บนชั้นที่ 15 ของอาคารสูงแห่งหนึ่งในฮ่องกง ได้เกิดฟาร์มเลี้ยงปลาของบริษัท “โอเชียเนติกส์” ฟาร์มเลี้ยงปลาบนตึกสูง
เลี้ยงปลาเก๋าในถัง ติดตั้งระบบน้ำจำลองสภาพทะเลลึก โดยใช้น้ำเค็ม 80,000 ลิตร เลี้ยงปลาทั้งหมด 11 ถัง และมีพนักงาน 6 คนฟาร์มปกติทั่วไป จะเลี้ยงปลาในทะเล แต่ฮ่องกงมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ไม่มีพื้นที่เพียงพอ สำหรับเลี้ยงปลาตามปกติ
แม้ต้องใช้การลงทุนสูง แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากคนฮ่องกงนิยมบริโภคปลามากกว่า 70 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี
มากกว่าการบริโภคปลาของคนอเมริกันถึง 10 เท่า และมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละสัปดาห์บริษัทฯขายปลา 2 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 3,200 บาท
นอกจากนี้ “โอเชียเนติกส์” สามารถขายเทคโนโลยีระบบรีไซเคิลน้ำ เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลา ให้กับหลายบริษัทในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งร่วมกับรัฐบาลเกาหลีใต้ ทำการพัฒนาการเลี้ยงปลาแนวตั้งต่อไป
จากกระแสความไม่มั่นใจในคุณภาพอาหาร ซึ่งนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้นายออสเบิร์ต ลัม มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นเหตุให้เกิด “ฮ่องกงซิตี้ฟาร์ม” เพื่อปลูกผักออร์แกนิกบนหลังคาอาคาร 14 ชั้น โดยเช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 100ตารางเมตรในราคา 190 ดอลลาร์ต่อเดือน กลางย่านควอร์รี่เบย์ เขตธุรกิจสำคัญของฮ่องกง
ปัจจุบันมีลูกค้าประจำรับซื้อผัก 30 ราย นอกจากนายลัมแล้ว ยังมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรคนเมืองอีกมาก ส่วนใหญ่เพิ่งมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมด้วยความรู้ด้านการเกษตร
ความนิยมในธุรกิจการเกษตรบนตึกสูงของฮ่องกง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปลูกผักเท่านั้น แม้แต่การผลิตน้ำผึ้งก็เป็นไปได้
เมื่อไมเคิล เหลียง เจ้าของธุรกิจ “ฮ่องกงฮันนี่” ได้เช่าที่ดินบนตึกสูงหลายแห่ง เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงผึ้ง รังผึ้งของเขาจะถูกติดไว้กับต้นมะละกอ ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเกาะฮ่องกง ดังนั้นเขาจึงต้องมองหาดาดฟ้าที่มีต้นมะละกอปลูกอยู่ เพื่อขอเช่าต้นมะละกอสำหรับการเลี้ยงผึ้ง
อย่างไรก็ดีน้ำผึ้งซึ่งเป็นผลิตผลจาก “ฮ่องกงฮันนี” นั้นมีรสและกลิ่นที่แรง อาจมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของดอกไม้ท้องถิ่นฮ่องกงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโหระพาจีน ซึ่งเป็นพืชที่นิยมปลูกในฮ่องกง เนื่องจากคุณภาพน้ำผึ้งของ “ฮ่องกงฮันนี” มีคุณภาพดี จึงทำให้น้ำผึ้งโถเล็ก ขายได้ในราคาถึงโถละ 960 บาท
การเกษตรแนวตั้ง หรือ บนอาคารสูงของฮ่องกงนั้น แม้ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 2 ของตลาดสินค้าเกษตรออร์แกนิค
แต่ก็เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามอง และเป็นการกดดันผู้ส่งสินค้าออร์แกนิครายใหญ่ ซึ่งปลูกสินค้าเกษตรในบริเวณชายแดนจีนและฮ่องกงทางอ้อม
เพราะหากยังนิ่งนอนใจ ไม่พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ในไม่ช้าสินค้าเกษตรแนวตั้งของฮ่องกง อาจเข้ามาทดแทนสินค้าเกษตรจากพื้นที่ราบของจีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นได้