`โรคภัย กับ การกิน`เรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม


`โรคภัย กับ การกิน`เรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม

 
 ปัญหา "โภชนาการเกิน" กำลังสร้างความปวดหัวในหลายประเทศทั่วโลก เช่นในเดือนกันยายน ปี 2555 

คณะกรรมการสาธารณสุขนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกประกาศห้ามมิให้ใช้แก้วขนาดเกิน 16 ออนซ์ (470 มล.) จำหน่ายน้ำอัดลม ซึ่งแม้ว่าใน ปี 2556 ศาลจะพิพากษาให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะก็ตาม แต่นั่นเป็นเครื่องชี้วัดว่า โรคอ้วน เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล

          ไม่เฉพาะโรคอ้วนเท่านั้น สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2555 มีผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยโรคความดันโลหิตสูง 1,009,385 ราย เสียชีวิต 3,684 ราย โรคหัวใจขาดเลือด 274,753 ราย เสียชีวิต 15,070 ราย โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต 227,848 ราย เสียชีวิต 20,368 ราย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็ม) มากเกินไป บริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ และขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

          นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงานประชุมการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการ ณ โรงแรมอมารีดอนเมืองแอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2557 ที่ผ่านมา ว่าจากวิกฤติดังกล่าว กรมอนามัยจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันโรคเหล่านี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ทั้งประกอบการ เจ้าหน้าที่เครือข่าย และผู้บริโภคมีความรู้ด้านการบริโภคอย่างถูกต้อง

          "การจัดการประชุมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์อนามัย และผู้ประกอบการอาหาร ดำเนินงานเผยแพร่

ประชาสัมพันธ์ความรู้สู่ประชาชนให้เกิดความตระหนักในการบริโภคอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เช่น การกินอาหารที่มากเกินไป การกินอาหารไม่ได้สัดส่วน การกินอาหารหวาน มัน เค็มมากเกินไป ขาดการออกกำลังกายและมีภาวะเครียด ที่ส่งผลต่อสุขภาพ จนนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

          ข้อมูลจาก "คู่มือคนไทย..ขยับกับกิน" จัดทำโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการใช้ชีวิตที่ทำให้คนไทยอ้วนขึ้น (แต่ไม่แข็งแรง) 6 ประการ ประกอบด้วย 1. กินแล้วนอน เพราะอาหารกินแล้วให้พลังงาน เมื่อมีพลังงานก็ต้องเผาผลาญผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่การกินแล้วนอนทำให้ไม่ได้ใช้พลังงาน ทำให้เกิดการสะสมไขมัน นานวันเข้าน้ำหนักตัวก็เพิ่ม เป็นโรคอ้วนในที่สุด

          2. กินจุบจิบ หรือนิสัยชอบพกพาของว่างไว้รับประทานตลอด เวลาระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้โดยปกติหากกินให้อิ่มได้ใน 3 มื้อ ก็คือว่าเพียงพอแล้วสำหรับพลังงานในแต่ละวัน แต่คนสมัยนี้มักติดนิสัยหาขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมไว้ใกล้ตัว เช่น ขณะชมรายการโทรทัศน์หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น พฤติกรรมนี้ถ้าทำเป็นประจำจะกลายเป็นภาวะเสพติดที่เลิกได้ยาก รู้สึกตัวอีกทีก็น้ำหนักพุ่งขึ้นไปมากเสียแล้ว

          3. รีบกินรีบเคี้ยว หลายคนอาจงงว่าเกี่ยวด้วยหรือ? ในทาง การแพทย์พบว่ามนุษย์เราจะมีเวลารับประทานอาหารอยู่ประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นจะรู้สึกอิ่ม ทำให้หากยิ่งเคี้ยวและกลืนอาหารเร็วเท่าไร ร่างกายก็จะมีเวลาเหลือในการรับประทานอาหารมากขึ้น ผลคือใน 20 นาทีนี้บางคนอาจเผลอกินเข้าไปมากกว่าที่ร่างกายต้องการก็ได้ ดังนั้นหากมิได้มีภารกิจเร่งด่วนจริงๆ ขนาดที่ต้องกินให้เสร็จไวๆ แล้ว ลุกจากโต๊ะทันที ก็ควรค่อยๆ กินช้าๆ เพื่อป้องกันมิให้รู้สึกอยากอาหารจนกินเกินจำเป็น อันทำให้เกิดโรคอ้วนได้จะดีกว่า

