ละเลยเรื่องเลือด ไวรัสตับอักเสบถามหาแน่ ! !




ไวรัสตับอักเสบ


          ภายในร่างกายของคน เราประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ ที่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเรียกกันว่า ระบบอวัยวะ ทำให้เราสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แต่ถ้ามีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งบกพร่องไป ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้ ซึ่งรวมไปถึงอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายอย่าง "ตับ"
 
          ตับ ในร่างกายของเรานั้น มีน้ำหนัก 1.5 กก. อยู่ในช่องท้องด้านขวาส่วนบน มีหน้าที่หลักในการเปลี่ยนสารอาหารสะสมเป็นพลังงานในร่างกาย ผลิตน้ำดีผ่านท่อน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ช่วยกรองและขจัดสารพิษ ยาและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกาย เมื่อไรที่มีการทำลายของเซลล์ตับเกิดขึ้น ทำให้การทำงานของตับผิดปกติ นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่ามีการอักเสบของตับเกิดขึ้นแล้ว ซึ่ออาจเกิดผลร้ายต่อร่างกายได้
 
          รศ.พญ.วโรชา มหาชัย ผอ.ศูนย์โรคทางเดินอาหารและ ตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายถึงการอักเสบของตับให้ฟังว่า แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ตับอักเสบ แบบเฉียบพลัน คนไข้จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และตามมาด้วยตัวเหลืองตาเหลือง โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          และ ตับอักเสบแบบเรื้อรัง คือ คนไข้อาจจะไม่มีอาการ มาตรวจพบจากการตรวจสุขภาพแล้วพบความผิดปกติของผลเลือด แต่ในกรณี ภาวะตับแข็งแทรกซ้อน คนไข้จะมีตัวและตาเหลือง ท้องและขาบวม มีจ้ำเลือดออกตามตัว อาจมีอาการซึมและสับสนหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และถ้าเป็น มะเร็งตับ ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการเจ็บชายโครงขวา มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารและน้ำหนักลด


ไวรัสตับอักเสบ


          โรคตับอักเสบ พบได้ในทุกวัย ทั้งชายและหญิง ที่เกิด จากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี อี รวมทั้งแอลกอฮอล์ ยา สารเคมีและสารปนเปื้อน ในสิ่งแวดล้อม
 
          สำหรับ ไวรัสตับอักเสบ เอ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันเท่านั้น มักจะเป็นแล้วหายเองได้โดยไม่มีภาวะเรื้อรังเกิดขึ้น สามารถติดเชื้อได้จากการบริโภค การทานอาหารที่ไม่สะอาด อาหารทะเล อาจจะเป็นโรคระบาดได้ สามารถติดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ ปัจจุบันมีการป้อง กันโดยให้วัคซีน
 
          ส่วนไวรัสตับอักเสบ บีและไวรัสตับอักเสบ ซี นั้น เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ในเมืองไทยพบไวรัสตับอักเสบ บี มากกว่าไวรัสตับอักเสบ ซี โดยพบพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ประมาณ 3 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 6 ของประชากรไทย สามารถติดต่อได้ทางเลือดและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเลือด เช่น การรับเลือด พลาสมาหรือเกล็ดเลือด หรือใช้เข็มที่ไม่สะอาดร่วมกัน ในกลุ่มที่ติดยาเสพติด นอกจากนั้น ยังพบได้ในน้ำลาย น้ำนม น้ำตา น้ำอสุจิ น้ำไขสันหลัง รวมทั้ง การฝังเข็ม การสักตามตัว การเจาะหู ที่ใช้เข็มไม่สะอาด และการใช้มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน ร่วมกัน
  
         
รวมไปถึง ทางเพศสัมพันธ์ และรักร่วมเพศ บุตรที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะมีโอกาสติดเชื้อ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหลังคลอด ซึ่งทำให้มารดาสามารถให้นมบุตรได้ด้วย โดยผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบ บี เรื้อรัง มักได้รับเชื้อมาจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่ออายุมากขึ้นมักจะหายได้เอง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเป็นเรื้อรังน้อยมาก


ไวรัสตับอักเสบ 

         
ในกลุ่มที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ที่มีผลเอนไซม์ตับปกติและไม่มีอาการ ขณะนี้ยังไม่มีการแนะนำให้รักษา เพราะการ รักษายังไม่ได้ผล เนื่องจากการรักษาด้วยยาซึ่งมีหลายตัว ทั้ง ยาฉีด และยารับประทาน อาจจะไม่ได้กำจัดเชื้อออกจากร่างกาย แต่สามารถลดการอักเสบและ การกำเริบของเชื้อในผู้ป่วยที่มี ตับอักเสบเรื้อรัง และมีการกำเริบของ  เชื้อไวรัสบีในร่างกาย การรักษาระยะยาวอาจเกิดการดื้อยาตามมาอีกทั้งยามีราคาแพง แต่ควรมาตรวจเช็กเลือดทุก 6 เดือน และทำอัลตราซาวน์ ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดตามดูการเปลี่ยนแปลงในตับ เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้
 
          เมื่อตรวจพบว่าเป็นพาหะไวรัสบี ไม่ต้องตกใจเพราะบางคนเป็นพาหะไปตลอดชีวิต ถ้าร่างกายมีภูมิต้านทานดีสามารถจะต้านเชื้อไวรัสได้ จึงต้องพยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรง ควรงดหรือไม่จำเป็นไม่ควรกินยาประเภทสเตียรอยด์ (steroids) รวมทั้งกลุ่มยาสมุนไพร เพราะอาจจะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
 
