รู้จัก ‘นาร์โคเลปซี’อาการผีอำ


รู้จัก ‘นาร์โคเลปซี’อาการผีอำ

ใครที่รู้สึกตัว พยายามจะตื่น แต่ขยับร่างกายไม่ได้ คงต้องนึกว่าถูก ผีอำเป็นแน่ แต่ในทางการแพทย์สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ว่าเป็นเพียงความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่งเท่านั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้

          นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาท และสมอง รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า อาการผีอำในทางการแพทย์ และมุมมองวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์หรือผีแต่อย่างใด แต่เป็นโรคกลุ่มหนึ่งที่เป็นความผิดปกติ ที่เราจัดอยู่ในหมวดของความผิดปกติของการนอนหลับ

          ปกติคนอยากจะนอนแต่นอนไม่หลับ คือเป็นโรคนอนไม่หลับ แต่ผีอำเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน

          อาการผีอำในทางการแพทย์จะอยู่ในหมวดที่เรียกว่า นาร์โคเลปซีคือ คนไข้จะมีอาการหลายรูปแบบ เช่น นั่งคุยกันอยู่ดี ๆ หรือคุยกันอยู่กับเพื่อนไม่มีทีท่าว่าจะง่วง แต่กลับหลับไปต่อหน้าต่อตา หลับไปอย่างกะทันหัน โดยไม่ตั้งใจ

          “ผีอำเป็นอาการกลุ่มหนึ่งในนาร์โคเลปซี คือ เป็นอัมพาตระหว่างหลับ คนไข้จะครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ปัญหา คือ คนไข้รู้ตัวทุกอย่าง แต่ควบคุมร่างกาย แขนขา หรือแม้แต่พูดก็ยังไม่ได้ คือ รู้ตัวทุกอย่างแต่ขยับร่างกายไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า ผีอำโดยคนไข้จำเหตุการณ์ได้ทุกอย่าง แต่ขยับร่างกายไม่ได้

         อาการ ผีอำเชื่อว่าเป็นความผิดปกติของสารเคมีในประสาทบางอย่าง และพบว่ามีการกระตุ้นด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น ดูทีวีมากก่อนนอน มีความ เครียดมากก่อนนอน หรือไม่อยู่ในภาวะพร้อมที่จะหลับ บางคนกินกาแฟเยอะ จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหาร หลีกเลี่ยงการดูทีวีหรือทำอะไรที่ตื่นเต้นก่อนนอน

         บางคนเป็นบ่อยมากจนรู้ว่าไม่ใช่ ผี อำคือ เป็นบ่อยจนกลายเป็นโรค และรู้ว่าตัวเองต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอะไร ส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญหาสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น บางคนอาจจะไปทำงานต่างจังหวัดเหนื่อย พอเข้าพักโรงแรม แล้วเกิดอาการ บวกกับความเชื่อดั้งเดิมอยู่แล้วว่า ผีอำทั้งที่เป็นความผิดปกติของการนอนหลับ

          ในรายที่เป็นมาก มีอาการรุนแรง แพทย์จะตรวจคลื่นสมอง ซักประวัติ ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ส่วนใหญ่การรักษามักแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่ควรทำ ยกเว้นในรายที่เป็นมากจะมีการใช้ยาช่วยในการนอนหลับ

      

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่า ผีอำหรือคิดว่ามีความผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะมีศูนย์ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ  หรือในโรงพยาบาลบางแห่งอาจเป็นหมอด้านการกรนก็จะดูแลให้

          ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ผีอำเป็นเรื่องวงจรการนอน เป็นการตื่นนอนช่วงที่กำลังฝัน ใครฝันร้ายแล้วลืมตามาในช่วงนั้นพอดี กลายเป็นความฝันนั้นยังค้างอยู่และจะขยับตัวไม่ได้ คนที่เป็นบ่อยอาจเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลในช่วงกลางวัน

          อาการ ผีอำจึงเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ถ้าช่วงไหนอารมณ์ไม่ค่อยนิ่ง มีความเครียด เศร้า มีโอกาสไปผสานกับความฝันแล้วหลับไม่สนิท พอตื่นในช่วงนั้นก็จะเกิดอาการ แต่ถ้าหลับสนิทอาการเหล่านี้จะไม่เกิด ดังนั้นอาการ ผีอำจึงเกิดได้กับทุกคน เพราะเป็นวงจรการนอน

          ในคนที่เกิดอาการบ่อย ต้องดูว่ารบกวนชีวิตการทำงานหรือไม่ ถ้าคิดว่ารบกวนชีวิตประจำวันต้องรักษา เช่น ต้องดูว่าเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือมีโรคทางกายอย่างไร ที่ไปกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานไวจนเกินไป ถ้ารักษาโรคเหล่านั้นได้ อาการก็จะดีขึ้น

          สรุปว่า ในทางการแพทย์อาการผีอำเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่งเท่านั้น



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์