“สุนัขไทย” เฝ้าบ้าน สัตว์เลี้ยงรุ่นเก๋า รู้รากเหง้า...เข้าใจนิสัย



สุนัขพันธุ์ไทยที่ใช้ในการเฝ้าบ้านกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ด้วยความซื่อสัตย์และดูแลง่ายกว่าสุนัขพันธุ์ต่างประเทศ ถ้ามองภาพรวมสุนัขไทยที่ได้รับความนิยมมี 2 พันธุ์คือ หลังอานและบางแก้ว แต่ถ้าไม่รู้ถึงอุปนิสัยหรือการฝึกอย่างถูกต้องบางครั้งอาจเป็นผลร้ายต่อคนรอบข้างได้ ขณะเดียวกันหากรู้ถึงรากเหง้าของสายพันธุ์อาจทำให้คนเลี้ยงเข้าใจมากขึ้นด้วย

“...สุนัขตัวมันใหญ่ มันสูง 2 ศอกกว่า มันมีสีต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน มันมีขนหลังกลับ มันร้าย มันภักดีกับผู้เลี้ยงมัน มันหากิน ขุดรูหาสัตว์เล็กๆ มันชอบติดตามผู้เลี้ยงไปป่า ไปหากิน มันได้สัตว์มันจะนำมาให้เจ้าของ มันภักดีบ้านเรือน มันรักหมู่พวกของมัน มันไปกับเจ้าของมันถึงต้นยางมีน้ำมันมีกำลังกล้าหาญไม่กลัวใคร ธาตุของสีทั้งหลายก็เป็นสุวรรณรัชตะชาด มันมีโคนหูสูง มันมีหางเหมือนดาบชาวป่า ถ้าผู้ใดมีไว้จะได้รับความภักดีจากมัน...” นี่คือบันทึกที่พบในสมุดข่อยสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นบันทึกถึงสุนัขหลังอานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบ

จากบันทึกของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ พบว่า สมัยก่อนหมาไทยหลังอานไม่เป็นที่รู้จัก เป็นเพียงสุนัขทั่วไปในจังหวัดตราดและจันทบุรี จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.หาญ ไคลน์ ชาวเยอรมันสัญชาติไทยได้ชวนคุณหลวงออกหาสุนัขไทยหลังอานที่เคยเจอ แต่ไม่พบ

คุณหลวงมองว่า อานของสุนัขเกิดจากขวัญที่สันหลัง โดยมากตั้งต้นที่ริมกระดูกสันหลัง ใต้ไหล่ทั้งสองข้างลงไปเล็กน้อย ขนชี้กลับไปทางหัวรวมกันเป็นดวงกลมใหญ่ แล้วเรียวเล็กลงเรื่อย ๆ จนเกือบถึงโคนหาง บางตัวอาจมีขวัญมากถึง 4–5 ขวัญ ทำให้อานมีลักษณะแตกต่างกันออกไป

อานของสุนัขจะเล็กหรือใหญ่อยู่ที่สายพันธุ์ แต่ทั่วไปมีด้วยกัน 5 ชนิดคือ
1.อานธรรมดา เกิดจากขนย้อนกลับที่ไม่มีขวัญ มีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 2.5–4.5 เซนติเมตร ตั้งแต่หัวไหล่ไปถึงโคนหาง บางตัวอานยาวถึง 30 เซนติเมตร และมีความกว้างเกือบเท่ากันตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย เรียกอีกชื่อว่า อานเข็ม และอานธรรมดาอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อานแผ่น เป็นอานที่หายากมาก กว้าง 10 – 14 เซนติเมตร จากหัวไหล่ถึงโคนหาง


2.อานเทพพนม ไม่มีขวัญและขนจะไม่ย้อนกลับไปด้านหน้า แต่ขนจะขึ้นมาประสานกันกลางหลังเหมือนท่าพนมมือ เกิดตรงบริเวณไหล่ไปถึงบั้นท้ายเท่านั้น โดยจะไม่กว้างนัก

3.อานธนูหรืออานลูกศร เกิดจากขวัญ 2 ขวัญ ตรงไหล่สองข้างวนบรรจบกันที่สันหลัง กว้างประมาณ 6 – 10 เซนติเมตร คล้ายหัวลูกศรเรียงลงมาจนถึงโคนหาง


4.อานไวโอลิน เกิดจากขวัญจำนวนมากที่อยู่เป็นคู่ ตั้งแต่คู่หน้าตรงหัวไหล่ที่มีขนาดกว้าง แล้วเรียวเล็กลงไปถึงโคนหาง โดยมีขวัญรองรับอีก 1–2 คู่ อานชนิดนี้หาดูยากและราคาสูง

