สารพัดเรื่อง ม้า น่ารู้ รับปี มะเมีย


ปีมะเมียเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ซึ่งทุกรอบขวบปี มันสร้างเรื่องราวและมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้แต่ละคนต่างกัน ส่วน "ม้า" ตัวที่กำลังจะมานี้ หลายคนเริ่มเกรงๆ เกร็งๆ ตั้งแต่มันยังไม่มาถึง ด้วยกลัวว่าจะเป็น "ม้าพยศ" สร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง

แต่ในเรื่องเลวร้ายที่ทำเราเสียน้ำตา ย่อมมีเรื่องดีๆให้ยิ้มได้เสมอ... อย่าเพิ่งท้อใจ

"ทีมข่าวเฉพาะกิจ" ถือโอกาสรวบรวมเรื่องม้าน่ารู้มานำเสนอ



"มะเมีย"

ตามปฏิทินสุริยคติของชาติในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม รวมถึงไทย จะแบ่งปฏิทินเป็นรอบปี 12 ปีเรียกว่า "นักษัตร" หรือ "นักขัต" ซึ่งแต่ละปีจะมีสัตว์เป็นสัญลักษณ์และมีชื่อเรียกต่างกันไป อย่างปี "มะเมีย" รอบปีที่ 7 ใน 12 นักษัตร จีนกลางเรียก "หม่า" เวียดนามเรียก "หง่อ"

ในตำราทำนายลักษณะของหลายสำนัก บอกว่าคนเกิดปีมะเมียนั้นมีลักษณะหลายอย่างเหมือนม้า ที่มีความสง่างามโดดเด่น ชอบเข้าสังคม มีเพื่อนฝูงมาก มีพลังและไอเดียอย่างเหลือล้น เก่งรอบตัว หากตั้งใจทำสิ่งใดแล้วมักจะบรรลุเป้าหมาย ทั้งยังมีหัวการค้า ชอบโน้มน้าว มักรอให้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต และช่างคิดช่างฝัน

ข้อเสียของคนปีม้า คือ แม้ภายนอกจะสง่างาม แต่อารมณ์ร้อน ความอดทนต่ำ กลัวความล้มเหลวจนเข้าขั้นวิตกจริต มักคุมสติไม่ได้เวลาเผชิญปัญหา สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนแผนเอาดื้อๆ จนคนรอบข้างตกใจ

จากการเป็นคนค่อนข้างอินดี้ เรื่องความรัก ชาวมะเมียจึงเหมาะกับคู่ครองที่ให้อิสระ เข้าใจ และเคารพในการตัดสินใจ

"ม้า : สารพัดประโยชน์"


มนุษย์เริ่มนำม้ามาใช้งานตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล และแพร่หลายอย่างถึงขีดสุดเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เริ่มที่การใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ตามด้วยการทหาร การตำรวจ การบันเทิง การกีฬา และปัจจุบัน มีการนำมาช่วยในการบำบัดรักษาอาการป่วยบางโรค

โดยม้าที่ใช้ประโยชน์แต่ละด้าน เป็นม้าคนละประเภทกัน หากแบ่งตามลักษณะนิสัยประกอบด้วย "Hot blood" หรือพวกเลือกร้อน ที่เคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว และทนทาน, "Cold blood" หรือพวกเลือดเย็น ที่ทำงานหนัก เคลื่อนไหวค่อนข้างช้า แต่มั่นคง เช่น ม้าแคระ และม้าเล็กบางสายพันธุ์ และพวก "Warm blood" หรือพวกเลือดอุ่น อันเกิดจากการผสมพันธุ์ทั้ง 2 ประเภทเพื่อไว้ใช้งานในลักษณะต่างๆ ทำให้เฉพาะในยุโรปเองมีมากกว่า 300 สายพันธุ์

ภาพหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ คือ อัศวินกับม้าคู่ใจ ในสนามรบและสนามประลองต่างๆ

สมัยยุคกลาง นอกจากอัศวินจะรับจ้างเป็นองครักษ์ให้กับขุนนางต่างๆ แล้ว ยังมีบทบาทในสงครามครูเสด ต่อต้านชาวมุสลิมในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการจะออกรบแต่ละครั้ง ทั้งอัศวินและม้าคู่ใจต่างมีชุดเกราะประจำกาย ซึ่งปลายยุคกลางนั้นชุดเกราะของทั้งม้าและอัศวิน "Match" กันไม่เบา

