6 ข้อควรทำ เพื่อเร่ง Internet Wi-Fi ให้ได้ความเร็วสูงสุด
1. เลือกใช้มาตรฐานของ Wireless LAN รุ่นล่าสุด
โดยมาตรฐานของ Wireless LAN ทั่วไปจะมีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกันคือ 802.11b, 802.11g และ 802.11n ซึ่ง 802.11n จะมีความเร็ว และมีระยะทางไกลของคลื่นครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้ 802.11n ทั้งตัว Access Point และที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ความเร็ว และความเสถียรสูงสุดนั่นเอง
ซึ่งในอนาคต จะมีมาตรฐานของ Wireless LAN แบบใหม่ นั่นคือ 802.11ac ที่มีความเร็ว และช่องสัญญาณมากขึ้น เพื่อการแชร์ไฟล์ที่รวดเร็ว เมื่อถึงเวลานั้น เราอาจมองหาอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานดังกล่าวต่อไป
2. ปรับช่องสัญญาณเสียใหม่
ช่องสัญญาณ หรือ Channel นั้นเปรียบเสมือนเลนบนท้องถนน หากเลนที่เราแล่นอยู่มีรถเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้ติดขัด เบียดเสียดกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราเองอาจปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณไปใช้ช่องที่มีผู้ใช้ น้อย โดยเราจะรู้ได้อย่างไรว่าระแวกบ้านใกล้เคียงใช้ช่องไหนอยู่ งานนี้อาจต้องพึ่งโปรแกรมช่วยเหลืออย่าง inSSIDer ที่เคยได้แนะนำไปครับ
ตรวจจับสัญญาน Wireless ด้วย inSSIDer
โปรแกรมจะทำการแจ้งชื่อ SSID ในระแวกใกล้เคียงให้ทราบว่า SSID ชื่อนี้ใช้ช่องสัญญาณไหนอยู่ หากพบว่า SSID ของ Access Point ของเรา ใช้ Channel ไปตรงกับช่องของคนอื่น ก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อที่เราจะได้ใช้ช่องสัญญาณที่ไม่มีคลื่นของคนอื่นเบียดเสียดเข้ามาครับ
3. ลองย้ายตำแหน่งที่วาง Access Point
ถ้าพบว่าสัญญาณ Wireless. ของเราอ่อน หรือขึ้นๆ ลงๆ แสดงว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อาจอนู่ห่างจาก Access Point มากเกินไป ควรทดลองย้ายที่วาง Access Point ไปอยู่ใกล้บริเวณที่มีการใช้งาน เพื่อลดระยะห่างระหว่างอุปกรณ์กับ Access Point และไม่ควรวางใกล้กับกำแพง หรือเสา เพราะอาจปิดกั้นสัญญาณ ทั้งนี้เราอาจจะเพิ่มความแรงของสัญญาณได้โดยการเปลี่ยนเสากระจายสัญญาณของ Access Point ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงจากสัญญาณรบกวนอื่นๆ
อุปกรณ์บางอย่างก็สามารถส่งสัญญาณเข้ามารบกวน ทำให้เกิดปัญหาได้ด้วยเช่นกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือเตาไมโครเวฟ เราจึงควรวางอุปกรณ์เหล่านี้ให้ห่างออกไปจาก Access Point และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน
5. ปรับค่า RTS/CTS
Wireless LAN มีการใช้สัญญาณ Request To Send/Clear To Send (RTS/CTS) ในการใช้เวลาจองช่องสัญญาณที่จะรับส่งข้อมูล เพื่อไม่ให้อุปกรณ์ที่ต้องการแชร์ข้อมูล ส่งสัญญาณออกมาชนกัน เราจึงควรปรับค่านี้ใให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เพราะหากใช้อุปกรณ์ไม่มาก ก็อาจใช้ค่าเดิมที่ถูกเซ็ตมาได้
6. แบ่งส่วนข้อมูลในการรับส่ง
หากไฟล์มีขนาดใหญ่ เราอาจจะแบ่งส่วนของข้อมูลออกเป็นย่อยๆ แล้วทยอยส่ง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลามากนักหากมีการรับส่่งที่ผิดพลาด ยกตัวอย่างไฟล์ zip ที่มักแบ่งเป็นหลายๆ ไฟล์แล้วส่งให้แก่กัน หากเราส่งแล้วเกิดผิดพลาดที่ไฟล์ไหน ก็ส่งเฉพาะไฟล์นั้น ซึ่งถ้าเราส่งไฟล์ไปเป็นก้อนเดียว หากเสียหายขึ้นมา การส่งใหม่อีกรอบย่อมกินเวลานานกว่าแน่ๆ