5.อานใบโพธิ์หรืออานพิณ เป็นอานขนาดใหญ่บริเวณหัวไหล่ ขนจะวนเข้าหากันกว้างประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ด้านหน้ามีขวัญ 2 – 3 วงเป็นรูปใบโพธิ์ เรียงเล็กมาทางโคนหาง บางตัวมีขวัญรองรับอีก 2 วงบริเวณโคนหาง ทำให้มีลักษณะเหมือนพิณ ซึ่งอานชนิดนี้หาดูได้ยาก

มาถึง พันธุ์บางแก้ว มีถิ่นกำเนิดแถววัดบางแก้ว (บ้านบางแก้ว) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีประวัติครั้งกรุงศรีอยุธยา อาจารย์มาก เจ้าอาวาสวัดบางแก้ว เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์ดุไว้ที่วัด เกิดจากสุนัขไทยผสมกับสุนัขจิ้งจอกที่อาศัยอยู่ชายป่ารอบวัด เมื่อผสมภายในกันแล้วหลายช่วง จึงเกิดลูกพันธุ์แท้ที่มีลักษณะเด่นโดยธรรมชาติ

สีของพันธุ์บางแก้วมีทั้งสีเดียวและหลายสี เช่น ขาว ดำ น้ำตาล เทา นาก หรือผสมกันเป็นดำขาว น้ำตาลขาว สีนากปนขาว เทาปนน้ำตาล แต่สีที่นิยมกันมากคือ ขาว ขาวน้ำตาล ขาวดำ ส่วนหางมีทั้งเป็นพวงและไม่เป็นพวง ถ้าหางเป็นพวงยาวม้วนงอขึ้นเล็กน้อยจะสวยงามกว่า แต่คนนิยมหางพวงลาดแทงลงดินแบบสุนัขจิ้งจอก

ใบหน้าของพันธุ์บางแก้วถือเป็นส่วนสำคัญที่มีอยู่ 3 แบบคือ

1.ใบหน้าแบบเสือ หัวกะโหลกใหญ่ หน้าผากกว้าง ที่ตั้งของโคนหูทั้งสองห่างกัน ปลายหูเบนไปด้านข้างเล็กน้อย สีตาเหลืองคล้ำ ม่านตาสีดำ แววตาเซื่องซึมคล้ายเสือ ขนแผงคอคล้ายม้า ส่วนใหญ่ลักษณะนี้จะดุกว่าแบบอื่นๆ

2.หน้าสิงโต กะโหลกเล็กกว่าแบบหน้าเสือ ปากสั้น ไม่เรียวแหลม หูค่อนข้างเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม โคนหูชิดกัน ปลายหูป้องไปข้างหน้าเล็กน้อย แปลกกว่าชนิดอื่นตรงมีเคราหรือขนใต้คางห้อยยาวลงมาถึงลูกกระเดือก หางมีทั้งม้วนสูงและม้วนต่ำ เท้าเล็กแบบแมว 3.หน้าแบบหมาจิ้งจอก หัวกะโหลกเล็กกว่าแบบหน้าเสือ แต่ใหญ่กว่าหน้าสิงโต ใบหูใหญ่กว่าสองแบบข้างต้น ปากแหลมยาว ขนหางยาวเป็นพวง ใบหูเอนไปด้านข้างไม่ป้องเหมือนสองแบบแรก

พันธุ์บางแก้วมีนิสัยแปลกกว่าหมาไทยชนิดอื่น คือ จะเป็นมิตรกับคนได้ไม่เกิน 2 คนเท่านั้น เช่น คนที่ให้อาหารและเจ้าของที่ใกล้ชิด ตอนยังเล็กมีนิสัยชอบไล่กัดลูกหมาตัวอื่น แต่พอถูกกัดเจ็บจะโกรธอาจกัดไม่ยอมปล่อย มีแววการต่อสู้แต่เล็ก ไม่ว่าสุนัขตัวอื่นจะใหญ่กว่าก็สู้ไม่ถอย ข้อดีคือ รักเจ้าของและมีความจำดีเป็นเยี่ยม

แต่มีนิสัยขี้อิจฉาถ้าเจ้าของมีหมาชนิดอื่นเลี้ยงไว้ด้วยควรทักทายหรือให้อาหารบางแก้วก่อน ไม่เช่นนั้นจะไล่กัดตัวอื่น ด้วยความที่บ้านบางแก้วแหล่งกำเนิดอยู่ใกล้แม่น้ำ ทำให้สายพันธุ์นี้ชอบเล่นน้ำ และชอบอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

มีการบันทึกของผู้เชี่ยวชาญเรื่องลักษณะการเห่าของพันธุ์บางแก้วว่า 1.เห่าเสียงเบากระชั้นแล้วเงียบหาย แล้วครางเบาๆ แสดงถึงความดีใจที่พบเจ้าของ
 
