ลักษณะใบหน้า เกิดจาก ดีเอ็นเอขยะ


ลักษณะใบหน้า เกิดจาก ดีเอ็นเอขยะ


ทีมนักวิจัย จากแผนกพันธุกรรม ของ ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา

 เผยแพร่ผลการศึกษาทดลอง เพื่อหาตัวกำหนดทางพันธุกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของใบหน้าของบุคคล ไว้ในนิตยสาร เจอร์นัล ไซน์ซ ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจัยสำคัญในการกำหนดรูปลักษณ์ของใบหน้าคนเราว่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างไร นั้น ขึ้นอยู่กับดีเอ็นเอ กลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเรียกขานกันทั่วไปในแวดวงวิชาการด้านพันธุกรรมว่า "จังค์ ดีเอ็นเอ" หรือ "ดีเอ็นเอขยะ"

"ดีเอ็นเอขยะ" เป็นดีเอ็นเอกลุ่มหนึ่งในแผนที่พันธุกรรมทั้งหมด (จีโนม) ของคนหรือสัตว์ ซึ่งไม่ได้มี "รหัส" สำหรับการสร้างโปรตีนกำกับอยู่ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "น็อนโค้ดดิ้ง ดีเอ็นเอ" หลายๆ ส่วนของดีเอ็นเอในกลุ่มนี้ ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าทำหน้าที่อะไรในการกำหนดพันธุกรรมของมนุษย์เรา อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนของดีเอ็นเอในกลุ่มนี้ ที่เชื่อกันว่า ทำหน้าที่เป็นส่วนขยายการผลิตโปรตีนบางประเภทของยีนกำหนดพันธุกรรมบางตัว ดีเอ็นเอในกลุ่มนี้เรียกกันว่า "เอ็นแฮนเซอร์" หรือ "ตัวขยาย" ประสิทธิภาพของยีน ซึ่งพบได้ทั้งในหนูทดลองและในแผนที่พันธุกรรมของมนุษย์

ในการทดลอง ทีมวิจัยซึ่งนำโดยนาย แอกเซล วีเซล นักพันธุศาสตร์ จำแนกเอาดีเอ็นเอขยะที่เชื่อว่าทำหน้าที่เป็น "เอ็นแฮนเซอร์" จำนวนกว่า 4,000 ชุดในหนูทดลองออกมา โดยพบว่าดีเอ็นเอในส่วนนี้จะเริ่มต้น "แอคทีฟ" ขึ้นมาเมื่อถึงขั้นตอนจำเพาะขั้นตอนหนึ่งในพัฒนาของตัวอ่อนของหนู หลังจากนั้นก็ดึงเอา "เอ็นแฮนเซอร์" 3 ชุด ออกมาจากหนูทดลองจำนวนหนึ่ง ปล่อยให้พัฒนาเป็นตัวอ่อนแล้วค่อยนำกลับมาเปรียบเทียบลักษณะของใบหน้าของหนูที่เกิดตามธรรมชาติ เมื่อลูกหนูอายุได้ครบ 8 สัปดาห์

ผลปรากฏว่าหนูทดลองที่ผ่านการดึงเอาเอ็นแฮนเซอร์ออกไป แสดงลักษณะของใบหน้าที่แตกต่างออกไปจากหนูทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ก่อให้เกิดการยืดยาวออก หรือการหดสั้นเข้าของความยาวของใบหน้า เช่นเดียวกับที่บางตัวมีการเพิ่มหรือลดขนาดความกว้างของอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าของหนูทดลองเหล่านั้น อย่างเช่นความกว้างของฐานกะโหลก หรือเพดานปาก เป็นต้น

นายแอกเซล วีเซล ระบุไว้ในรายงานวิจัยดังกล่าวนี้ว่า จากผลการทดลอง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ว่า เอ็นแฮนเซอร์หลายพันชุดในจีโนมหรือแผนที่พันธุกรรมของคนเรานี่เองที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของรูปหน้าและศีรษะของคนเรา ตั้งแต่ขั้นตอนพัฒนาการของรูปลักษณะของตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมทำให้คนเรามีแนวโน้มของลักษณะใบหน้าและศีรษะคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป

การทดลองดังกล่าวยังไม่สามารถจำแนกได้แน่ชัดว่า ดีเอ็นเอขยะ หรือเอ็นแฮนเซอร์ ตัวไหน ทำหน้าที่อะไร เพียงแต่ทำให้แน่ใจว่า ดีเอ็นเอเหล่านี้เป็นตัวกำหนดลักษณะดังกล่าวเท่านั้น

การค้นพบตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมของใบหน้าดังกล่าวนี้ จะส่งผลดีต่อการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อหาหนทางป้องกันโรคที่เป็นข้อบกพร่องทางกายภาพตั้งแต่เกิดหลายอย่าง โดยเฉพาะโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้สามารถบ่งชี้ได้ว่าเกิดจากการบกพร่องของยีนบางตัว แต่มียีนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกระบุว่า เป็นตัวกำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ต่อรูปลักษณะของใบหน้าและศีรษะของคนตามปกติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าแม้จะมีคนหน้าคล้ายกัน แต่ไม่มีใครมีรูปลักษณ์และศีรษะเหมือนกันโดยสิ้นเชิงแม้แต่คนเดียว


ทีมา ประชาชาติธุรกิจ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์