ทำไม Steve Jobs ไม่ให้ลูกใช้ iPad ?


ทำไม Steve Jobs ไม่ให้ลูกใช้ iPad

ข่าวหลังงานแถลงข่าวของ Apple ที่ซู่ชิงสนใจเป็นพิเศษเป็นข่าวของอดีตบอสใหญ่ Apple ผู้ล่วงลับ ซึ่งเพิ่งจะมีสื่อออกมาเปิดเผยให้รู้อีกแง่มุมหนึ่งของเขาที่หลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึง

หลังจากงานแถลงข่าว Apple ครั้งล่าสุดจบไปได้เพียงวันเดียว ผู้สื่อข่าวที่มีชื่อว่า Nick Bilton ก็เขียนบทความออกมาบอกว่า Jobs เคยพูดเอาไว้ว่าเขาไม่อนุญาตให้ลูกของตัวเองใช้ iPad เสียด้วยซ้ำ!

เรื่องนี้ย้อนกลับไปในสมัยที่ iPad เริ่มจะวางขายในท้องตลาดในช่วงแรกๆ คุณ Bilton คนนี้เอ่ยปากถามบุรุษสเว็ตเตอร์คอเต่าในตำนานว่า "ลูกๆ ของคุณคงรัก iPad มากสินะ"

และเขาก็ต้องประหลาดใจที่คำตอบของ Jobs คือ ลูกของเขายังไม่เคยได้ใช้เลยด้วยซ้ำ

Bilton บอกว่าเขาอ้าปากค้าง ในหัวของเขามีภาพจินตนาการของบ้านตระกูล Jobs ว่าคงเป็นสวรรค์ไฮเทคของบรรดาเนิร์ดทั้งหลาย ผนังบ้านน่าจะมีทัชสกรีนติดตั้งไว้เพียบ โต๊ะอาหารคงจะทำมาจาก iPad หลายๆ เครื่องมาประกอบเข้าด้วยกัน และแขกไปใครมาก็คงจะได้รับแจก iPod คล้ายๆ กับการที่โรงแรมมักจะวางช็อกโกแลตไว้บนหมอนอย่างไรอย่างนั้น (คุณ Bilton นี่แกเว่อร์จริงๆ)

แต่จากคำบอกเล่าของ Jobs ก็คือความเป็นจริงนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่เขาจะไม่อนุญาตให้ลูกๆ ใช้ iPad เลยเท่านั้น เขายังจำกัดการใช้งานเทคโนโลยีโดยรวมของลูกๆ ด้วย

และเขาชอบให้ทุกคนในครอบครัวมานั่งล้อมวงคุยถกเถียงเรื่องนั่นเรื่องนี่กันมากกว่าที่จะให้ลูกๆ ปลีกตัวไปใช้เทคโนโลยีอยู่คนเดียว

(ข้อมูลจาก Walter Isaacson ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ Jobs บอกว่าที่โต๊ะอาหารในบ้าน Jobs คนในครอบครัวจะคุยกันเรื่องหนังสือ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ โดยไม่มีใครหยิบแก็ดเจ็ตชิ้นไหนขึ้นมาเลย)

ในบทความเรื่อง Steve Jobs Was a Low-Tech Parent หรือ สตีฟ จอบส์ เป็นพ่อที่โลว์เทค ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ The New York Times นั้นบอกว่า ไม่เพียงแต่ Jobs ผู้ล่วงลับเท่านั้น แต่บรรดาคนระดับบิ๊กช็อตต่างๆ ในวงการเทคโนโลยีอีกหลายต่อหลายคนก็มีวิธีการเลี้ยงลูกในแบบเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยี Wired ซึ่งในตอนนี้เป็นผู้บริหารใหญ่ของบริษัทผลิตโดรน ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter และคนดังในแวดวงเทคโนโลยีอีกหลายต่อหลายคนที่เขาเคยได้พูดคุยด้วย

เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนกับว่าซีอีโอเหล่านี้จะรู้อะไรบางอย่าง ที่พวกเรานอกวงการไม่รู้ก็เป็นได้

อดีต บ.ก. ของ Wired บอกว่า เขาและภรรยามักจะถูกลูกต่อว่าว่าทำตัวเผด็จการและขี้กังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของลูกๆ มากเกินไป

แต่เขาก็บอกว่าที่เขาต้องจำกัดการใช้งานเทคโนโลยีของลูกก็เพราะว่าเขาได้เห็นภัยอันตรายของมันมาแล้วด้วยตัวเอง และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกๆ

