ไหว้พระ 9 วัด ณ เมืองเก่าสุโขทัย


วัดตระพังทอง

สถานที่ตั้ง ถนนจรดวิถีถ่อง หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

วัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยราวปี พ.ศ. 1826 ปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในเขตวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “สระตระพังทอง” เชื่อว่าเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับในอุปโภคบริโภคในอดีต ในบริเวณเกาะกลางสระน้ำเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถที่ภายในเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย พระมณฑปจัตุรมุขที่ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง 4 ฟุต 10 นิ้ว ยาว 6 ฟุต 8 นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ 54 ดอก ภายในเป็นรูปชาดกต่างๆ สร้างขึ้นพระมหาธรรมราชาที่ 1 ราวปี พ.ศ. 1902 โดยจำลองแบบมาจากศรีลังกา ใบเสมาหินชวนคู่ และเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยทำด้วยศิลาแลง


ไหว้พระ 9 วัด ณ เมืองเก่าสุโขทัย


วัดศรีชุม

สถานที่ตั้ง นอกกำแพงเมืองเก่า อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่มนเขตโบราณสถานเมืองเก่า คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ภายในผนังวัดที่ยังหลงเหลืออยู่ ปรากฏภาพเขียนสีเรื่องราวในชาดกต่างๆ เชื่อว่าภาพเขียนเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี นอกจากนั้นยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ “พระอจนะ” ที่มีความหมายว่า “ผู้ที่ไม่หวั่นไหว ผู้ที่ควรแก่การกราบไหว้” มีเรื่องเล่ากันว่าในอดีตกาลนั้นชาวบ้านเชื่อกันว่าพระอจนะสามารถพูดได้ เรื่องราวความเชื่อนี้สามารถสืบสาวไปถึงช่วงสมัยที่พระนเรศวรมหาราชได้เสด็จมาประชุมทัพที่วัดแห่งนี้ พระองค์ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่แม่ทัพและนายทหารทั้งหลาย ท่านจึงได้คิดกุศโลบายทำการเสี่ยงทายโดยการถามผลการรบล่วงหน้าจากพระพุทธรูป และได้ให้พลทหารนายหนึ่งปีนขึ้นไปด้านหลังพระพุทธรูปด้านบนและเปล่งวาจาออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจในความสำเร็จของการรบครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของความเชื่อดังกล่าว


ไหว้พระ 9 วัด ณ เมืองเก่าสุโขทัย


วัดมหาธาตุ

สถานที่ตั้ง ถนนทางหลวง 12 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

พระอารามหลวงในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่า คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นวัดใจกลางเมืองขนาดใหญ่ที่มีเจดีย์รายรอบถึง 200 องค์ มีงานสถาปัตยกรรมทั้งแบบศิลปะสุโขทัยและศรีวิชัยผสมลังกา แต่เดิมนั้นเคยเป็นที่ประดิษฐานของพรพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ “พระศรีสากยมุนี” ซึ่งปัจจุบันนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ในจังหวัดกรุงเทพฯ นอกจากนั้นภายในเขตเจดีย์มหาธาตุก็ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ “พระอัฎฐารศ" และภายในเจดีย์ห้ายอดก็ยังเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไทอีกด้วย


ไหว้พระ 9 วัด ณ เมืองเก่าสุโขทัย


วัดหนองโว้ง

สถานที่ตั้ง บ้านหนองโว้ง หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระอารามหลวงชั้นตรี เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในประมาณ ปี พ.ศ. 2242 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นวัดป่าและเป็นสถานที่ประกอบพิธีฌาปนกิจและเป็นเขตสุสาน ในราวปี พ.ศ. 2391 ได้รับการบูรณะขึ้นมาอีกครั้งโดยเจ้าเมืองบางยมที่ได้สร้างพระอุโบสถเพิ่ม โดยภายในโบสถ์มีงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเจ้าสิบชาติและพระพุทธประวัติบางส่วนไว้อย่างวิจิตรงดงาม ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยโบราณสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย “หลวงพ่อสองพี่น้อง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอันเป็นเคารพของชาวเมืองสุโขทัย ซึ่งในทุกปีจะมีพิธีนมัสการท่านในราววันที่ 12 -15 ค่ำ เดือน 3 นอกจากนั้นในบริเวณวัดแห่งนี้ก็ยังมีงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อีก เช่น พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และภูเขาพระฉายหรือ “ถ้ำไห” ที่สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่ล่องเรือบรรทุกไหมาพักค้างแรมที่วัดแห่งนี้ ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

วัดพิพัฒน์มงคล

สถานที่ตั้ง หมู่ 2 ตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำแท้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย หนักร่วม 9 กิโลกรัม มีอายุกว่า 500 ปี “พระพุทธสุโขโพธิ์ทอง” ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อทองคำ” เชื่อกันว่าหากได้มานมัสการขอพรหลวงพ่อทองคำแล้วจะประสบผลสำเร็จในชีวิต และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ “พระธาตุรากขวัญ” หรือพระธาตุบริเวณไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของครูบาและสานุศิษย์รวมไปถึงชาวเมือง โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในบริเวณที่คาดว่าเคยเป็นวัดในสมัยเวียงมันนอกราวปี พ.ศ. 1672 เพราะมีการค้นพบซากปรักหักพัง เช่น ฐานเจดีย์โบราณ ฐานพระอุโบสถ และโบราณวัตถุ พระพุทธรูปและสิ่งมีค่าเป็นจำนวนมาก ภายในเขตวัดมีงานสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงาม เช่น พุทธวิหารลายคำ หอคำหลวง หอคำน้อยมหารัชมงคลพิพัฒน์ และพระอุโบสถประดับแก้ว เป็นต้น

