‘ผักดิบ’ กินมากไปก็เป็นโทษ

อย่างที่รู้กันว่า "ผัก" คืออาหารที่มีประโยชน์มากมาย จะกินแบบที่ยังเป็นผักดิบหรือปรุงสุกก็อร่อยได้คุณค่า เพียงแต่ต้องรู้จักวิธีกินผักดิบเหล่านั้นให้ได้ประโยชน์ค่ะ ดังเช่น

ถั่วงอก เรากินกันทั้งแบบสุกและดิบ ใส่ในก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย หรือนำไปผัด กินแกล้มกับขนมจีนน้ำยา ฯลฯ ซึ่งในถั่วงอกนั้นมีทั้งโปรตีน วิตามินซี วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และเลซิธิน ทั้งหมดนี้เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากว่าจะเลือกกินถั่วงอกดิบก็ควรจะกินในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น เพราะในถั่วงอกดิบมีสารไฟเตด ที่จะส่งผลในการขัดขวางการดูดซึมสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย

ถั่วฝักยาว มีเส้นใยอาหารสูง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี โปรตีน และมีธาตุเหล็ก แต่ถ้ากินถั่วฝักยาวดิบ ก็ไม่ควรกินเยอะเกินไป เพราะในถั่วฝักยาวดิบจะมีแก็สสูง โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งอาจทำให้ท้องอืดได้ เนื่องจากกระบวนการในการย่อยเมล็ดและเปลือกของถั่วฝักยาวโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่

ผักตระกูลกะหล่ำปลี ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี ในผักกลุ่มนี้จะมีสารกอยโตรเจน ซึ่งจะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย ในระยะยาวอาจจะเป็นโรคคอพอกได้ แต่ในระยะสั้น หากกินมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดเพราะอาหารไม่ย่อย

หน่อไม้-มันสำปะหลัง จะมีสารไซยาไนด์ ในรูปของ ไกลโคไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มึนงง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดทำงานได้ ฉะนั้นควรจะนำไปปรุงสุก หรือนำไปต้มน้ำทิ้งก่อนนำมาปรุงอาหารต่อไป

สำหรับผักที่บอกมานี้ หากกินดิบในปริมาณที่พอเหมาะ ก็ไม่ได้เป็นพิษต่อร่างกาย การจะส่งผลเสียต่อร่างกายนั้น จะต้องกินผักชนิดนั้นๆ อย่างเดียว ในปริมาณมากเป็นกิโลกรัม หรือหลายๆ กิโลกรัม หลายๆ วันติดกัน แต่หากกินตามปกติในชีวิตประจำวัน กินผักหลายๆ ชนิดสลับกันไป ผักต่างๆ ก็จะกลับมาเป็นประโยชน์ให้กับร่างกายของเรา

‘ผักดิบ’ กินมากไปก็เป็นโทษ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์