารที่ห้ามอีกคือ นม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์ งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ รวมทั้งเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน
อานิสงส์ จากการถือศีลกินเจ 10 ประการ ได้แก่
-เป็นที่รักใคร่ของบรรดาเทพ พรหมตลอดจนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
-จิตอันเป็นมหาเมตตาย่อมบังเกิดขึ้น
-สามารถตัดขาดความอาฆาต ดับอารมณ์เหี้ยมโหดเครียดแค้นในใจลงได้
-ปราศจากโรคภัยร้ายแรงมาเบียดเบียนร่างกาย
-มีอายุมั่นขวัญยืน
-ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากวัชรเทพทั้งแปด
-ยามหลับนิมิตรเห็นแต่สิ่งที่ดีงามเป็นศิริมงคล
-ย่อมระงับการจองเวร สลายความอาฆาตแค้นซึ่งกันและกัน
-สามารถดำรงอยู่ในกระแสแห่งนิพพาน ไม่พลัดหลงตกลงสู่อบายภูมิ
-ทันทีที่ละสังขารจากโลกนี้ จิตญาณจะมู่งสู่คติภพ
ที่มา สสส.