วิดีโอเกมกับเด็ก ใครว่าเป็นเจ้าตัวร้าย


วิดีโอเกมกับเด็ก ใครว่าเป็นเจ้าตัวร้าย


วิดีโอเกมกับเด็ก ใครว่าเป็นเจ้าตัวร้าย

เห็นข่าว ขสมก.จะมีไวไฟฟรีให้ใช้บนรถเมล์แล้วอีกหน่อยก็จะยิ่งเห็นภาพแบบนี้บนรถเมล์มากขึ้นจากที่พบกันบ่อยๆ บนรถไฟฟ้า ใครก็ไม่รู้คิดคำว่าสังคมก้มหน้าขึ้นมา แต่ดูเหมือนมันให้ภาพชัดอยู่พอสมควรที่คนสมัยนี้มักจะก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนในทุกที่ทุกทาง ไม่เว้นกระทั่งเวลาอยู่บ้าน 

เรื่องนี้เชื่อมโยงกับบทความชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้อ่านเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กที่คนเขียนบอกว่าสื่อหรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ชอบโยนความผิดไปให้สมาร์ทโฟน และแนะนำให้เลิกใช้มันไป ซึ่งเขาบอกว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่เข้าท่าในการให้โยนเครื่องมือในชีวิตประจำวันทิ้งไป เพราะปัญหาของการเลี้ยงดูลูกเต้านั้นไม่ใช่ปัญหาเรื่องเวลาอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย 

สมัยก่อนโทรทัศน์ก็เป็นแพะรับบาป และเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างน้อยก็ในบ้านเราที่เห็นพูดๆ กัน ยุคถัดๆ มาแพะรับบาปตัวใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ เกม สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต และโซเชียล เน็ตเวิร์กทั้งหลาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไฮเทคต่างๆ นานาเหมือนจะเป็นตัวร้ายที่ทำให้เด็กแย่ลง 

เมื่อราวๆ สองเดือนที่แล้วมีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งโดย ndrew K. Przybylski ตีพิมพ์ในวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics: The Official Journal Of The American Academy of Pediatrics) ที่ศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างเวลาในการเล่นวิดีโอเกมหรือคอมพิวเตอร์เกม พฤติกรรมของเด็กในวัยระหว่าง 10-15 ปี ใช้กลุ่มตัวอย่างราว 5,000 คน

ผลลัพธ์ออกมาเหมือนจะสวนทางกับความคิดกระแสหลักที่มักจะเห็นว่าวิดีโอเกมเป็นเจ้าตัวร้ายสำหรับเด็ก มีข่าวอะไรไม่ดีที่เชื่อมโยงกับเกมขึ้นมาก็พากันฮือฮาชี้นิ้วไปตามๆ กัน 

งานวิจัยชิ้นนี้เพ่งเล็งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในการเล่นเกมกับสุขภาวะของเด็กแล้วพบว่าเด็กที่เล่นเกมวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มีสุขภาวะที่ดีกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกมเลย ทั้งในด้านความพึงพอใจกับชีวิต การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการมีปัญหากับตัวเองและกับโลกภายนอกก็น้อยกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกมเลย 

ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่าไม่มีความแตกต่างๆ อะไรระหว่างเด็กที่เล่นเกมวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมงกับเด็กที่ไม่เล่นเกม แต่หากเล่นเกิน 3 ชม.ต่อวัน ผลจะออกมาเป็นตรงกันข้าม

จากผลการวิจัยชิ้นนี้พอจะชี้ให้เห็นว่าวิดีโอเกมหรือคอมพิวเตอร์เกมไม่ใช่เจ้าตัวร้ายสำหรับเด็กเสมอไป และถ้าเล่นน้อยๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันยังดีกว่าไม่เล่นเลยเสียอีก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการเล่นเกมก็ไม่ต่างจากการละเล่นอย่างอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่เพียงสนุกสนานแต่ยังนำไปสู่การเข้าสังคมและการพัฒนาอัตลักษณ์ของแต่ละคนขึ้น ใครๆ ก็รู้ว่าการเล่นกับเด็กนั้นมีความสำคัญ มีส่วนในการเสริมสร้างจินตนาการของเด็ก

สมัยก่อนอาจจะเล่นหมากเก็บ กระโดดเชือก ซ่อนหา ฯลฯ ทว่าสมัยนี้การเล่นของเด็กๆ ก็พัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าเพียงแต่กำกับเวลาที่เหมาะสมได้ ไม่ใช่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงหรือเอาแต่โทษเกมกันลูกเดียว 

และที่สำคัญคือวิธีการในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ถ้าแม้แต่ในบ้านก็ยังเป็นสังคมก้มหน้าไปด้วยก็เอวังเหมือนกัน 

Przybylski บอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ให้คำตอบว่าเหตุใดเวลาที่ใช้ในการเล่นเกมจึงส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กในทางที่ดี แต่เป็นไปได้ว่าการที่เล่นเกมน้อยกว่าทำให้มีเวลากับเพื่อนและครอบครัวมากกว่าก็เป็นได้

และให้ความเห็นว่าเกมเหนือกว่าทีวีตรงที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่มีส่วนร่วมกับลูกได้ ต่างจากทีวีที่เราได้แต่ต่างคนต่างดูหรือเป็นการรับทางเดียว ขณะที่ในการเล่นเกมนั้นผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์กันและกัน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์