ปัจจุบัน ม้าถูกใช้ในการกีฬา ซึ่งศิลปะการบังคับม้าและเทคนิคการขี่อันหลากหลายจากการใช้อุปกรณ์และวิธีควบคุมต่างๆ นั้น มาจากการใช้ม้าในงานสงครามนั่นเอง นอกจากนี้มนุษย์เรายังใช้ประโยชน์จากม้า ทั้งเนื้อ นม หนัง กระดูก ขน รวมถึงปัสสาวะของม้าที่กำลังตั้งท้อง

"ม้าในวรรณคดีไทย"


ในวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง มักจะมี "ม้า" ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในฝ่าย "พระเอก" มากกว่าฝ่ายตัวร้าย ดังตัวอย่างที่ยกมา ดังนี้

"แก้วหน้าม้า" เป้นวรรณคดีไทยเรื่องเดียวที่นางเอกของเรื่องหน้าเหมือนม้า คือ "แก้ว" เป็นสามัญชนในเมืองมิถิลา เนื่องจากใบหน้าค่อนไปทางอัปลักษณ์คือหน้าเมืองม้า คนในเมืองจึงเรียกกันว่า "แก้วหน้าม้า" จนติดปาก วันหนึ่งแก้วเก็บว่าวจุฬาของพระปิ่นทอง โอรสของเจ้าเมืองมิถิลาได้ นางจึงขอเป็นมเหสีของพระปิ่นทองเพื่อแลกกับการคืนว่าวจุฬา จากนั้นเกิดเรื่องชุลมุนขึ้นมากมาย สุดท้ายเรื่องก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

"ม้าสีหมอก" เป็นม้าคู่ใจของขุนแผนในวรรณคดีไทยเรื่อง "ขุนช้าง ขุนแผน" ซึ่งเป็น "ลูกครึ่ง" พ่อเป็นม้าน้ำ ตัวสีหมอก ตาสีดำ ส่วนแม่เป็นม้าเทศ ตัวสีหมอกเองนั้นเป็นม้าแสนรู้ นิสัยซุกซนชอบไล่กัดม้าตัวอื่น ขุนแผนไปเจอเจ้าสีหมอกที่เพชรบุรี มันเชื่องจนลืมเค้าความซุกซนที่เคยมีและตามขุนแผนไปอย่างว่านอนสอนง่าย

"ม้านิลมังกร" ม้าประปลาดตัวนี้เกิดจากจินตนาการของ "สุนทรภู่" กวีเอกของไทย เป็นม้าคู่ใจของสุดสาคร ลูกชายของ "พระอภัยมณี" กับนางเงือก ในเรื่อง "พระอภัยมณี" ซึ่งแม้ว่าตัวของมันจะเป็นม้า แต่หัวกลับเป็นมังกร ตัวมีเกล็ดสีดำ กว่าที่สุดสาครจะได้ม้านิลมังกรมาเป็นพาหนะนั้น ก็ค่อนข้างลำบากทีเดียว เพราะต้อง "ปราบ" โดยใช้ไม้เท้าวิเศษของโยคี จากสัตว์ดุร้ายมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ในที่สุด

ส่วน "ม้าอุปการ" นั้นปรากฏในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ อันมีต้นกำเนิดมาจากแดนภารตะ โดยพิธีอัศวเมธหรือพิธีปล่อยม้าอุปการ เป็นพิธีที่แสดงอำนาจของกษัตริย์อินเดียโบราณ เป็น "เทรนด์" ที่ทำกันรุ่นสู้รุ่น บรรดามหาดเล็กและขุนนางจะจับม้ามาแต่งองค์ทรงเครื่องแบบเต็มยศ แล้วเดินทางไปยังแคว้นต่างๆ โดยมีทหารติดตามไปด้วย ทหารเหล่านี้จะจัดการกับเมืองที่กระด้างกระเดื่อง พอม้าอุปการกลับถึงบ้าน มันก็จะถูกบูชายัญ