ภัยอันตรายที่เขาหมายถึงก็คือการได้เข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ การถูกรังแกจากเด็กคนอื่นบนอินเตอร์เน็ต (ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำให้เด็กและวัยรุ่นหลายคนถึงขั้นฆ่าตัวตายมาแล้ว)

และที่แย่ที่สุดก็คือการติดอุปกรณ์เหล่านั้นงอมแงมไม่ต่างอะไรจากคนเป็นพ่อเป็นแม่นั่นเอง

ส่วนระเบียบกฎเกณฑ์ที่พ่อแม่ในวงการเทคโนโลยีเหล่านี้เขากำหนดไว้ใช้กับลูกๆ ก็คือ สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ขวบนั้น ถือเป็นช่วงที่มีแนวโน้มที่จะติดเทคโนโลยีได้มากที่สุด ดังนั้น พ่อกับแม่จึงจำเป็นต้องตั้งกฎไว้ให้ชัดเจนเลยว่าในวันธรรมดาจะไม่อนุญาตให้ใช้แก็ดเจ็ตได้เลย แต่วันหยุดเสาร์อาทิตย์สามารถใช้ iPad และสมาร์ตโฟนได้ตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไปจนถึง 2 ชั่วโมง

แต่ในกรณีเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ในช่วงอายุ 10-14 ปี ก็จะได้รับอนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ในคืนวันธรรมดา แต่ต้องใช้ทำการบ้านเท่านั้น

และพ่อแม่จะต้องผ่อนปรนกฎระเบียบเหล่านี้เมื่อเด็กโตขึ้น เพราะเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้นก็จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

พ่อแม่บางคนเลือกที่จะห้ามไม่ให้ลูกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเลย (เว้นแต่บริการบางอย่างเช่น Snapchat ซึ่งจะลบภาพที่ส่งให้กันโดยอัตโนมัติ) ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นน่าสนใจมาก แต่ดูท่าจะเป็นเหตุผลที่เด็กไม่ยอมรับแน่ๆ เพราะยังไม่เจอกับตัว เนื่องจากพ่อแม่เหล่านี้บอกว่าไม่อยากให้ลูกพูดอะไรออกไปสู่สาธารณชนและจะเป็นคำพูดที่ตามหลอกหลอนติดตัวลูกจนโต ดังนั้น ก็เลยเลือกกันไว้ดีกว่าแก้

พ่อแม่นอกวงการเทคโนโลยีที่ Bilton รู้จัก มักจะหยิบยื่นสมาร์ตโฟนให้ลูกที่อายุประมาณแค่ 8 ขวบเท่านั้น

แต่สำหรับพ่อแม่ในวงการนั้นเป็นที่รู้กันว่าจะรอให้เด็กอายุ 14 ปีก่อน และให้ใช้งานแค่โทรศัพท์และส่งข้อความเท่านั้น จะไม่สมัครแพ็กเก็จอินเตอร์เน็ตให้จนกว่าจะอายุ 16 ปี

โดยที่มีกฎเหล็กหนึ่งข้อคือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตดีไวซ์ในห้องนอนโดยเด็ดขาด (ขีดเส้นใต้ย้ำสองครั้งจนกระดาษทะลุตรงคำว่า "เด็ดขาด")

ส่วนอีกด้านหนึ่งของพ่อแม่ในวงการเทคโนโลยีก็คือจริงอยู่ที่จะต้องมีการจำกัดเวลาการใช้เทคโนโลยี แต่การจำกัดเวลาการใช้ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะจะต้องพิจารณาว่าเด็กใช้เทคโนโลยี "ทำอะไร" ด้วย เพราะบนหน้าจอเดียวกันนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และฝึกทักษะอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย

ดังนั้น การตั้งหน้าตั้งตาแบนอย่างเดียว แทนที่จะเกิดผลดี ก็อาจจะเป็นผลร้ายไปเสียได้ อารมณ์คล้ายๆ กับเด็กที่พ่อแม่ห้ามอย่างเข้มงวดไม่ให้แตะน้ำอัดลม พอโตขึ้นและแยกออกไปอยู่คนเดียวก็แทบจะยกลังน้ำอัดลมมาเก็บสะสมไว้เพื่อกินให้สาแก่ใจ

เป็นไอเดียเอาไว้ให้คุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ได้ร่างกฎการใช้เทคโนโลยีที่จะเหมาะสมกับลูกของตัวเองมากที่สุดค่ะ

ทำไม Steve Jobs ไม่ให้ลูกใช้ iPad ?

บางส่วนจากคอลัมน์ Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน @Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin
มติชนสุดสัปดาห์


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์