การอุ้มบุญ กับสัญชาตญาณความเป็นแม่


ระหว่างนั่งดูข่าวเรื่องหญิงสาวชาวไทยที่ยอมตั้งครรภ์เพื่อ “รับจ้าง” อุ้มลูกให้ชาวออสเตรเลีย หรือที่เราคุ้นว่า “อุ้มบุญ” นั่นแหละ ได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า กรณีอย่างนี้นักข่าวนำมาสัมภาษณ์กันอย่างโจ่งครึ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องที่ผิดฏหมาย แล้วอย่างนี้ไม่เท่ากับเป็นการช่วยโปรโมทให้กับธุรกิจ “รับจ้างตั้งครรภ์” กันหรอกหรือ !

ว่าแล้วก็ทำให้นึกถึงบทความของตัวเองที่เคยเขียนถึงเรื่องนี้เมื่อราว 7-8 ปีที่แล้ว ถึงกรณีของหญิงสาวชาวอินเดียที่แห่กันหันไปสร้างรายได้ด้วยอาชีพ “รับจ้างตั้งครรภ์” หรือที่เขาเรียกอีกอย่างว่า “ให้เช่ามดลูก” กันชนิดเป็นเรื่องเป็นราว การรับจ้างตั้งครรภ์นั้น มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้ไข่ของแม่ที่ต้องการจะมีลูกเอง นำมาผสมกับอสุจิ ซึ่งหากไม่ใช้ไข่ของแม่ตัวจริงที่อยากมีลูกก็จะเป็นไข่ที่ได้รับบริจาคมาเท่านั้น จะไม่ใช้ไข่ของคนที่รับจ้างตั้งครรภ์เด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความผูกพันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

ก่อนเริ่มกระบวนการ ทั้งสองฝ่ายจะต้องเซ็นสัญญาให้เรียบร้อย โดยคู่สามีภรรยาผู้ว่าจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตั้งท้องและค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ส่วนหญิงสาวที่รับจ้างตั้งครรภ์จะต้องลงนามรับรองว่าจะละทิ้งสิทธิในตัวเด็กหลังจากคลอดแล้ว เพื่อป้องกันการแย่งสิทธิในการดูแลเด็กที่อาจเกิดในภายหลัง ในขณะนั้นอินเดียยังไม่มีกฎหมายรองรับเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ให้ความสำคัญกับหญิงสาวที่จะมารับจ้างตั้งครรภ์จะต้องมีอายุน้อย สุขภาพแข็งแรง แต่งงานและมีลูกแล้ว ซึ่งต้องมีสุขภาพจิตที่ดี ผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาแล้ว

แต่ปัจจุบันทางการอินเดียพยายามควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากที่เคยเป็นแหล่งที่มีการอุ้มบุญเถื่อนมากที่สุดก็เริ่มลดลง เพราะทางการอินเดียเริ่มเอาจริงเอาจัง มีมาตรการในการป้องกันและเเข้มงวดมากขึ้น จนลดลงไปมาก และว่ากันว่าตอนนี้เมืองไทยกำลังกลายไปแทนที่อีกต่างหาก ที่ผ่านมากฎหมายไทยบัญญัติไว้ว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น ดังนั้นกรณีที่ให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนก็จะไม่สามารถได้รับสิทธิต่างๆ เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาล

เรื่องนี้มีการถกเถียงกันในวงกว้างว่าแท้จริงแล้วบ้านเราควรมีการเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องนี้เพื่อที่จะให้โอกาสผู้ที่อยากมีบุตรเป็นของตัวเองแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ และพยายามปิดช่องไม่ให้เรื่องการตั้งครรภ์แทน ถูกทำให้เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ แต่สิ่งที่น่าขันก็คือ เมื่อลองค้นหาไปในกูเกิ้ลด้วยคำว่า “อยากหาคนอุ้มบุญ” ปรากฏว่า มาเพียบทั้งข้อมูล เงื่อนไข สถานที่ ราคา ที่ไหน อย่างไร มีให้เลือกสรรแบบโจ่งครึ่มอีกต่างหาก

ประเด็นสำคัญที่ตามมา และน่าจะนำมาเป็นมาพิจารณาร่วมด้วยก็คือเรื่องจริยธรรม และสำนึกของความเป็นแม่ ! เพราะเรื่องของคนอยากเป็นแม่แต่ต้องให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้จะเข้าใจความรู้สึกของคนอยากเป็นแม่ แต่มีปัญหาไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ หรือด้วยเหตุผลนานัปการ อาจต้องอาศัยเทคโนโลยีแบบอื่นๆ มามากมายแต่ไม่เป็นผลจึงเลือกใช้วิธีนี้ แต่เชื่อเถอะแม่ประเภทนี้ไม่สามารถเข้าถึงคำว่า “แม่” อย่างแท้จริง

เพราะช่วงเวลาแห่งการตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน มันคือช่วงเวลาที่วิเศษสุดที่ได้เรียนรู้จักความเป็นแม่ ได้สัมผัสทั้งความรัก ความผูกพัน ความห่วงใย ความอบอุ่น และฯลฯ ต่อให้มีเงินมากขนาดไหน ก็ซื้อช่วงเวลาวิเศษแบบนั้นไม่ได้ และดิฉันก็ไม่มั่นใจจริงๆ ว่าจะนิยามคำว่า “แม่” ในรูปแบบนี้ว่าอย่างไร แค่ลองนึกถึงลูก ถ้าแม่บอกว่าแม่จ้างคนอื่นให้ท้องแทน แล้วลูกจะมีความรู้สึกอย่างไร

ไม่แปลกใจหรอกค่ะที่หญิงรับจ้างอุ้มบุญบางคน เมื่อตั้งครรภ์ไปแล้วเกิดความรักความผูกพัน จนสุดท้ายไม่ยอมให้ลูกกับคนที่จ้าง  เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน เพราะมนุษย์มีเลือดเนื้อเชื้อไข มีมิติของอารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณรัก แต่ถ้าถูกนำพามาเป็นเพียงการรับจ้างตั้งครรภ์โดยมีเงินเป็นค่าตอบแทน มันก็น่าเศร้าไม่น้อย เพราะเราคงไม่อยากได้ชื่อว่าเป็น “แม่รับจ้าง” 

ที่มาจาก manager

การอุ้มบุญ กับสัญชาตญาณความเป็นแม่

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์