ภัยแฝงจากสมาร์ทโฟน ยิ่งใช้ ยิ่งทรุด


ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากมาย โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับหลากหลายฟังก์ชั่นที่ดึงดูดใจผู้ใช้งาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ วันไหนลืมโทรศัพท์มือถือคู่ใจไว้ที่บ้านอาจมีอาการหงุดหงิดทั้งวัน หากคุณติดเจ้าโทรศัพท์เครื่องเล็ก ๆ ขั้นรุนแรง คงต้องรู้วิธีรับมือกันสักหน่อย


อันตรายอะไรบ้างที่แฝงมากับการใช้งานสมาร์ทโฟน?

ดวงตาเมื่อยล้า การจ้องสมาร์ทโฟนนาน ๆ มีผลทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาตึง และเกร็ง ตอบสนองต่อการโฟกัสระยะยาวช้า ทำให้มีอาการเบลอ มองเห็นไม่ชัด

นิ้วล็อค การใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์ขนาดเล็กบนสมาร์ทโฟน อาจทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อต่อเกิดผังพืด ยึดล็อคนิ้ว ทำให้มีอาการติด ขัด และอาจมีอาการปวดอักเสบของนิ้วร่วมด้วย

เชื้อโรคร้าย งานวิจัยในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า หน้าจอสมาร์ทโฟน เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคตัวฉกาจอย่าง เชื้อ อี.โคไล (E.coli) ซาลโมเนลลา (Salmonella) และ สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง

ปวดคอ การใช้สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ และบ่าตึงเกร็ง ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยบริเวณท้ายทอย คอ บ่า และบางรายอาจมีอาการปวดลามมาถึงกลางหลัง

ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ คนที่ชอบเล่นสมาร์ทโฟนตลอดเวลานั้น อาจมีความตั้งใจที่ใช้สมาร์ทโฟนทำงาน เช็คเมลล์ หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และผ่อนคลายด้วยการเล่นเกมส์ แต่ไม่รู้หรอกว่า พฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟนนั้นทำให้เครียดโดยไม่รู้ตัว ถ้านึกไม่ออก ลองถามใจตัวสิครับว่า เมื่อสมาร์ทโฟนแบตหมด ท่านร้อนใจขนาดไหน

4 เคล็ดลับการใช้สมาร์ทโฟนอย่างปลอดภัย

1. บำรุงดวงตา รังสีจากหน้าจอมือถือจะทำลายจอประสาทตา การได้รับสารอาหารประเภทลูทีนช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตา และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยลูทีนนั้นพบมากในพืชผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ผักกาด ปวยเล้ง นอกจากนั้น ยังมีบิลเบอรี่สกัด และเบต้าแคโรทีน ที่พบมากในแครอท และฟักทอง สารอาหารเหล่านี้ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทำลายจอประสาทตา ทำให้ผิวเยื่อเมือกในตาชุ่มชื้น และกระตุ้นการทำงานของเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงดวงตาให้ทำงานดีขึ้น

2. หมั่นบริหารร่างกาย ผู้ที่เล่นสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานๆ มักมีอาการนิ้วล็อค ปวดบ่าคอ และไหล่ และคนที่เล่นสมาร์ทโฟนนานๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย ดังนั้น จึงควรกำหนดเวลาหยุดพักการเล่นอย่างชัดเจน หากิจกรรมอื่น ๆ ทำบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อลดปัญหาการนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ

3. ทำความสะอาด ด้วยพฤติกรรมการใช้มือถือที่เปลี่ยนไป จากเดิมใช้แค่โทรเข้าโทรออก ปัจจุบันเราใช้มือถือปาดไป ปาดมา ทั้งแชท ทั้งเล่นเน็ต ทำให้เราสัมผัสมือถือกันมากขึ้น จึงเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคได้ง่าย เราจึงควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดมือถือ และล้างมือตัวเองอยู่เป็นประจำ

4. หมั่นสำรวจตัวเอง เราต้องรู้จักสำรวจตัวเองว่า เราติดโทรศัพท์มือถือมากเกินไปรึเปล่า อาจจะต้องมีการกำหนดช่วงเวลาการใช้ที่ชัดเจน เช่น ช่วงเวลาทำงาน เราจะใช้เพื่อรับสายเท่านั้น เป็นต้น การกำหนดเวลาการใช้ที่ชัดเจนเช่นนี้ จะเป็นการป้องกันการติดโทรศัพท์มือถือของเราเอง

แต่หากคุณจำเป็นต้องใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้เกิดการเมื่อยล้า วิธีง่าย ๆ เพื่อบริหารสายตาเป็นดังนี้

การกระพริบตา : ช่วยลดอาการตาแห้ง ทำให้น้ำตาหล่อเลี้ยงได้ทั่วตา ลดการระคายเคืองตาได้

การใช้ฝ่ามือกดเบา ๆ : วางฝ่ามือบนเปลือกตาที่ปิดสนิท กดเบา ๆ ประมาณ 1 นาทีแล้วปล่อย ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง จะทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น

การมองไกล : ละสายจาจากหน้าจอสมาร์ทโฟน แล้วมองไปยังต้นไม้ ใบหญ้า หรือวัตถุสีเขียว จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการปรับโฟกัสของเลนส์ตาได้

การกลอกตาเป็นวงกลม : ให้มองไปรอบ ๆ กว้าง ๆ ตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ และทวนเข็มนาฬิกาอีก 3 รอบ จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการกลอกตาไปมา

ภก.ภาคภูมิ ตรีสิงหวงศ์ เภสัชกรจาก เมก้า วีแคร์


ภัยแฝงจากสมาร์ทโฟน ยิ่งใช้ ยิ่งทรุด

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์