ม้าอุปการปรากฏในตอนที่ 3 เมื่อพระรามได้ยินเสียงประลองศรศิลป์ที่ดังสนั่นกึกก้อง จึงปล่อยม้าอุปการไปโดยผูกสาร (ข้อความ) ที่คอม้าว่า "ใครพบม้าอุปการตัวนี้ให้บูชาพระราม ใครขัดขืนถือว่าเป็นกบฏ" จนเป็นเหตุให้พระรามรู้ว่า นางสีดาไม่ได้นอกใจ และมีโอรสด้วยกัน 1 องค์คือ พระมงกุฎ ซึ่งมีฤทธิ์มากกว่าหนุมานเสียอีก


สารพัดเรื่อง ม้า น่ารู้ รับปี มะเมีย


"ป่าหิมพานต์ แหล่งรวมม้าลูกครึ่ง"

ตามความชื่อของพราหมณ์ฮินดู ป่าหิมพานต์ตั้งอยูบนยอดเขาหิมาลัย เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิดทั้งตระกูลนก สิงห์ สิงห์ผสม ปลา ช้าง กิเลน กวาง มนุษย์ จระเข้ ลิง วัว/ควาย แรก สุนัข ปู นาค และม้า ประกอบด้วย ดุรงค์ไกรสร, ดุรงค์ปักษิณ, เหมราอัสดร, ม้า, ม้าปีก, งายไส, สินธพกุญชร, สินธพนที, โตเทพอัสดร, อัสดรเหรา และอัสดรวิหก

"โตเทพอัสดร" สัตว์หิมพานต์ที่เกิดจากการผสมระหว่างม้ากับสิงโต หัวเป็นสิงโต ร่างเป็นม้าสีแสด หางและกีบสีแดงชาด คอ หลังและขนสร้อยคอสีเขียว, "อัสดรเหรา" เกิดจากการผสมระหว่างสัตว์ตระกูลม้ากับเหรา ผิวกายมีสีม่วงอ่อน, "อัสดรวิหก" เกิดจากการผสมระหว่างม้าและนก ร่างเป็นม้ามีสีเหลืองเป็นพื้น หัวเป็นนก ขนคอเป็นสีส้มแดง ปีกสีแดงชาด กีบและหางสีดำ,

"ดุรงค์ไกรสร" เป็นสัตว์ผสมระหว่างม้าและสิงโตเหมือนโตเทพอัสดร ร่างเป็นม้าสีแดง หางสีดำ กีบสีดำเหมือนม้า หัวเป็นสิงที่มีลักษณะสง่า, "ดุรงค์ปักษิณ" เป็นม้าที่มีปีกและหางเหมือนนก กายสีขาวบริสุทธิ์ ขนคอ ปีก และหางสีดำสนิท ซึ่งคล้ายกับ "ม้าปีก" ต่างกันตรงหางซึ่งม้าปีกมีหางเหมือนม้า ส่วนดุรงค์ปักษิณมีหางเป็นนก,

"เหมราอัสดร" กายเป็นม้า หัวเป็นเหม, "งายไส" สัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับม้า หัวเป็นสิงห์มีเขาที่หน้าผาก 2 ข้าง บ้างเชื่อว่ามีหัวเป็นกิเลน, "สินธพกุญชร" กายเป็นม้าสีเขียว หัวเป็นช้าง กีบสีดำเหมือนม้า, "สินธพนที" ตัวเป็นม้าสีขาว ครีบและหางเป็นปลาสีแดงชาด อาศัยอยู่ในน้ำ

"เพกาซัส ม้าปีกจากกรีก"

เพกาซัสเป็นที่จดจำจากร่างกายที่สง่างามซึ่งปกคลุมด้วยขนสีขาวบริสุทธิ์กำยำและปีกที่กว้างเหมือนนกพิราบ ที่ทำให้เหาะเหินเดินอากาศได้

ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่นางเมดูซ่าซึ่งมีงูบนศีรษะเหมือนเส้นผม มองใครแล้วจะกลายเป็นหิน ทันทีที่นางถูกบั่นคอ "เจ้าเพกาซัส" ก็กระโจนออกมา แล้วแผลงฤทธิ์จนไม่มีใคร "เอาอยู่" น้ำที่กระเซ็นจากรอยเท้าของมันทำให้เกิด "น้ำพุฮิปโปครีนี" (Hippocrene) ที่ศิลปินและกวีกรีกชมนักหนาว่าสวยงาม ใครดื่มน้ำจากน้ำพุนี้แล้วโอกาสเป็นกวีอยู่แค่เอื้อม

