วิธีตรวจฟันด้วยตนเอง

    วิธีตรวจฟันด้วยตนเอง 

    การตรวจช่องปากด้วยตนเอง เป็นวิธีการเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพฟันและเหงือก สามารถปฏิบัติได้ง่าย และประหยัดเวลา โดยใช้อุปกรณ์เพียงกระจกเงาส่องหน้าธรรมดา อาจจะใช้กระจกเงาเล็ก ๆ อีกหนึ่งอัน ช่วยสะท้อนให้เห็นบริเวณที่มองเห็นตรง ๆ ไม่ได้

    การตรวจฟันควรทำหลังจากแปรงฟันเสร็จแล้ว การตรวจนี้จะทำให้เราเห็นว่าเราแปรงฟันได้สะอาดจริงหรือไม่ มีฟันที่เริ่มมีรอยดำ หรือเป็นจุดแล้วบ้างหรือไม่ หรือเหงือกบริเวณไหนมีการบวมแดงอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งหากพบปัญหาจะได้รีบแก้ไขก่อนที่จะมีอาการรุนแรง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และไม่ทรมาน

    การตรวจฟันด้วยตนเอง ทำเพื่อ

    -ตรวจความสะอาดในช่องปาก หลังจากแปรงฟันแล้วว่ามีเศษอาหารติดตามตัวฟัน หรือซอกฟันหรือไม่

    -ตรวจดูว่าสุขภาพของเหงือกในแต่ละบริเวณเป็นอย่างไร มีหินปูน มีเหงือกร่น หรือคอฟันสึกหรือไม่

    -ตรวจดูว่ามีฟันผุ หรือมีสภาพที่อุดฟันเก่าผิดปกติหรือไม่

    วิธีการตรวจ 

    -หลังแปรงฟัน ควรล้างมือให้สะอาดก่อนตรวจ แล้วลงมือตรวจตามขั้นตอนดังนี้

    -ตรวจฟันหน้าบนและล่าง โดยยิ้ม ยิงฟันกับกระจก ให้เห็นฟันหน้าบนทั้งหมด ทั้งตัวฟัน และเหงือก

    -ตรวจฟันกรามด้านติดแก้ม โดยยิ้มให้กว้างไปถึงฟันกราม อาจใช้นิ้วมือช่วยดึงมุมปาก เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น

    -ตรวจด้านในของฟันล่าง โดยก้มหน้าอ้าปากกว้าง กระดกลิ้นขึ้น เมื่อตรวจดูฟันกราม

    -ตรวจด้านบดเคี้ยวของฟันกรามล่าง โดยอ้าปากดูด้านบดเคี้ยวของฟันล่าง

    -ตรวจฟันบนด้านเพดาน และด้านบดเคี้ยว โดยเงยหน้า อ้าปากดูในกระจก ส่วนฟันหน้าด้านเพดาน อาจใช้กระจกบานเล็กช่วยสะท้อนให้เห็นในกระจกส่องหน้า

    ลักษณะของฟันผุ

    ฟันผุ คือ การที่ฟันถูกทำลาย ทำให้เป็นรู หรือโพรง การทำลายนี้จะเป็นไปเรื่อย ๆ โดยร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลายไปให้กลับเป็นปกติเหมือนเดิมได้

    ลักษณะอาการของโรคฟันผุ 

    ในระยะเริ่มแรกจะพบเป็นรอยสีดำตามหลุมและร่องฟัน ไม่มีอาการ เมื่อการผุลุกลามมากขึ้น จะทำให้เป็นรู และมีอาการเสียวฟัน เมื่อรับประทานของเย็นจัด จนกระทั่งเกิดอาการปวดฟัน เมื่อรูผุถึงประสาทฟัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ฟันจะผุจนกระทั่งเหลือแต่รากฟัน ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดฝีหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

    การรักษา

    ฟันผุที่ลุกลามผ่านชั้นเคลือบฟันไปถึงชั้นเนื้อฟัน ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ฟันผุลุกลามไปถึงชั้นโพรงประสาทฟัน การรักษาจะยุ่งยากขึ้น คือ ต้องรักษาคลองรากฟัน ก่อนที่จะอุดฟัน หรือบางครั้งอาจต้องถอนฟันออกไป เพราะการผุทำลายฟันไปมาก จนเหลือแต่รากฟัน

    การย้อมสี ... คราบจุลินทรีย์

    คราบจุลินทรีย์ เป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ โดยปกติแล้วคราบจุลินทรีย์จะเป็นคราบที่อยู่ติดเหนียวแน่นกับฟัน การบ้วนปากไม่สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกไปได้ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากจะต้องกำจัดคราบจุลินทรีย์ ไม่ให้มีติดค้างอยู่ในช่องปาก เพราะจะเป็นสาเหตุของโรคฟันผุ