2.เสียงห้าวกระชั้นติด ๆ หลายครั้ง แสดงถึงการมีคนแปลกปลอมเข้ามา เห่าเพื่อประสงค์ร้าย ขู่ไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามา

3.เห่าเสียงเบา 2 – 3 ครั้งหยุด แสดงว่าเจอสัตว์ขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น งูหรือเต่า 4.เห่าเสียงห้าวช้าๆ พร้อมคำรามแสดงถึงการเตรียมตัวสู้สุนัขด้วยกันเอง

สุนัขไทยถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการเลี้ยง ซึ่งหากมีการฝึกฝนและไม่ทำร้าย เจ้าตูบเหล่านี้ก็จะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของเจ้าของไม่น้อย.

.................................................................................

7 ช่วงอายุพฤติกรรมสุนัข

โดยทั่วไปพฤติกรรมของลูกสุนัขที่เจ้าของควรรู้พัฒนาการ แบ่งออกเป็น 7 ช่วงอายุ ได้แก่

- ช่วงสองสัปดาห์แรก ตาหูและประสาทรับกลิ่นยังไม่มีทำให้ต้องอาศัยกินนมแม่ รวมถึงหัวและลำตัวยังไม่ได้สัดส่วนกับอุ้งเท้าทำให้ควบคุมการเคลื่อนไหวได้ลำบาก

- ช่วงสัปดาห์ที่ 3 แม้ตาและหูจะเปิดในปลายสัปดาห์ที่สอง แต่ความสามารถในเรื่องนี้จะพัฒนาจนกว่าวันที่ 18 แล้วจะเริ่มออกจากกล่องเพื่อติดตามแม่ของมัน และจะมีภัยอันตรายต่างๆ รออยู่

- ช่วงสัปดาห์ที่ 4 - 7 สุนัขมีความรู้สึกมั่นคงขึ้น เริ่มพัฒนาความเข้าใจและเริ่มค้นพบตัวเอง รู้จักการใช้เสียงและหางจนชำนาญในการเล่นกับพี่น้องคอกเดียวกัน เริ่มมีการสื่อสารทางสังคมทั้งการแสดงความรักและข่มขู่ โดยความผูกพันระหว่างคนกับลูกสุนัขจะถูกบันทึกไว้ในช่วงนี้

- ช่วงสัปดาห์ที่ 8 – 12 ระยะนี้เรียนรู้ระหว่างความสนุกกับความจริง พ่อแม่ของมันจะใช้ความขี้เล่นของมันในการสอนในคอกเดียวกัน เช่น วิธีต่อสู้ ยอมจำนน ป้องกันตัว ถือเป็นช่วงที่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อวางรากฐานสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสุนัข และควรเริ่มฝึกอย่างง่ายๆ ก่อน

- ช่วงเดือนที่ 3 - 4 เริ่มเรียนรู้ว่าจะใช้แต่กำลังไม่ได้ ต้องมีความฉลาดด้วยหากอยากเป็นจ่าฝูง เป็นช่วงที่เริ่มรับประสบการณ์ภายนอกบ้านให้มากเท่าที่เป็นไปได้ และเมื่อรับแล้วจะฝังแน่นอยู่ในตัวของมัน ขณะเดียวกันถ้าสุนัขตัวไหนขาดประสบการณ์นอกบ้านในช่วงนี้พอโตไปจะไม่รู้มารยาททางสังคมและปฏิบัติตนผิดๆ ได้ ควรเริ่มฝึกให้ทำตามคำสั่งต่างๆ

- ช่วงเดือนที่ 5 - 6 เป็นช่วงที่อยากออกจากบ้านด้วยตัวเอง เจ้าของจึงต้องพยายามฝึกให้มันยุ่งเข้าไว้ เช่น สอนการวิ่งคาบของกลับมา และเป็นช่วงที่ควรสอนให้มันรู้จักอันตรายต่างๆ ตลอดจนควรพาออกไปเดินเล่นข้างนอกเพื่อให้เคยชินกับความวุ่นวายต่างๆ

- ช่วงเดือนที่ 7 เป็นต้นไป เป็นระยะต่อต้าน มีอารมณ์รุนแรง พยายามสลัดทุกอย่างที่ฝึกมา และแสดงความจงใจไม่เชื่อฟัง เจ้าของจึงต้องคอยดูอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าเมื่ออายุ 12 เดือนขึ้นไปแล้ว อารมณ์จะคงที่และเริ่มสอนง่าย


“สุนัขไทย” เฝ้าบ้าน สัตว์เลี้ยงรุ่นเก๋า รู้รากเหง้า...เข้าใจนิสัย

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์