รับมือ 3 อาการที่มาเพราะหวัด


คัดจมูก น้ำมูกไหล

เมื่อเราเป็นหวัดจะมีเลือดมาเลี้ยงเยื่อบุผิวช่องจมูกมากขึ้น เพื่อนำเอาเม็ดเลือดขาวและ Antibody มาต่อสู้กับการติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก และมีน้ำมูกไหล ถึงแม้อาการคัดจมูกจะเป็นกระบวนการต่อสู้กับเชื้อเพื่อช่วยเหลือตนเองของ ร่างกาย แต่ก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่น้อย อาการคัดจมูกมีน้ำมูกเนื่องจากหวัดสามารถหายได้โดยไม่ต้องใช้ยา และวิธีดูแลตัวเองให้รู้สึกสบายขึ้นจากอาการนี้ ทำได้โดย

ไม่ควรออกแรงสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะอาจเกิดแรงดันย้อนกลับ ทำให้เชื้อไวรัสย้อนกลับเข้าทางโพรงจมูก และทำให้โพรงอากาศรอบจมูกหรือไซนัสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ โดยเฉพาะถ้าสั่งน้ำมูกแรง ๆ พร้อมกันทั้งสองข้าง ทางที่ดีสั่งน้ำมูกทีละข้างเพื่อให้มีแรงดันย้อนกลับน้อยที่สุด

ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะน้ำอุ่น หรือกินอาหารเหลวร้อน ๆ เช่น ซุปไก่ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้

ใช้ไอน้ำร้อน เช่น อาบน้ำอุ่น เช็ดหน้าด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือสูดไอน้ำต้มหัวหอมร้อน ๆ จะช่วยละลายน้ำมูกที่คั่งค้างอยู่ได้ โดยใช้หอมแดง 4-5 หัวทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1 ลิตรจนเดือด เทใส่กะละมังแล้วเอาผ้าขนหนูคลุมศีรษะกับกะละมัง ก้มหน้าสูดไอร้อนประมาณ 5-10 นาที หรือจะใช้น้ำนี้อาบน้ำก็ช่วยได้เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น ใส่เปลือกส้มโอและใบมะขามไปอีกสักกำมือแล้วต้มรวมกัน ก็ช่วยบรรเทาหวัด ลดน้ำมูกได้ หรือจะใช้วิธีกิน โดยกินหอมแดงแนมกับอาการเป็นประจำทุกมื้อ อย่างน้อยครั้งละ 1 หัว ก็ช่วยบรรเทาอาการได้

หยุดสูบบุหรี่ หรืออยู่ให้ห่างควันบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องจมูก

ถ้ามีน้ำมูกมากจนจมูกเริ่มแดง รูจมูกเจ็บและอักเสบ ควรหาวาสลินเจลทาบาง ๆ รอบจมูก ป้องกันการแสบจมูก หรือจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาดเนื้อนุ่มชุบคาโมไมล์ประคบไว้ 1-2 นาที ถ้าดูแลตัวเองตามนี้ร่วมกับการใส่ใจในอาหารการกิน พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายพอเหมาะ อาการคัดจมูกและน้ำมูกก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูกหรือล้างจมูก เว้นเสียแต่มีอาการหวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ และถ้าคัดจมูกนานเกินกว่า 3 สัปดาห์หรือมีไข้ น้ำมูกข้นมีสีเข้มขึ้น และปวดบริเวณโพรงอากาศ (Sinus) ควรปรึกษาแพทย์

หูอื้อ

อาการ หูอื้อขณะเป็นหวัดหรือหลังหวัดหายเกิดขึ้นได้ เพราะไวรัสทำให้ท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่องลำคอเกิดการอักเสบและ บวม ส่งผลให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้น จึงมีอาการหูอื้อข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง เป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไปมาให้อึดอัดรำคาญได้ หรืออาจเป็นเพราะไวรัสทำให้หูชั้นกลางอักเสบ มีรายงานพบว่า อาการหูอื้อหลังหวัดมักสัมพันธ์กับความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นคุณหมอจึงแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ดื่มน้ำอุ่นเพิ่มมากกว่าปกติ กินอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มผักผลไม้มาก ๆ ออกกำลังกายตาม ควรหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองและเสียงดัง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรได้รับการตรวจหู เพื่อดูความผิดปกติในหูชั้นกลางและตรวจภายในโพรงจมูกค่ะ