"ยูนิคอร์น"

ม้ามีเขาในตำนาน ที่บอกไว้ว่าสามารถพบได้ในป่าทางตอนเหนือของยุโรป

เอกลักษณ์ที่สร้างการจดจำ คือ ร่างกายที่แสนสง่างาม พร้อมขนเงางามสีขาวบริสุทธิ์ พร้อมเขาสีขาวที่ม้วนเป็นเกลียวซึ่งงอกออกมาจากหน้าผาก ตรงปลายเป็นสีแดงเลือดหมูซึ่งแหลมคมมาก หากจะจับมันต้องใช้สาวพรหมจรรย์ เพราะจากปกติที่ค่อนข้าดุร้าย มันจะเชื่องเหมือนม้าทั่วไป

โดยมีความเชื่อว่า เขา เลือด และขนของยูนิคอร์นมีคุณสมบัติทางเวทมนตร์

อย่างไรก็ตาม ยูนิคอร์นถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสืออินเดียที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ตอนหนึ่งว่า "ในอินเดียมีลาป่าชนิดหนึ่ง ขนาดใหญ่เท่ากับม้า ลำตัวมันสีขาว ศีรษะสีแดงเข้ม ดวงตาสีน้ำเงิน และมีเขาอยู่บนหน้าผากซึ่งยาวประมาณครึ่งเมตร"

เขาของมันเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความเข้มแข็ง และความเป็นลูกผู้ชาย บ้างก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ บางตำนานเชื่อว่ายูนิคอร์นเป็นสัตว์ที่แทนการเชื่อมโยงของเพศชาย-หญิง โดยเขาบนหน้าผากแทนเพศชาย ลำตัวแทนเพศหญิง ซึ่งอักษรจีนที่หมายถึงยูนิคอร์นนั้นออกเสียงว่า "ki-lin" แปลว่าผู้หญิง-ผู้ชาย

"สาวล่า : ยูนิคอร์นเอเชีย"

สาวล่า เซาล่า หรือวัวหูกวาง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รูปร่างคล้ายแพะผสมเลียงผา ขนสั้นสีน้ำตาลเข้ม มีลายที่หน้าสีขาว มีต่อมใต้คางไว้สื่อสารกับตัวเมีย เป็นสัตว์หายากที่พบเฉพาะในป่าทึบบริเวณชายแดนลาว-เวียดนามเท่านั้น

มันถูกค้นพบครั้งแรกใน พ.ศ.2535 ที่ป่าทึบบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นไม่มีการบันทึกว่าพบอีกเลยจนกระทั่ง 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานพิทักษ์สัตว์ป่านานาชาติค้นพบ ทำให้มีความหวังว่าจะพบสัตว์ประเภทนี้มากขึ้น

สาเหตุที่ถูกเรียกว่า "ยูนิคอร์นเอเชีย" คงมาจากเขาบนหัวที่แหลมและโค้ง ซึ่งยาวประมาณครึ่งเมตรนั่นเอง

"ม้าน้ำ ยอดคุณพ่อ"


จัดเป็นปลาชนิดหนึ่ง แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของมันจะไม่เหมือนปลาเท่าไหร่ แต่มีสิ่งที่ปลาส่วนใหญ่มี คือ ครีบหู ครีบท้อง ครีบหลัง เกล็ดเป็นรูปเกราะทำให้ตัวมันดูตะปุ่มตะป่ำ และหายใจด้วยเหงือก สิ่งที่ต่างไปจากปลาคือไม่มีครีบหาง และสาเหตุที่มันถูกเรียกว่า "ม้าน้ำ" คงมาจากลักษณะหัวของมันที่ปากยาวยื่นคล้ายท่อ

แถมตัวผู้ยังมีถุงหน้าท้องแบบเดียวกับจิ้งโจ้ไว้ฟักไข่และคลอดลูกแทนตัวเมีย (ต่างกันตรงที่จิงโจ้มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับลูกที่คลอดแล้ว)

