บริหารเงินอย่างไรเมื่อเริ่มทำงาน


เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน นอกจากความทุ่มเทให้กับการทำงาน และศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำงานแล้ว การบริหารเงินที่ได้รับจากการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บออมเงินที่ได้รับจากการทำงาน การวางแผนซื้อบ้านและรถให้เหมาะกับตัวเรา และการวางแผนภาษีค่ะ

ทำอย่างไรให้เก็บเงินอยู่

ปัญหาหนึ่งที่ผู้เริ่มทำงานมักจะเจอคือ การเก็บเงินไม่อยู่ ใช้เงินเดือนชนเดือน หรือแย่กว่านั้น บางคนอาจถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินกันเลยก็มี สาเหตุที่ทำให้เก็บเงินไม่อยู่คือ รายจ่ายที่สูงกว่ารายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเริ่มทำงานที่รายได้อาจยังไม่สูงมากนัก แต่รายจ่ายกลับมีมากมาย ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือค่าสังสรรค์กับเพื่อน การปรับลดค่าใช้จ่ายเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เรารู้ว่า ในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายส่วนไหน ยกตัวอย่างเช่น หากเราหมดเงินไปกับค่าเสื้อผ้าหรือค่าสังสรรค์ การปรับลดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ลดการเดินในแหล่งชอปปิงหรือเที่ยวกับเพื่อนให้น้อยลง ก็จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้นได้ค่ะ

เมื่อเริ่มมีเงินเหลือในแต่ละเดือนแล้ว การเก็บเงินให้อยู่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ โดยการหักเงินเพื่อออมก่อนใช้จ่ายในแต่ละเดือน เป็นวิธีที่จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บได้ โดยสามารถเริ่มจากการออม 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน หากเพิ่งเริ่มออม แนะนำให้ออมในเงินฝากหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเป็นเงินสำรองเผื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เมื่อออมเงินส่วนนี้จนครบแล้ว ค่อยนำเงินออมในแต่ละเดือนไปลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทน ถ้าเพิ่งเริ่มลงทุนไม่นาน อาจเริ่มจากการลงทุนในกองทุนรวม เพราะมีสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนหลากหลาย และมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารเงินลงทุนของเราให้ค่ะ


บ้านหรือรถ ซื้ออะไรก่อนดี

สำหรับคำถามที่ว่า จะซื้อบ้านหรือรถก่อนดีนั้น เชื่อว่า คงไม่มีคำตอบตายตัวค่ะ เพราะแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากงานของเราเกี่ยวข้องกับการไปพบปะลูกค้าในสถานที่ต่าง ๆ การซื้อรถเพื่อใช้ในการทำงานก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการซื้อบ้าน ในทางกลับกัน หากเราเป็นคนต่างจังหวัด แล้วได้งานในกรุงเทพฯ การตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดมีเนียมในกรุงเทพฯ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าการซื้อรถค่ะ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วการซื้อบ้านก่อนซื้อรถจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะเมื่อจ่ายเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อบ้านหรือรถแล้ว มูลค่าของบ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ามูลค่าของรถ นอกจากนี้ การใช้รถมักตามมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าประกันภัยรถ และค่าบำรุงรักษาค่ะ

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า จะซื้อบ้านหรือรถ ขั้นตอนต่อมาคือ การเลือกขนาดของบ้านและรถ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและรถ ในการขอสินเชื่อเราควรประเมินว่า มีความสามารถในการผ่อนได้มากน้อยแค่ไหน โดยภาระผ่อนสินเชื่อทั้งหมดไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน รวมถึงควรพิจารณาความมั่นคงในหน้าที่การงานด้วย เนื่องจากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นการผ่อนสินเชื่อระยะยาว โดยทั่วไป รถผ่อนประมาณ 4-7 ปี ส่วนบ้านผ่อนประมาณ 20-30 ปี ดังนั้น ก่อนซื้อบ้านหรือรถ อย่าลืมพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ เพื่อมิให้บ้านหรือรถต้องกลายเป็นภาระการเงินของเราในอนาคตค่ะ


วางแผนภาษีอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด

การวางแผนภาษีนับว่าเป็นเรื่องใหม่ของคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยปกติแล้ว สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน หากรายได้ทั้งปีมากกว่า 240,000 บาท และไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็จะต้องเริ่มเสียภาษี หากต้องการลดภาระภาษี เราก็ควรทำความรู้จักกับค่าลดหย่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนจากสมาชิกในครอบครัว เช่น ค่าลดหย่อนบิดามารดา และค่าลดหย่อนบุตร หรือค่าลดหย่อนจากการออมและลงทุน เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิต เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานในปีแรก แล้วไม่มีภาระภาษีเกิดขึ้น ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่า ตนเองไม่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91) นะคะ เพราะจริง ๆ แล้ว กฎหมายกำหนดว่า หากเรามีรายได้ที่เป็นเงินเดือน (รายได้ตามมาตรา 40(1)) ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปีขึ้นไป จำเป็นต้องยื่นแบบภ.ง.ด. 90 หรือ 91 ด้วย โดยหากมีรายได้เฉพาะเงินเดือน (รายได้ตามมาตรา 40(1)) ต้องยื่นแบบภ.ง.ด. 91 แต่หากมีรายได้ประเภทอื่นด้วย ก็ต้องใช้แบบภ.ง.ด. 90 ค่ะ

หวังว่า 3 เทคนิคบริหารเงินที่นำมาแนะนำข้างต้น จะช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาวค่ะ


บริหารเงินอย่างไรเมื่อเริ่มทำงาน


ธนาคารกสิกรไทย
K-Expert@kasikornbank.com



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์