เจ็บคอ

การ ที่เป็นหวัดแล้วเจ็บคอด้วยเพราะมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ ติดเชื้อในโพรงจมูกเรื่อยลงไปจนถึงคอส่วนล่าง นั่นเลยทำให้คอส่วนนี้เกิดอาการระคายและเจ็บได้ อาการนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งยา เพียงแต่ดูแลตัวเองแต่เนิ่น ๆ ไม่ปล่อยให้ลุกลามจนเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา

ดื่มน้ำอุ่นมากขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า โดยเฉพาะคนที่ไอและมีเสมหะร่วมด้วย เพราะน้ำจะช่วยให้เสมหะใสและเหนียวน้อยลง ร่างกายขับออกได้ง่ายขึ้น และช่วยลดอาการระคายคอ

น้ำเกลือกลั้วคอ ของพื้น ๆ อย่างเกลือใช้เป็นยาแก้เจ็บคอได้อย่างดีทีเดียว โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 ถ้วย คนจนละลาย อมน้ำเกลือกลั้วคอ โดยแหงนศีรษะไปด้านหลัง เพื่อให้น้ำเกลือไหลอาบเนื้อเยื่อในลำคอ ทำซ้ำวันละ 4 ครั้ง

ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม มะขาม เสาวรส เป็นต้น เพราะในรสเปรี้ยวของผลไม้เหล่านี้มีกรดชิตริกที่ช่วยลดอาการเจ็บคอได้ และยังมีวิตามินซีช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายพร้อมสู้กับเชื้อไวรัสและ แบคทีเรีย ช่วยลดระยะเวลาในการเป็นหวัดให้สั้นลง ตัวอย่างสูตรการใช้ เช่น มะนาว น้ำอุ่น 1 แก้วผสมมะนาวอมกลั้วคอวันละ 2-3 ครั้ง หรือคั้นน้ำเหยาะเกลือเล็กน้อยจิบบ่อย ๆ หรือบีบมะนาวครึ่งลูกผสมน้ำอุ่นครึ่งแก้ว เติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชาดื่ม รสเปรี้ยวของมะนาวจะช่วยขับน้ำลาย ลดอาการระคายเคืองในลำคอ ส่วนน้ำผึ้งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ส้ม ปรุงน้ำส้มแก้เจ็บคอโดยคั้นส้ม 3 ผล เติมน้ำมะนาวและน้ำตาลอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ เกลืออีก ½ ช้อนชา เอาไว้จิบบ่อย ๆ ก็ช่วยแก้ไอขับเสมหะและชุ่มคอได้

เลี่ยงควันและมลพิษต่าง ๆ รวมทั้งสารระเหยจากน้ำยาทำความสะอาดในบ้าน หรือสีทาบ้าน และงดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บคอมากขึ้น

ใช้เสียงให้น้อย ถ้าอาการเจ็บคอลุกลามจนกล่องเสียงอักเสบ เกิดการระคายคอมากเวลาพูด หรือเสียงหายไปชั่วขณะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย

ปรับสภาพอากาศภายในห้องให้ชื้นขึ้นเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศที่แห้ง ช่วยให้เยื่อเมือกในช่องคอไม่แห้ง เพราะถ้าช่องคอแห้งจะทำให้ระคายคอ โดยนำอ่างใส่น้ำมาวางไว้ในบริเวณห้อง หรือหากระถางต้นไม้มาตั้ง ยกเว้นในห้องนอน

รับมือ 3 อาการที่มาเพราะหวัด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์