    คราบจุลินทรีย์นี้ สามารถติดสีย้อมฟันได้ ซึ่งจะเป็นสีผสมอาหารที่ใช้ในการทำขนมต่าง ๆ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เราสามารถผสมสีย้อมเหล่านี้ สีอะไรก็ได้ แต่โดยปกติจะใช้สีชมพูเพราะจะทำให้เห็นสีได้ชัดเจนดี

    วิธีการย้อมสีฟันนั้น อาจผสมสีย้อมทิ้ง เพราะสามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ หรือผสมเป้นครั้งคราวก็ได้ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการกะประมาณให้พอใช้ ไม่เปลือง

    วิธีการย้อมสีฟันด้วยตนเอง

    -เตรียมสีย้อมฟันซึ่งอาจผสมเอง โดยใช้สีผสมอาหารขององค์การเภสัชกรรม สีชมพู (Erythrosine) 1 ซอง 1 กรัม ต่อน้ำ 25 ซี.ซี. ผสมน้ำเก็บไว้ในขวดทึบแสง

    -ใช้สำลีก้อนเล็ก ๆ หรือคอตตอนบัดส์ ชุบน้ำยาย้อมสีฟันกดและทาเคลือบบริเวณฟัน โดยเฉพาะรอบคอฟันทุกซี่ ทุกด้านโดยเริ่มจากฟันบน จากด้านนอก ก่อนด้านใน และตามด้วย ด้านบดเคี้ยว ต่อจากนั้นจึงย้อมสีในฟันล่าง

    -บ้วนน้ำออก 1 ครั้ง

    -น้ำยาย้อมสีฟันจะแทรกซึมเข้าร่วมกับคราบจุลินทรีย์ และหินน้ำลาย รวมทั้งบริเวณฟันผุ เห็นเป็นสีชมพูเข้ม ต่างจากบริเวณผิวฟันที่เรียบ สะอาดชัดเจน

    -วิธีการย้อมสีฟันจะเป็นวิธีเสริม ที่ช่วยกระตุ้นให้เห็นภาพขี้ฟันได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ใส่ใจในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองมากขึ้น

    ตรวจเหงือก

    เหงือกปกติมีลักษณะขอบบาง ปกคลุมและแนบกับคอฟันมีสีชมพูซีด หรือมีสีคล้ำตามสีผิวของแต่ละคน เหงือกอักเสบมีสีแดงจัด เป็นมันวาว บริเวณขอบเหงือกจะบวม ยื่นเลยคอฟันออกมา แต่ไม่แนบกับคอฟัน เลือดออกง่าย เมื่อใช้มือกดจะเจ็บ บางครั้งอาจมีหนองไหลออกมา

    สาเหตุ เกิดจากการขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษาช่องปาก ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่บริเวณขอบเหงือกขยายตัว และปล่อยสารพิษออกมา สารพิษนี้จะซึมไปตามขอบเหงือก ยิ่งถ้ามีหินปูนใต้เหงือกด้วย การอักเสบจะลุกลามเร็วขึ้น ถ้าไม่ได้รับการรักษา บริเวณเนื้อเยื่อและกระดูกที่หุ้มรากฟันจะถูกทำลายไปในที่สุด บริเวณที่มีคราบจุลินทรีย์จะมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการย้อมสีฟัน

    ความผิดปกติในช่องปาก

    ความผิดปกติอื่น ๆ ในช่องปากที่อาจพบได้ เช่น การมีแผลในช่องปาก โดยปกติแผลที่มีโอกาสเป็นในช่องปากได้ก็คือ แผลร้อนใน ซึ่งมักเกิดจากการรักษาความสะอาดช่องปากไม่ดีความเครียด การกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก หรือของแข็งบาดปากเป็นแผล

    แผลในช่องปากลักษณะเช่นนี้จะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ เพียงแต่ต้องดูแลความสะอาดในช่องปากให้ดีเท่านั้น ถ้ามีอาการเป็นมาก ก็อาจใช้ยาทา เพื่อการรักษาเพื่อเติม และเพื่อลดอาการปวด เช่น ยาเคเนลอค อิน ออราเบส

    ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การมีฝ้าขาวที่บริเวณลิ้น ซึ่งอาจเกิดจากการสะสมของคราบอาหารบนลิ้น เพราะสภาพลิ้นนั้น มีร่องที่ทำให้เศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย หรือขาดการทำความสะอาดลิ้น หรือสภาพช่องปากสกปรก ฝ้าขาวถ้าเป็นมาก ก็อาจก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ และควรสังเกต หรือตรวจอวัยวะช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รู้ว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ ที่อาจมีผลทำให้สุขภาพช่องปากไม่ดีได้

      ขอขอบคุณข้อมูลจาก
      MEDICAL Link

วิธีตรวจฟันด้วยตนเอง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์