ทำไม “ วันมาฆบูชา ” จึงเป็น “ วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา ”


วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา เนื่องมาจากหลักธรรม “ โอวาทปาฏิโมกข์” ที่ทรงแสดงในวันนั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรัก อันเป็นความรักที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม ปรารถนาดีต่อกัน เว้นจากทุจริต




คำว่า "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญ กลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (อยู่ในระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน (ปีอธิกมาส) วันมาฆบูชา จะเป็นเพ็ญเดือน ๓ หลัง (หรือ วันเพ็ญเดือน ๔)

วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ

         ๑.พระสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกันทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ณ วัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
         ๒.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" (ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง)
         ๓.พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็น "พระอรหันต์" ผู้ทรงอภิญญา ๖
         และ ๔.วันดังกล่าวตรงกับ วันเพ็ญมาฆปุรณ มีดิถีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔


ทำไม “ วันมาฆบูชา ” จึงเป็น “ วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา ”


สมัยก่อนยังไม่มีการประกอบ พิธีมาฆบูชา ในเมืองไทย มาจนถึงในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งพุทธกาล ในวันเพ็ญเดือน ๓ ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์สำคัญอย่างยิ่ง สมควรให้มีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยประกอบพระราชพิธีคล้ายกับ "วันวิสาขบูชา" คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีป เป็นพุทธบูชา ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่างๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรก "พิธีมาฆบูชา" เป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาได้แพร่ขยายกว้างออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบัน "วันมาฆบูชา" ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมภาวนา ฯลฯ เพื่อเป็นการสักการบูชา รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็น "หัวใจของพระพุทธศาสนา" อันได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และ การทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

         นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ "วันมาฆบูชา" เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" หลายหน่วยงานได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ "วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์" อย่างแท้จริง


ทำไม “ วันมาฆบูชา ” จึงเป็น “ วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา ”


โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดพระเวฬุวัน ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมาเป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)


สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธาน สาสนํฯ

         
        ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

        นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

        น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

        สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

คำแปลคาถาแรก : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย


คำแปลคาถาที่สอง
:
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ


คำแปลคาถาที่สาม
:
การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ทำไม “ วันมาฆบูชา ” จึงเป็น “ วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา ”

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์