โดยตัวผู้จะว่ายไปหาตัวเมียแล้วใช้หางเกี่ยวไว้จากนั้นจะแอ่นอกผงกหัวจนปากชิดอก บีบถุงหน้าท้องให้ตัวเมียเห็นข้างในและรู้ว่ามันพร้อมสืบพันธุ์แล้วนะ ถ้าตัวเมียพร้อม มันจะว่ายคู่กันต่อไป หากไม่พร้อมก็สลัดให้หลุดทันที ซึ่งช่วงนาทีทองจะเป็นเวลาตั้งแต่รุ่งเช้าถึงก่อนเที่ยง ม้าน้ำตัวผู้นั้นใช้เวลาอุ้มท้องราว 2 สัปดาห์ และครองคู่จนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง ถึงอย่างนั้นมันก็ใช้เวลานานกว่าจะมีคู่ใหม่ จนเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์

ซึ่งนอกจากจะเป็นยอดคุณพ่อและสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์แล้ว ม้าน้ำยังเป็น "นักอำพรางตัวชั้นยอด" อีกต่างหาก

เพราะสามารถอำพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จนนักล่าต้องผิดหวัง

"อาชาบำบัด"


การใช้สัตว์บำบัดโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นมีมานานแล้ว เช่น ใช้สุนัขฟื้นฟูจิตใจ, ให้สุนัขดมหาอาการเบาหวาน, ปลาโลมาบำบัดโรคซึมเศร้า/สมาธิสั้น, เสียงโลมากระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ และใช้ช้างบำบัดอาการออทิสติก

ม้าเองก็เป็นสื่อกลางในการรักษา/บรรเทาอาการออทิสติกได้เช่นเดียวกันรู้จักกันว่า"อาชาบำบัด"

ผู้บำบัดส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท สติปัญญา อารมณ์ จนไม่สามารถควบคุมการทรงตัว การเคลื่อนไหว การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

จากการที่ม้าเป็นสัตว์ฉลาดจึงสามารถรับรู้ความรู้สึกของเด็กได้มันมักแสดงออกแบบเดียวกับที่เด็กแสดงออกฉะนั้น คนขี่จึงต้องใช้สมาธิสูง มีวินัย ควบคุมร่างกายและอารมณ์ของตัวเองเพื่อไม่ให้ตกจากหลังม้า

ระหว่างนั้นเด็กที่มีปัญหาจะได้เรียนรู้โดยอัตโนมัติว่าจะก้าวร้าวเหมือนเดิมไม่ได้ขณะเดียวกันพ่อแม่หรือคนในครอบครัวยังได้พูดคุยกับเด็ก-สร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ในแง่ของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ความอ่อนโยน และการดูแล

โดยมีม้าเป็นสื่อกลาง

"เสริมฮวงจุ้ยด้วย "ม้า"

จากการที่ม้าเป็นสัตว์ป่าที่ถูกมนุษย์นำมาฝึก ใช้งาน และขยายพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าและความเร็ว ในทางฮวงจุ้ย ม้าจึงหมายถึงความแข็งแกร่ง การเดินทาง การเลื่อนตำแหน่ง ความอุตสาหะ และชัยชนะ รวมถึงแทนคำอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

การจัดวาง "ม้าสามตัว" ช่วยแก้ปัญหาความแตกแยก, ภาพ "ม้าแปดตัว แปดอิริยาบถ" ช่วยเสริมความก้าวหน้าในธุรกิจการค้า การประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว,

หากวาง "รูปปั้นม้าขนาดเล็ก" ไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะส่งเสริมการยอมรับและเลื่อนขั้นในสังคม เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมโดยเฉพาะเพศหญิง ส่วนนักวิชาการต้องวางในทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพราะจะนำความโดดเด่นมาให้ ส่วนนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการได้ทุนการศึกษาต้องวางม้าไว้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน

สิ่งต้องห้ามคือ ห้ามใช้ม้าดำหรือม้าที่ยกขาคู่หน้าที่มีลักษณะเหมือนม้าพยศ ให้ใช้ "ม้าคู่สีขาว" ห้ามวางม้าหันหน้าออกจากประตูทางเข้า ไม่ตั้งม้าประจันหน้าโต๊ะทำงานและห้ามวางหลังโต๊ะทำงาน