          4. ไม่กินเพราะกลัวอ้วน เป็นสิ่งที่มักถูกสอนต่อๆ กันมาใน หมู่สุภาพสตรีทั้งหลาย ว่าการงดอาหารบางมื้อสามารถลดความอ้วนได้ น่าเสียดายว่านั่นคือความเชื่อที่ผิด เพราะในความเป็นจริงเมื่อคุณงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เมื่อถึงมื้อต่อไปคุณจะรับประทานมากขึ้นกว่า ปกติเป็นเท่าตัว สืบเนื่องจากร่างกายต้องแบกรับภาวะหิวมาเป็นเวลานาน และหากทำบ่อยๆ จะทำให้ใบหน้าและผิวพรรณโทรมเร็ว เพราะเมื่อคุณอดอาหาร ร่างกายจะนำน้ำและโปรตีนที่สะสมไว้มาใช้ ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อสูญเสียไป นอกจากนี้ยังทำให้เป็นโรคกระเพาะอีกด้วย

          5. กินเพราะเสียดาย บางคนอาจมีนิสัยเห็นคนใกล้ตัวกินอาหารเหลือแล้วรู้สึกเสียดาย จึงขอเก็บส่วนที่เหลือมากินจนหมด กลายเป็นว่าคุณเป็นผู้เสียสละรับเคราะห์โรคอ้วนไปเต็มๆ ดังนั้นใคร มีนิสัยแบบนี้ก็ขอให้ปลงเสียบ้าง เขาจะกินเหลือทิ้งก็ให้เป็นนิสัยไม่ดี ของเขาไปเถิด เราไม่จำเป็นต้องไปรับภาระนั้นมาแบกไว้ เพราะถึงเราทำ ไปก็ไม่ได้ทำให้เขาเลิกกินเหลืออยู่ดี แต่จะได้ปัญหาสุขภาพมาแทน

          6. กินตามกิเลส โดยเฉพาะตามงานเลี้ยงประเภทบุฟเฟ่ต์ทั้งหลาย อาหารสารพัดชนิดกระตุ้นความอยากรับประทาน หลายท่านจึงตักมาทุกอย่างและตักมาเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งหากรับประทานจนหมดก็จะ เกินความต้องการของร่างกาย เป็นสาเหตุของความอ้วนอีกประการหนึ่ง หรือหากรับประทานไม่หมด คนรอบข้างอาจมองว่าเราไม่มีมารยาทใน การรับประทานบุฟเฟ่ต์ก็เป็นได้ ดังนั้น ขอให้ทุกท่านกินแบบมีสติ ตักอาหารแต่พออิ่มจะดีกว่า นอกจากไม่เสียภาพลักษณ์แล้วยังห่างไกล โรคอ้วนอีกด้วย

เชื่อว่าทั้งหมดนี้หลายท่านน่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว เช่นกินหวาน-กินมัน มากไปจะอ้วน ซึ่งจะตามมาด้วยโรคความดันและเบาหวาน หรือกินเค็ม มากไปจะเป็นโรคไต รวมทั้งไม่มีวิธีใดลดความอ้วนได้ดีกว่าการควบคุม พฤติกรรมการกินและหาเวลาออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่อาจหลงลืมไปเพราะเห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่า เช่น การทำงานมากๆ เพื่อหวังว่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจนลืมดูแลสุขภาพ ท้ายที่สุดเมื่อร่างกายอ่อนแอจนเป็นโรคเรื้อรังแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับการรักษา ก็มักจะมากกว่าที่หาได้เสมอ จนรู้สึกว่า..รู้อย่างนี้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงไว้ก่อนดีกว่า

เข้าทำนอง "มีเงินแต่ไม่ได้ใช้" เพราะหารายได้จนล้มป่วย หรือไม่ก็ตายไปเสียก่อน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์