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร

สถานที่ตั้ง หมู่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดพระปรางค์” เนื่องจากเป็นวัดที่ปรางค์ประธานโบราณขนาดใหญ่ จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ไม่ระบุเวลาการสร้างที่แน่ชัด แต่คาดว่าสร้างขึ้นราว 800 กว่าปีก่อน ยุคอาณาจักรขอมยังเรืองอำนาจ เป็นวัดศูนย์กลางในเขตเมืองเชลียง ดังมีปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ในช่วงกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จมาสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียง ณ วัดแห่งนี้อีกด้วย นอกจากนั้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมสรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับกษัตริย์ที่จะขึ้นครองราชย์ในอดีต ภายในอาณาเขตวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย เช่น พระปรางค์ประธาน กำแพงวัด มณฑป โบสถ์ พระพุทธรูปโบราณหลายองค์ วิหารพระสองพี่น้อง รอยพระพุทธบาท ศาลพระร่วงพระลือ และโบราณวัตถุ โบราณสถานอื่นๆ ในเขตวัดอีกมากมาย

วัดสว่างอารมณ์  สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำยม ตำบลเมืองสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเจ้านครสววรรคโลกได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างเป็นจวนที่พักของคณะสงฆ์ ชาวบ้านในละแวกเรียกกันว่า “วัดจวน” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสวรรคโลก ภายในพระอุโบสถวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเรืองฤทธิ์ พระพุทธรูปสำริดโบราณขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดพระศรีมหาธาตุเชลียงแห่งเมืองสวรรคโลกเก่า ปัจจุบันคือเขตอำเภอศรีสัชนาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2372-2475 วัดแห่งนี้เป็นทีประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ที่จะกระทำต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเรืองฤทธิ์ วัดสว่างอารมณ์ได้เลือนขั้นเป้นพระอารามหลวงชั้นตรีในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบันในปี พ.ศ. 2501

วัดกงไกรลาศ     สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งของเมืองสุโขทัย ประดิษฐานหลวงพ่อโต (วิหารลอย) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2333 ที่ชาวเมืองสุโขทัยมีความเคารพและเชื่อว่าท่านมีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์ ดังเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาว่าในช่วงพม่ายกมาตีเมืองพิษณุโลกและได้ยกทัพผ่านวัดแห่งนี้ ทหารพม่าเกิดอาการคึกคะนองทำการยิงปืนใหญ่มาที่วิหารของวัด สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากแต่ไม่โดนองค์เลยแม้แต่น้อย จะมีก็แต่เพียงรอยกระสุนที่ทะลุจีวรพระด้านซ้ายเพียงแค่นั้น และหลายปีถัดมาในวันเพ็ญเดือนสามคืนหนึ่งชาวบ้านได้ยินเสียงพสุธาสนั่นหวั่นไหวจึงพากันวิ่งออกไปดู และพบว่าหลวงพ่อโตได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ภายใต้ต้นคูนที่ห่างจากที่ตั้งเดิมขององค์พระที่เป็นวิหารร้างเต็มไปด้วยซากปรักหักพังจากการโดนยิงปืนใหญ่ทำลาย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าท่านได้เคลื่อนย้ายตัวองค์ท่านไปหลบแดดฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะวิหารของท่านั้นยังไม่มีใครมาทำการบูรณะ ส่วนที่มาของสมญานามว่าวิหารลอยนี้มาจากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเล่ากันว่าทุกปีในฤดูน้ำหลากมักจะเกิดน้ำท่วมในบริเวณวัดและบริเวณใกล้เคียง แต่วิหารหลวงพ่อโตนั้น มิเคยได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและตัววิหารก็ดูเหมือนลอยอยู่เหนือน้ำ

วัดราชธานี  สถานที่ตั้ง ตำบลธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

วัดเก่าตั้งแต่สมัยสุโขทัยอีกแห่ง ตั้งอยู่กลางใจเมืองและมีอาณาเขตติดกับแม่น้ำยม เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในอดีต เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัย ปางมาวิชัยอายุกว่า 700 ปี “หลวงพ่อเป่า” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พระโอษฐ์มีลักษณะเหมือนกำลังทำการเป่า เชื่อกันว่าหลวงพ่อเป่านี้ช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ คุ้มครองเมืองและผู้ที่มาขอพรท่าน แต่เดิมหลวงพ่อเป่าประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาสุมลในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดราชธานีแห่งนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2511 ที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ในเขตเมืองสุโขทัย วัดราชธานีได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ยกเว้นเสียแต่หลวงพ่อเป่าที่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายแต่อย่างใดเลย

วัดไทยชุมพล

สถานที่ตั้ง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์จักรี ในอดีตนั้นวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่พำนักของไพร่พลที่ออกไปรบ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดบางแก้ว” เพราะตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านบางแก้ว เป็นที่ประดิษฐาน “พระไตรภูมิหรือหลวงพ่อโต” และ “พระไตรโลกหรือหลวงพ่องาม” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัยประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้อีกด้วย




Skyscanner


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์