โรคกรรมหรือโรคกาย

ธรรมะ : ความจริงความเป็นไปในชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ (ธรรมนิยาย) หลายกฎ แต่กฎที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรงมีอยู่สองกฎ นั่นก็คือ จิตนิยาม (กฎการทำงานของจิต) และกรรมนิยาม (กฎแห่งกรรม) แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ว่ามีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของเราด้วยเหมือนกัน เวลาเกิดมีปัญหาอะไรในชีวิตขึ้นมาเราจึงมักสรุปเอาอย่างง่ายๆ ว่าเป็นเพราะ “กฎแห่งกรรม” เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนเราอาจเป็นผลมากจากกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วยก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะวินิจฉันกันว่าเรื่องของคุณเป็นผลของกฎแห่งกรรมหรือเปล่า เราก็ควรจะมารู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วย

กฎธรรมชาติที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนเรามีอยู่ด้วยกัน ๕ กฎ เรียกว่า “นิยาม” ประกอบด้วย

(๑) อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยสภาพแวดล้อมและสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมักส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเราในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่น คนอีสานมักมีนิสัยสู้ชีวิตมากกว่าคนภาคเหนือ เพราะอีสานมีความกันดาร ในขณะที่ภาคเหนือมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมากกว่า หรือคนภาคใต้มีความคิดทางการเมืองมากกว่าคนทุกภาค เพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกกดขี่หรือถูกระทำมีมากกว่าคนภาคอื่น หรือชาวยุโรปมีนิสัยรักการอ่านมากกว่าคนเอเชีย เพราะยุโรปมีอากาศหนาวที่ยาวนานเขาจึงขลุกอยู่ในบ้าน และนั่นเปิดโอกาสให้ได้อ่านมาก เพราะมีเวลาอยู่ในที่ร่มมากกว่าคนทางเอเชีย ตัวอย่างเหล่านี้คือผลของสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเราแต่ละคน

(๒) พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการสืบต่อพันธุกรรม คือโครงสร้างทางกายภาพที่เราได้รับมาจากพ่อแม่ เช่น ร่างกาย ผิวพรรณ หน้าตา เพศสภาพ (ชายหรือหญิง) ระบบการทำงานของอวัยวะ รวมทั้งโรคบางโรคที่ติดต่อได้ทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถส่งผ่านจากพ่อหรือแม่สู่ลูกเป็นต้น

(๓) จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการทำงานของจิต เช่น กระบวนการคิด การจำ การรับรู้ การตอบสนองต่อโลกและปรากฏการณ์ การเก็บกดปมปัญหา การตื่นรู้ เป็นต้น

(๔) กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาและผลของการกระทำนั้นๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะหว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น

(๕) ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในโลก (Cosmic Law) ในลักษณะสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน เกี่ยวเนื่องกันในลักษณะห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์ ทำให้เราได้ตระหนักรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกดำรงอยู่อย่างเอกเทศโดยไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยมกับสิ่งใดเลย

กฎธรรมชาติทั้ง ๕ นี้ หนูควรรู้เอาไว้เป็นความเข้าใจพื้นฐานว่าชีวิตของเราใช่จะเป็นไปตามกฏแห่ง กรรมเท่านั้น ยังมีกฎอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย

เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว ในทางปฏิบัติ หนูก็จะสามารถดูแลตัวเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น บางทีผลของโรคอาจเกิดจากกฏพีชนิยามซึ่งเป็นเรื่องความผิดปกติของร่างกายหรือ พันธุกรรมก็เป็นได้ ถ้ามองในแง่นี้ หนูก็จะไม่ทิ้งการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นผลของกรรมด้วยก็เป็นได้ ซึ่งหากมองแง่นี้หนูก็จะได้กลัวบาปกลัวกรรม ไม่เผลอทำผิดซ้ำซาก

แต่ถ้าหนูฟังธงลงไปว่า โรคที่เกิดกับฉันเป็นผลของกรรมแน่ๆ หนูก็จะ (เข้าใจผิดๆ เพียงแง่เดียว) แล้วมุ่งไปที่การแก้กรรม และติดจมอยู่กับ “อดีตกรรม” ไม่รู้จบสิ้น จะแก้ก็ไม่ได้

เพราะมันเป็นความผิดในอดีต จึงต้องทนอยู่กับ “ความรู้สึกผิด” วันแล้ววันเล่า นี่แหละที่กล่าวกันว่า “ปล่อยให้อดีตมากรีดปัจจุบัน” แต่ครั้นไม่เชื่อกรรมเลย หนูก็จะมุ่งรักษาแบบสมัยใหม่อย่างเดียว แต่ยิ่งรักษากลับพบว่าไม่ดีขึ้น ชีวิตก็มองไม่เห็นทางออกอีกเช่นกัน

ทางสายกลางในเรื่องนี้ก็คือ ความป่วยของหนูมีสิทธิ์เป็นไปได้ที่ว่า อาจจะเป็นผลของทั้ง “กรรม” และ “กาย” มาบรรจบกัน ดังนั้นในทางกายก็ควรให้หมอดูแลรักษาไปตามกรรมวิธีของแพทย์ ส่วนใจ (ที่หมกมุ่นกับความรู้สึกผิด) หนูก็ต้องรักษาด้วยการหาธรรมะมาเยียวยาด้วยตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรบอกตัวเองว่า ในฐานะที่เป็นปุถุชน ทุกคนมีสิทธิ์พลาดกันได้ แต่เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ปล่อยให้เกิดซ้ำอีก และควรฝึกการเจริญสติให้มาก เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่เหนือกรรม ด้วยการไม่หลุดเข้าไปในความคิดฟุ้งซ่าน เพราะในความคิดฟุ้งซ่าน กรรมเก่าจะมีบทบาทมาก

ด้วยเหตุนี้จึงควรระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันไว้เสมอ เมื่อหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้ หนูจะพบความสุขในปัจจุบันขณะ และไม่ท้อแท้กับการสู้ชีวิตใหม่ในวันต่อๆ ไป อนึ่ง หากยังรู้สึกผิดอยู่บ่อยๆ ก็ควรแก้ไขด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและให้ชีวิตเป็นทานแก่สรรพสัตว์ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้พอสมควร

โรคกรรมหรือโรคกาย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์