แผลเป็นของ คิม ฟุก

 
แผลเป็นของ คิม ฟุก


วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เด็กหญิงวัยเก้าขวบคนหนึ่งนาม คิม ฟุก กำลังวิ่งเล่นอยู่ในหมู่บ้านของเธอเมื่อฝูงเครื่องบินมาถึง เสียงระเบิดกัมปนาทแผดดังกว่าสายฟ้าและเสียงหวีดร้องของผู้คน ระเบิดเพลิงโหมทำลายทุกสิ่งที่มันสัมผัส ชาวบ้านหนีตายกันชุลมุนราวนรกแตก

เด็กหญิงวัยเก้าขวบหวีดร้องด้วยความตกใจสุดขีด เธอและเด็กคนอื่นๆ วิ่งหนีระเบิดสุดชีวิต แต่ คิม ฟุก ก็หนีไฟนาปาล์มไม่พ้น ร่างกายเธอถูกไฟไหม้รุนแรง

ช่างภาพคนหนึ่งของสำนักข่าว เอพี. อยู่ที่ตรงนั้นพอดี เขาบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ทำให้โลกตะลึง เป็นภาพเด็กหญิงร่างเปลือยเปล่าหวีดร้องขณะวิ่งหนีระเบิดนาปาล์ม ภาพนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงของสงคราม สร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคนที่ยังมีหัวใจ


เป็นปีที่สิบสามของสงครามเวียดนาม การรบกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น หมู่บ้าน ตรัง บัง ของ คิม ฟุก เป็นหนึ่งในหลายร้อยหมู่บ้านที่อยู่ในความครอบครองของเวียดกง และเป็นเป้าแห่งการทำลายล้าง แต่ คิม ฟุก เป็นหนึ่งในน้อยคนที่รอดชีวิตมาได้จากสถานการณ์แบบนั้น

หมอบอกว่าร่างกายเธอถูกไหม้ในระดับอันตรายและไม่คิดว่าเธอจะรอดชีวิต ทว่าหลังจากสิบสี่เดือนในโรงพยาบาล และการผ่าตัดสิบเจ็ดครั้ง เธอก็มีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้





หลายปีหลัง เมื่อถูกถามว่าในวันนั้นเธอพูดว่าอะไร เธอตอบว่า “ฉันร้องว่า ‘มันร้อนมากๆ’ ”

คิม ฟุก อยู่ในเวียดนามจนโตเป็นผู้ใหญ่ สงครามเวียดนามยุติลง เธอเป็นหนึ่งในจำนวนมหาศาลของบาดแผลแห่งสงคราม

เธอขออนุญาตรัฐบาลไปเรียนต่อที่คิวบา กลายเป็นชาวคริสต์ และที่นั่น เธอพบว่าที่สามีของเธอ ทั้งสองแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2535 ขณะที่โดยสารเครื่องบินเดินทางไปฮันนีมูน ระหว่างที่เครื่องบินเติมน้ำมันที่แคนาดา ทั้งสองก็หลบหนีออกจากเครื่องบิน และขอลี้ภัยทางการเมืองที่แคนาดา


สี่ปีต่อมา คิม ฟุก กล่าวสุนทรพจน์ที่อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกเวียดนามในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. เธอกล่าวว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตก็จริง แต่สามารถสร้างอนาคตแห่งสันติภาพได้ คิม ฟุก เริ่มคิด สงครามไม่เคยสิ้นสุด เมื่อสิ้นสงครามหนึ่งก็เกิดสงครามใหม่ ราวกับว่ามนุษย์เป็นชาติพันธุ์ที่ถูกสาป ไม่มีความสามารถอยู่อย่างสันติได้สักวันเดียว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหประชาชาติประมาณว่ามีเด็กๆ หกล้านคนตาย บาดเจ็บ และพิการในสงคราม โลกยังระอุด้วยสงครามและอาวุธร้าย กับระเบิดนอนสงบอยู่ใต้ดินของ 68 ประเทศทั่วโลก ทุกวันโลกยังคงได้ยินเสียงร้องว่า “มันร้อนมากๆ”

หนึ่งปีถัดมา เธอก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วโลกโดยเชื่อมกับองค์การอื่นๆ เพื่อสันติภาพ เป็นองค์กรไม่หวังกำไร

เธอไม่ต้องการให้ชาวโลกจดจำภาพถ่ายนั้นในฐานะประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม แต่อยากให้มันเตือนใจให้ผู้คนร่วมใจโอบรับสันติภาพ ภาพนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อชาวโลกเรียนรู้คุณค่าของชีวิตและความปรองดองกัน

บาดแผลของสงครามไม่อาจลบล้างได้ง่ายๆ แต่หากไม่เรียนรู้ความเจ็บช้ำของมัน และเรียนรู้ความอ่อนแอของเรา โลกคงยากก้าวไปสู่วันที่สิ้นสุดเสียงร้องว่า “มันร้อนมากๆ”


หลังกล่าวสุนทรพจน์ในวันนั้น ทหารผ่านศึกคนหนึ่งขอพบเธอ เขาชื่อ จอห์น พลัมเมอร์ สารภาพว่าเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดในวันนั้น เขาขอให้เธอยกโทษให้เขา

เธอกล่าวกับเขาว่า
“ฉันให้อภัยคุณ”


บทความโดย........วินทร์ เลียววาริณ



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์