"ม้าป่า ตำนานแดนอินทรีย์"


มัสแตงหรือม้าป่าดั้งเดิมของทวีปอเมริกานั้นสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ช่วง 8,000-10,000 ปีก่อน ส่วนม้าป่าที่เห็นวิ่งขนพลิ้วในทุ่งหญ้าของอเมริกาในสารคดีนั้น สืบเชื้อสายมาจากม้าของกองทหารสเปนที่นำมาใช้งานในช่วง ค.ศ.1500 ซึ่งใน พ.ศ.2536 ได้มีการขุดค้นพบซากม้าอายุ 25,000 ปีชื่อ "EQUUS LAMBEI" ซึ่งไม่แตกต่างไปจากม้าป่ามัสแตงเลยในปัจจุบัน

มัสแตงเป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นฝูงที่มีหัวหน้าเป็นตัวผู้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องฝูงส่วนตัวเมียในฝูงมีหน้าที่ออกหากินลูกม้าที่คลอดใหม่จะอยู่ในฝูงกระทั่งอายุ1-2 ปี ลูกม้าตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูง ส่วนลูกม้าตัวเมียจะไปรวมฝูงอื่น จากการที่ยึดหลักอาวุโสนี่เอง ก่อนที่ลูกม้าจะออกจากฝูง มันจะสั่งสอนและลงโทษตัวที่ดื้อด้วยการงับหูหรือไม่ก็เตะเบาๆ ขณะเดียวกันมันยังแสดงความรักด้วยการเอาคอถูกันไปมา

ซึ่งการที่ม้าตัวเมียวัย 1-2 ปีไปเป็น "สะใภ้" ฝูงอื่นนี่เอง จึงเกิดการกระจายยีนส์จนร่างกายแข็งแกร่งและทนทานต่อสภาพแวดล้อม และเป็นสัญลักษณ์ของภาคตะวันตกของอเมริกาด้วย

จากความดุดัน รวดเร็ว ปราดเปรียว แข็งแรง กำยำ สง่างาม และสามัคคีของม้าป่าจากแถบตะวันตก ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนลุงแซมอย่าง "ฟอร์ด" ได้ใช้ชื่อ "มัสแตง" เป็นชื่อเรียกรถสปอร์ตของค่ายตั้งแต่ พ.ศ.2507 กระทั่งปัจจุบัน

"ม้าเหงื่อโลหิต"

จีนนั้นเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นม้ายาวนานกว่า5,000ปี จึงมีตำนานมากมาย หนึ่งในตำนานนั้นคือ "ม้าเหงื่อโลหิต" ทว่าเรื่องราวยังคงเป็นตำนานกระทั่งกุมภาพันธ์ 2554 ที่ขุดพบกระดูกม้าในหลุมพลีกรรม ภายในสุสานของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ เมืองซิงผิง มณฑลส่านซี

จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้เป็นผู้เปิดเส้นทางสายไหมที่เชื่อมเอเชียกับยุโรปในสมัยโบราณด้วยการค้าในช่วง139ปีก่อนคริสตกาลหลังจากที่พระองค์ครองราชได้เพียง 16 ปีก็ดำริให้สร้างสุสานของพระองค์ขึ้น ประกอบด้วยหลุมพลีกรรมกว่า 400 หลุม มากกว่าที่สุสานของจิ๋นซีฮ่องแต้ ผู้สร้างกำแพงเมืองจีนเสียอีก จากการที่สุสานมีขนาดใหญ่มากนี่เอง จึงใช้เวลาสร้างถึง 53 ปี

หยัง อู่จั้น นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดีประจำมณฑลส่านซี บอกว่า ทีมงานเริ่มขุดที่สุสานนี้ตั้งแต่กันยายน 2551 กระทั่งย่างสู่วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ขุดเจอหลุมที่เป็นโพรงขนาดใหญ่ 2 แห่ง ภายในแต่ละโพรงประกอบด้วยอุโมงค์แกะสลัก 20 ห้อง แต่ละห้องมีม้า 2 ตัวกับทหารดินเผา 1 ตัวยืนเฝ้ายาม หลังจากที่หยังตรวจสอบ พบว่าเป็นซากของม้าตัวผู้ที่โตเต็มวัย

