“กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตคนไทย รักษาง่าย หากไม่มีโรคแทรกซ้อน!



โรคกรดไหลย้อน ถือเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเร่งรีบแข่งขันกันตลอดเวลา ด้วยเกรงว่าจะไปทำงานไม่ทันบ้าง ไปโรงเรียนสายบ้าง ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร ที่ต้องปรับให้ทันกับเวลา ทำให้เคี้ยวไม่ละเอียด รวมถึงการกินมากเกินไป โดยเฉพาะมื้อเย็น อาจกลายเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ ซึ่งหากไม่รุนแรงเพราะไม่มีโรคแทรกซ้อนก็สามารถรักษาให้หายได้



นายแพทย์ธงชัย ปรีชาชัยสุรัตน์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี 2 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ว่า อาการที่เห็นได้ชัดของโรคกรดไหลย้อนคือ แสบร้อนกลางหน้าอก รู้สึกว่ามีของเหลวหรือแก๊สในร่างกายไหลขึ้นมาจากบริเวณท้องผ่านออกมาที่คอหรือที่อก มีการเรอที่รู้สึกว่ามีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมออกมาที่คอและปาก ซึ่งเป็นเพราะมีน้ำดีหรือกรดที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการย่อยอาหารไหลย้อนจากกระเพาะอาหารผ่านหลอดอาหารขึ้นมาที่อกและคอนั่นเอง

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้อีกก็เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็นเวลานาน เป็นไซนัสอักเสบ มีอาการของโรคหอบหืด ฟันผุเรื้อรัง ถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยจะต้องตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดก่อน เช่น ปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก หรือทันตแพทย์ก่อนที่จะสรุปอาการว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมีหลายทฤษฎี แต่จะมีผลที่ทำให้หูรูดกระเพาะอาหารซึ่งอยู่ปลายหลอด อาหารต่อกับกระเพาะอาหาร เป็นประตูเปิด-ปิดให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติทำงานโดยอัตโนมัติผิดปกติ

เมื่อเรารับประทานอาหารและกลืนลงไปทางหลอดอาหาร หูรูดนี้จะเปิดออกให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อย ขณะทำการย่อยอาหารด้วยน้ำย่อยที่มีฤทธิ์ทางเคมีเป็นกรดนี้หูรูดจะปิดลงและปิดตลอดเวลาที่ไม่มีอาหารจากหลอดอาหารไหลลงมา แต่เมื่อหูรูดทำงานผิดปกติไป เช่น เปิดหรือคลายตัวออกในเวลาที่ไม่มีอาหารลงไป ทำให้กรดหรือน้ำย่อย น้ำดี และแก๊สที่อยู่ในกระเพาะอาหารดันขึ้นมาตามหลอดอาหาร เราจึงรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก


“กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตคนไทย รักษาง่าย หากไม่มีโรคแทรกซ้อน!


อย่างไรก็ตามการที่หูรูดทำงานผิดปกติอาจเกิดได้จากการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลกับกล้ามเนื้อที่บังคับการเปิด-ปิดของหูรูด หรือผู้ป่วยบางรายอาจเคยรับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ระบบย่อยอาหารไม่ดีทำงานได้ช้า เช่น 4 ชั่วโมงแล้วอาหารยังย่อยไม่หมด การบีบตัวของหูรูดผิดปกติเอง เช่น ทำงานผิดเวลา เปิด-ปิดผิดเวลา เปิดในขณะที่ไม่มีอาหารผ่านลงไป

การรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อนสามารถรักษาได้ง่าย โดยการรับประทานยา 2-4 สัปดาห์ก็สามารถหายกลับเป็นปกติได้ ถือว่าไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด ผู้ป่วยสามารถซื้อยารับประทานเองได้ แต่ถ้ารับประทานยา 2 สัปดาห์แล้วไม่หาย หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยเพราะอาจมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการอาเจียน มีเลือดปน อุจจาระสีดำ น้ำหนักลดเร็ว ผอมเร็ว กลืนอาหารติด กลืนยาก ซึ่งอาจเกิดจากโรคกระเพาะ โรคหลอดอาหารตีบ มะเร็งกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร โรคหัวใจ ต้องให้แพทย์วินิจฉัยอาการหรือส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่เป็นร่วมกันและรักษาโรคร่วมกับกรดไหลย้อน ซึ่งการรักษายุ่งยากกว่ากรดไหลย้อนปกติ

สำหรับวิธีการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากกรดไหลย้อนมีคำแนะนำง่าย ๆ ดังนี้ คือ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะจะมีไขมันในช่องท้องมากเกิดแรงดันในช่องท้องสูง จึงกดทับกระเพาะอาหารทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น กรดก็จะไหลย้อนออกมาที่หลอดอาหารได้ หลังรับประทานอาหารให้เวลากับการย่อยอาหารสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยล้มตัวลงนอน อย่านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้อาหารในกระเพาะอาหาร ไหลผ่านหูรูดออกมาจะทำให้กรดไหลย้อนได้ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีผลทำให้ การทำงานของระบบย่อยอาหารและหูรูดกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ

ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่บีบรัดบริเวณท้องแน่นเกินไป เพราะทำให้กระเพาะถูกบีบ แก๊สและน้ำย่อยในกระเพาะจะดันผ่านหูรูดออกมาได้ ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อเย็นอิ่มมากเกินไป และไม่ควรรับประทานอาหารระหว่างมื้อเป็นประจำ เพราะอาหารที่เข้าไปอยู่เต็มจนล้นกระเพาะอาหารจะดันหูรูดให้เปิดออกขณะย่อยอาหาร ทำให้อาหารย่อยได้ไม่หมดและเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

เมื่อเกิดอาการเรอหรือแน่นหน้าอก ควรสังเกตว่าเป็นบ่อยและมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และเป็นด้วยสาเหตุใด เพราะอาการหัวใจขาดเลือดก็จะแน่นหน้าอกเช่นกัน หรือสวมเสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป หรือเกิดหลังการรับประทานอาหารที่มากเกินไป ลองลดปริมาณอาหารลงให้พอดี ไม่นอนหลังรับประทานอิ่มใหม่ ๆ ที่สำคัญการเรอหลังรับประทานอิ่มไม่ใช่อาการของโรคกรดไหลย้อนอย่างที่เราเข้าใจกันไป และไม่ใช่โรคที่รุนแรงหากไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน ซึ่งหากเราสามารถปฏิบัติตัวได้ตามข้อแนะนำเหล่านี้ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อนในที่สุด.



“กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตคนไทย รักษาง่าย หากไม่มีโรคแทรกซ้อน!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์