ว่าด้วยคำว่า “มโน” และ “ยามโน”


          เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อของ “ยาเม็ดสลายมโน” มาบ้าง ไม่มากก็น้อย โดยส่วนใหญ่จากเว็บไซต์พันทิปหรือทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งมีการโพสต์รูปขวดที่มีฉลากว่า ยาเม็ดสลายมโน เพื่อแกล้งหรือแขวะเพื่อนที่มีอาการเพ้อฝันหรือเรียกว่า มโน นั่นเอง โดยข้างขวดมีสรรพคุณว่า ช่วยบรรเทาอาการเพ้อเจ้อหรือเพ้อฝันให้ผู้ป่วยที่มีอาการสร้างมโนภาพหรือผู้ที่มีอาการคิดเข้าข้างตัวเอง สามารถคุยกับตนเองได้ มีจินตนาการถึงโลกที่สวยตลอดเวลา ตัวยาใช้ทานหลังอาหารสามเวลา หลังจากนั้นดื่มวิกซอลตามมากๆแล้วไปนอนซะ พร้อมมีดอกจันกำกับไว้ว่า **สามารถใช้กับผู้ป่วยที่ไม่มีใครคบได้

เรื่องล้อเล่นแบบนี้ถือเป็นเรื่องตลกในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นอย่างมาก แต่ใครจะคาดคิดว่ายาเม็ดสลายมโนกลับมีวางขายอยู่จริงๆ ทั้งแบบมีหน้าร้าน และประกาศขายทางเพจในเฟซบุ๊กต่างๆ ด้วยราคากระปุกละ 590 บาท มีชื่อสูตรว่า AV โดยมีส่วนผสมและสรรพคุณแบบจัดเต็ม ทั้งคอลลาเจนจากปลา L-กลูตาไธโอน แยกโปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากเปลือกสน โคเอนไซม์ Q10 กรดอัลฟาไลไปอิค สารสกัดจากหญ้าหางม้า สารสกัดจากบริเวอร์ยีสต์ ซิงค์อะมีโนแอซิคคีเลต ซิลีเนียมอะมีโนแอซิคคีเลต คอปเปอร์อะมิโนแอซิคคีเลต แกมม่าโอไรซานอล แมงกานีสอะมีโนแอซิคคีเลต ซึ่งมีสรรพคุณสลายการมโนต้องการอยากมีหน้าอกที่เต่งตึงกระชับได้รูป ชื่อส่วนผสมก็แปลกแทบไม่เคยได้ยิน สรรพคุณก็ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้เมื่อลองนำเลขจดแจ้งของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้านล่างขวดไปค้นดู ก็พบความผิดปกติว่า ยาเม็ดสลายมโนแท้จริงแล้ว จดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่ใช่ยา และใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า "ดูไวท์แอนไทด์ " ไม่ได้ใช่ชื่อว่ายาเม็ดสลายมโน หรือนี่อาจเป็นการ สวมรอยเลข อย.ตัวอื่นหรือไม่ ทำไมฉลากกับชื่อ ที่จดทะเบียนถึงเป็นคนละชื่อกัน

“เดลินิวส์ออนไลน์” สอบถามผู้เชี่ยวชาญทางด้านยาถึงส่วนผสมและสรรพคุณรวมถึงการสวมรอยการจดทะเบียนอย.ด้วยว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร

เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สรรพคุณโดยส่วนใหญ่ของยาดังกล่าวนี้ เป็นสมุนไพรดังนั้นมันคืออาหารเสริม ไม่ใช่ยา แต่เมื่อฉลากมันเขียนว่ายาก็ต้องนำเลขทะเบียนอย.ไปตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของอย.โดยตรง และเมื่อทำการตรวจสอบแล้วเลขทะเบียนอย.ไม่ตรงกับฉลากบนกระปุกยา นั่นหมายความว่ายาดังกล่าวเป็นยาปลอม ไปนำเลขอย.ที่จดทะเบียนแล้วของคนอื่นมาใส่ ดังนั้นยาเม็ดสลายมโนที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างเลย เพราะส่วนผสมเหล่านั้นเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมไม่ได้มีส่วนช่วยในเรื่องของโครงสร้างร่างกายในส่วนหน้าอกให้มีความโตขึ้นมา ซ้ำร้ายอาจมีอันตรายเพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขาใส่ส่วนผสมเหล่านั้นเข้าไปจริงๆหรือไม่ หรืออาจมีการใส่ส่วนผสมอื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ในฉลากลงไปด้วย ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อนซื้อมากิน เพราะอาจถูกหลอกและยังเป็นอันตรายด้วย

นอกจากนี้ เภสัชกรประพนธ์ ยังกล่าวอีกว่า ยาฮอร์โมนเพศหญิงเป็นยาที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งอาจทำให้มีผลด้านขนาดหน้าอกได้ แต่ทางอย.ไม่อนุญาตให้โฆษณาในสรรพคุณนี้ ซึ่งนอกจากยาฮอร์โมนเพศหญิงแล้วก็ไม่มียาชนิดไหนที่ทำให้เกิดผลแบบนี้ขึ้นมาได้

ทั้งนี้ หากต้องการให้ อย.ไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือยาที่ผิดระเบียบ สามารถแจ้งเข้ามาได้ ทางเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยา www.fda.moph.go.th/ หรือโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1556 หรือทางตู้ปณ.1556 ก็ได้ ทางอย.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบยึดสินค้า และลงโทษทั้งผู้ขายและผู้ผลิตเนื่องจากทำผิดกฎหมายอาหารและยาตามกฎหมายพระราชบัญญัติ

อย่า “มโน” ไปเองว่ามี “ยามโน” เพราะการมโนอาจทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุแถมมีอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย




เดลินิวส์ออนไลน์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากพันทิป


ว่าด้วยคำว่า “มโน” และ “ยามโน”

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์