หยังบอกว่า ในตำนานจักรพรรดิอู่ตี้จะพระราชทานรางวัลอย่างงามแก่ผู้ที่สามารถหา "ม้าเหงื่อโลหิต" จากเอเชียกลางมาถวายพระองค์ ซึ่งม้าพันธุ์นี้เป็นสัตว์หายากในจีน

ในบทกวีที่องค์จักรพรรดิประพันธ์บอกว่า "ม้าเหงื่อโลหิต เป็นม้าจากสรวงสวรรค์" ด้วยฝีเท้าที่รวดเร็วจนเลื่องลือไปทั่วปฐพี ทั้งยังอดทนไม่เป็นรองใคร ที่มาแห่งสมญานามมาจากขณะที่มันควบอยู่นั้น จะมีเหงื่อเป็นเลือดเหลวๆ ออกมาจากรูขุมขน

ซึ่งม้าเหงื่อโลหิตในตำนาน คือ "ม้า Akhal-Teke" สายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในเติร์กเมนิสถาน โดย Akhal แปลว่า บริสุทธิ์, Teke ชื่อเผ่าในเติร์กเมนิสถาน, Akhal-teke จึงแปลว่า สายเลือด Teke บริสุทธิ์ ทั้งยังเชื่อว่าเป็นม้าคู่ใจของเจงกิสข่าน จักรพรรดิแห่งมองโกล ซึ่งควบม้าพิชิตดินแดนต่างๆ จนสามารถสถาปนา "จักรวรรดิมองโกล" ที่ยิ่งใหญ่

"ม้าหมุน"


ความสุขวัยเด็กนั่นหาได้และหาง่ายเสมอ หนึ่งในสิ่งสร้างสุขที่สร้างความตื่นเต้นระทึกใจ คือ "ม้าหมุน" เจ้าประจำงานวัด ปัจจุบันมักเจอะในงานวัดหรือสวนสนุก

ม้าหมุนเป็นเครื่องเล่นยอดนิยม เกิดขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 19 มีลักษณะคล้ายตะกร้า มีเสาแกนอยู่ตรงกลาง โดย "ม้าไม้" ที่นั่งนั้นได้ไอเดียจากสงครามครูเสด ผสมกับเกมของชาวอาหรับและตุรกีช่วงศตวรรษที่ 12 หลังจากนั้นจึงมีสัตว์อื่นๆ เพิ่งขึ้นมา ทั้ง ช้าง นก หงส์ เป็ด ปลา ฯลฯ รวมถึงตัวการ์ตูนยอดฮิตอย่างแมวทอม หนูเจอรี่ ช้างน้อยจัมโบ้ และแมวโดเรม่อน เป็นต้น

แต่ความอลังการของม้าหมุนบ้านเราแน่นอนว่าสู้ของในประเทศต้นกำเนิดไม่ได้แน่นอน

"ยาม้า"


ยาม้าเป็นยาเสพติดที่มาจากสารสังเคราะห์แอมเฟตามีน เมื่อกินเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แก้ง่วง และขยันทำงานจนมีอีกชื่อว่า "ยาขยัน"

จากการที่กินแล้ว "คึก" เหมือน "ม้า" และ "ขยัน" ทำงานจนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนถูกเรียกว่า "ยาม้า" นี่เอง ทำให้มันระบาดหนักแม้จะสร้างผลเสียกับร่างกายมหาศาล แม้ตำรวจจะเอาจริงเอาจังอย่างไร แต่มันก็ไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียที

กระทั่ง พ.ศ.2539 ที่นายเสนาะ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ยาม้าหมดไปจากสังคมไทย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "ยาบ้า" ที่มีภาพพจน์แย่กว่า

ก็ไม่รู้สินะ เพราะทุกวันนี้ยาบ้าหรือยาม้ายังแพร่ระบาดในสังคมไทย ทั้งยังมีการคิดค้นสูตรใหม่ซึ่งให้ผลแรงกว่า ราคาถูกกว่า แต่นั่นก็สร้างผลเสียกับร่างกายและสังคมไม่น้อยไปกว่าเดิมเลย



ที่มา : นสพ.มติชน

สารพัดเรื่อง ม้า น่ารู้ รับปี มะเมีย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์