รู้จัก “เมฆกันชน” หรือ “เมฆอาร์คัส” กันหรือยัง?


เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย จะมีปริมาณฝนตกชุก ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก เนื่องจากประเทศไทยได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม และรับร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน โดยปกติช่วงฤดูฝนในประเทศไทยจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ยาวไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ของทุกๆปี มีระยะเวลาประมาณ5เดือน ซึ่งช่วงดังกล่าวจะมีฝนชุกทั่วทุกภาค โดยฝนที่ตกลงมาเกิดจากลักษณะการรวมตัวกันของไอน้ำ จนเกาะกลุ่มรวมกันมากขึ้น ก่อเป็นกลุ่มเมฆ และตกลงมากลายเป็นฝน


ขณะเดียวกันลักษณะดังกล่าว ยังเป็นลักษณะของ “เมฆอาร์คัส” ซึ่งจะเป็นเมฆดำทะมึนและหนา อยู่ติดๆ กันหรือกองซ้อนกัน โดยมีลักษณะเป็นก้อนม้วนตัวกลม ๆ (roll) นอกจากนี้เมฆอาร์คัส (ARCUS) หรือ แปลเป็นภาษาไทยว่า “เมฆกันชน” เป็นกลุ่มเมฆที่ชื่อว่า “คิวมูโลนิมบัส” (CUMULONIMBUS) แต่มีอาการเสริมที่เรียกว่า "อาร์คัส" (ARCUS) ซึ่งเป็นปฎิกิริยาของเมฆฝน ที่จะมีลักษณะโค้งลงมาใกล้พื้นดิน

ทั้งนี้เมฆคิวมูโลนิมบัสเป็นเมฆฝน ที่มีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง เกิดลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า เกิดจากแนวอากาศร้อน ที่ความชื้นพัดมาปะทะกับอากาศเย็น อากาศเย็นจะยกอากาศร้อนขึ้น จนมีลักษณะเป็นดอกเห็ด ภายในจะมีทั้งลมกดและลมยก ส่วนที่ฐานกลุ่มเมฆจะเป็นลมกด ซึ่งจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้ และยิ่งเป็นอาการของอาร์คัส จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นง่ายๆ

นักอุตุนิยมวิทยา ของกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ “เมฆอาร์คัต” เกิดจากลมที่หอบนำเอาความชื้นในชั้นบรรยากาศ และฝุ่นละอองในอากาศ พัดมารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นกลุ่มเมฆอาร์คัส ซึ่งน้ำหนักของเมฆอาร์คัสจะหนักกว่าเมฆฝนแบบปกติ เนื่องจากมีฝุ่นละอองรวมอยู่ในกลุ่มเมฆอาร์คัส ทั้งนี้ ลม ฝุ่น และความชื้น (ละอองน้ำ) ยังถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างเมฆฝนแบบปกติและเมฆอาร์คัส จะแตกต่างกันตรงที่ เมฆอาร์คัส จะเกิดขึ้นบริเวณใกล้กับพื้นผิวโลก โดยลักษณะการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆอาร์คัส จะต่ำลงมาใกล้พื้นผิวโลกมากขึ้น หากมีการสะสมของปัจจัยที่กล่าวมาในปริมาณมากๆ จนกลุ่มเมฆอาร์คัสพัดมาปะทะกับความเย็นของอากาศบริเวณพื้นผิวโลก จึงเกิดลักษณะการม้วนของกลุ่มเมฆอาร์คัสปรากฎให้เห็นคล้ายกำแพงก้อนเมฆ (Wall cloud) ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้น ณ สนามบินอุดรธานี ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแนะนำประชาชน หากอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงการเกิดปรากฎการณ์เมฆอาร์คัส ที่มีลักษณะเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้น คือ มีลักษณะเมฆก่อตัวสูงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ให้ระวัง เพราะจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และลูกเห็บจะตกตามมา จึงควรเลี่ยงที่จะออกไปดู และควรเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดีมีรายงานว่า หลังเกิดปรากฏการณ์เมฆกันชนที่สนามบินอุดรธานี หลังจากนั้น2วันต่อมาได้เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันที่บริเวณสนามบินเก่า เขตเทศบาลเมืองเชียงราย และเคยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 24กันยายน 2554 ย่านบางขุนเทียนและคลองสานอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล tmd.go.th ,tamsabye.com


รู้จัก “เมฆกันชน” หรือ “เมฆอาร์คัส” กันหรือยัง?


รู้จัก “เมฆกันชน” หรือ “เมฆอาร์คัส” กันหรือยัง?


รู้จัก “เมฆกันชน” หรือ “เมฆอาร์คัส” กันหรือยัง?

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์