อานิสงส์การภาวนา

อานิสงส์การภาวนา โดย หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

หลวงพ่อท่านเคยพูดเสมอว่า "อุปัชฌาย์ข้า (หลวงพ่อกลั่น) สอนว่า ภาวนาได้เห็นแสงสว่างเท่าปลายหัวไม้ขีด ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่าช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น ยังมีอานิสงส์มากกว่าตักบาตรจนขันลงหินทะลุ" พวกเรามักจะได้ยินท่านคอยให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ ว่า "หมั่นทำเข้าไว้ หมั่นทำเข้าไว้ ต่อไปจะได้เป็นที่พึ่งภายหน้า" เสมือนหนึ่งเป็นการเตือนให้เราเร่งความเพียรให้มาก การให้ทานรักษาศีลร้อยครั้งพันครั้งก็ไม่เท่ากับนั่งภาวนาหนเดียวนั่งภาวนา ร้อยครั้งพันครั้ง กุศลที่ได้ก็ไม่เท่ากุศลจิตที่สงบเป็นสมาธิเกิดปัญญาเพียงครั้งเดียว

แนะวิธีปฏิบัติ

เคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีปัญหาถามว่า นั่งปฏิบัติภาวนาแล้วจิตไม่รวม ไม่สงบ ควรจะทำอย่างไร ท่านแก้ให้ว่า "การปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย ไม่เป็นอีกเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าวไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อยๆ กันไปมันก็อิ่มเอง ภาวนาก็เช่นกันไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือภาวนาไปก็จะถึงของดี ของวิเศษในตัวเรา แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป"

อุบายวิธีทำความเพียร

ครั้งหนึ่งที่ได้สนทนาปัญหาธรรมกับหลวงพ่อ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า...เขามาถามปัญหาเข้า ข้าก็ตอบไม่ได้อยู่ปัญหาหนึ่ง ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า "ปัญหาอะไรครับ" ท่านเล่าว่า " เขาถามว่า ขี้เกียจ (ปฏิบัติ) จะทำอย่างไรดี" หลวงพ่อหัวเราะ ก่อนที่จะตอบต่อไปว่า "บ๊ะ ขี้เกียจก็หมดกัน ก็ไม่ต้องทำซิ" สักครู่ท่านจึงเมตตาสอนว่า "หมั่นทำเข้าไว้ๆ ถ้าขี้เกียจให้นึกถึงข้า ข้าทำมา 50 ปี อุปัชฌาย์ข้าเคยสอนไว้ว่า ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำ วันไหนเลิกกินข้าว...นั่นแหละถึงไม่ต้องทำ"

ควรทำหรือไม่ ?

ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์หลวงพ่อผู้สนใจธรรมปฏิบัติกำลังนั่งภาวนาเงียบอยู่ ไม่ห่างจากท่านเท่าใดนัก บังเอิญมีแขกมาหาศิษย์ผู้นั้นแต่ไม่เห็น ก็มีศิษย์อีกท่านหนึ่งเดินเรียกชื่อท่านผู้กำลังนั่งภาวนาอยู่ด้วยเสียงอัน ดัง และเมื่อเดินมาเห็นศิษย์ผู้นั้นกำลังภาวนาอยู่ก็จับแขนดึงขึ้นมาทั้งที่ กำลังนั่งภาวนา เมื่อผู้นั้นห่างไปแล้ว หลวงพ่อท่านจึงเปรยขึ้นมาว่า "ในพุทธกาลครั้งก่อน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งกำลังอยู่นิโรธสมาบัติได้มีนกแสกตัวหนึ่งบินโฉบผ่าน หน้าท่านพร้อมกับร้อง "แซ๊ก" ท่านว่านกแสกตัวนั้นเมื่อตายแล้วได้ไปอยู่ในนรก แม้กัปนี้พระพุทธเจ้าผ่านไปได้พระองค์ที่สี่แล้ว นกแสกตัวนั้นยังไม่ได้ขึ้นมาจากนรกเลย

ทรรศนะต่างกัน

การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมากเข้าย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือท่านที่มีศีลมีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้น หากใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัดต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุด เท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า แล้วเราล่ะถึงที่สุดแล้วหรือยัง

อุเบกขาธรรม

การอยากชวนคนมาวัด มาปฏิบัติให้มาก ๆโดยลืมดูพื้นฐานจิตใจของบุคคลที่กำลังจะชวนว่า เขามีความสนใจมากน้อยเพียงใด หลวงปู่ท่านบอกว่า ให้ระวังให้ดีจะเป็นบาป เปรียบเสมือนกับการจุดไฟไว้ตรงกลางระหว่างคน 2 คน ถ้าเราเอาธรรมะไปชวนเขา เขาไม่เห็นด้วย ปรามาสธรรมนี้ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเราเป็นคนก่อแล้วเขาเป็นคนจุดไฟ บาปทั้งคู่ เรียกว่า เมตตาพาตกเหว

หลวงปู่ได้ยกอุทาหรณ์ สอนต่อว่า เหมือนกับมีชายคนหนึ่งตกอยู่ในเหวลึก มีผู้จะมาช่วย คนที่หนึ่งมีเมตตาจะมาช่วย เอาเชือกดึงขึ้นจากเหว ดึงไม่ไหวจึงตกลงไปในเหวเหมือนกัน คนที่สองมีกรุณษมาช่วยถึงอีก ก็ตกลงเหวอีก คนที่สามมีมุทิตามาช่วยดึงอีกก็พลาดตกเหวอีกเช่นกัน คนที่สี่สุดท้ายเป็นผู้มีอุเบกขาธรรมเห็นว่าเหวนี้ลึกเกินกว่ากำลังของตนที่ จะช่วย ก็มิได้ทำประการใดทั้งๆ ที่จิตใจก็มีเมตตาธรรมที่จะช่วยเหลืออยู่ คนสุดท้ายนี้จึงรอดชีวิตจากการตกเหวตามเพราะ อุเบกขาธรรมนี้แล

เรารักษาศีล ศีลรักษาเรา

ศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง หลวงพ่อมักจะเตือนเสมอว่าในขั้นต้นให้หมั่นสมาทานรักษาศีลให้ได้ แม้จะเป็นโลกียศีล รักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง ก็ให้เพียงระวัง รักษาไป สำคัญที่เจตนาที่จะรักษาศีลไว้ และปัญญาที่คอยตรวจตราแก้ไขตน "เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ" ท่านว่าเจตนาเป็นตัวศีล "เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ" เจตนาเป็นตัวบุญ จึงขอให้พยายามสั่งสมบุญนี้ไว้ โดยอบรมศีลให้เกิดขึ้นที่จิตเรียกว่า เรารักษาศีล ส่วนจิตที่อบรมศีลดีแล้ว จนเป็นโลกุตรศีลเป็นศีลที่ก่อให้เกิดปัญญาในอริยมรรค อริยผลนี้จะคอยรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติมิให้เสื่อมเสียหรือตกต่ำไปในทางที่ ไม่ดีไม่งามนี้แลเรียกว่า ศีลรักษาเรา

จะเอาโลกหรือเอาธรรม

บ่อยครั้งที่มีผู้มาถามปัญหากับหลวงพ่อ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติ มิตร หรือคนอื่นๆ มาปรารภให้หลวงพ่อฟังอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจผู้เขียนว่า "โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม" ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า "เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้วต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา เพราะธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดจากในตัวของเรานี้ทั้งนั้น"เคยมีผู้ปฏิบัติกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า"หลวงพ่อครับ ขอธรรมะสั้นๆ ในเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้กิเลส 3 ตัว คือ โกรธ โลภ หลง หมดไปจากใจเรา จะทำได้อย่างไรครับ" หลวงพ่อตอบเสียงดังฟังชัด จนพวกเราในที่นั้นได้ยินกันทุกคนว่า "สติ"

อานิสงส์การภาวนา


http://variety.thaiza.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์