          สำหรับ ไวรัสตับอักเสบ ซี ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันอยู่ในช่วงนี้ เป็นปัญหาของตับอักเสบเรื้อรังที่พบได้ทั่วโลก เป็นปัญหาของประเทศทางตะวันตก และเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของการเปลี่ยนตับในประเทศทางตะวันตก แม้จะพบน้อยกว่าตับอักเสบไวรัส บี แต่มีโอกาสเป็นเรื้อรังสูงถึง  80 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะมีการรักษา ที่ค่อนข้างจะได้ผลดีแต่การรักษา มีค่าใช้จ่ายสูง เป็น อาร์เอ็นเอ ไวรัส (RNA virus) ค้นพบตั้งแต่ปี 1989 พบว่า ประชากร 170 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อ ในประเทศไทยพบได้ร้อยละ 1.5 โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีเชื้อ มีประวัติเคยรับเลือดมาก่อนและอีกครึ่งหนึ่งไม่เคยมีประวัติและไม่มีอาการแสดง ส่วนในรายที่ติดเชื้อมานานกว่า 20 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้
 
          "การติดต่อของเชื้อนั้นคล้ายกันกับไวรัสตับอักเสบ บี คือ การได้รับเลือด หรือผลิต ภัณฑ์ของเลือด นอกจากนั้นอาจติดจากการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การสักหรือฝังเข็ม การเจาะหู โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก และการติดต่อในครอบครัวพบได้น้อยมาก"
         
ไวรัสตับอักเสบ ซี มีอยู่ 6 สายพันธุ์ (genotypes) ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละายพันธุ์จะมีผลต่อการตอบสนองการรักษา และระยะเวลาการรักษาที่แตกต่างกันไป ในประเทศไทยนั้นพบว่า สายพันธุ์ 3a พบได้บ่อยที่สุดถึงร้อยละ 39 ตามด้วยสายพันธุ์ 1b และสายพันธุ์ 6 โดยทั่วไปแล้ว สายพันธุ์ 2 หรือ 3 จะรักษาได้ง่ายกว่า ได้ผลตอบสนองอยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเข้ารับการรักษาเพียง 6 เดือน ขณะที่สายพันธุ์ 1 หรือ 6 จะรักษาได้ยากและใช้เวลานานกว่าราว 1 ปี ได้ผลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มนี้มักเกิดปัญหาในการที่เชื้อกลับมาใหม่หลังหยุดการรักษา


ไวรัสตับอักเสบ 

         
รศ.พญ.วโรชา กล่าวถึงแนวทางในการรักษา "ไวรัสตับอักเสบ ซี มีจุดประสงค์เพื่อลดการอักเสบของตับ และหวังว่าจะกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ไปจากร่างกายอย่างถาวร รวมทั้งหวัง ว่าจะไม่ให้มีการพัฒนาต่อเป็นตับแข็งหรือมะเร็ง ควรรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนมีภาวะตับแข็ง เนื่องจากมี ผลข้างเคียงมากกว่า และภาวะตับแข็งอาจดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้ไวรัสตับอักเสบ ซี จะถูกกำจัดไปจากร่างกายแล้วก็ตาม ในส่วนของ ไวรัสตับอักเสบ บี นั้น การรักษาทำได้แต่การกำจัดเชื้อนั้นทำได้ยาก จึงรักษาได้ด้วยการกดไม่ให้เชื้อกำเริบเพื่อลดการอักเสบของตับ
 
          แต่เรื่องที่น่ายินดี คือ ไวรัสตับอักเสบ บี ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันได้ร้อยละ 90 ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด จำนวน 3 เข็ม ซึ่งทำให้ลดอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ลงมาจาก 6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งหวังว่า ปัญหาโรคดังกล่าวจะลดลงในอนาคต ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน เหมือนไวรัสตับอักเสบ เอ หรือ บี"
 
          ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น การสัมผัสเลือดของผู้อื่น หรือการได้รับเลือดของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น อาทิ มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ และผู้ป่วยที่มีประวัติติดยาเสพติด
 
          รวมทั้ง ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาที่สกปรก หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเที่ยวสำส่อน ทางเพศ และสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติการได้รับเลือดนานกว่า 10 ปี ควรได้พบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาไวรัสตับอักเสบ ซี ต่อไป สำหรับสามี-ภรรยาสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ รวมทั้งผู้ป่วยหญิงก็สามารถมีบุตรและให้นมบุตรได้ตามปกติ เนื่องจากการติดต่อด้วยวิธีนี้พบได้น้อยสำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี
 
          รู้อย่างนี้แล้ว...อย่าชะล่าใจ ไวรัสตับอักเสบ...เป็นภัยเงียบ...ที่ไม่ควรมองข้าม



การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ
 
          แนะนำให้ฉีดในคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคนี้มาก พบว่าคนไทยที่อายุเกิน 30 ปี มักมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ เอ แล้ว 
 
          ยังไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และแนะนำให้ฉีดวัคซีนกับบุคคลที่เสี่ยงต่อการนำโรคไปติดต่อผู้อื่น เช่น บุคลากรในสถานที่เลี้ยงเด็ก ผู้ปรุงอาหาร ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
 
          นอกจากนี้ อาจแนะนำให้ฉีดในกรณี พบพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคชัดเจน โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน จะให้ผลมีภูมิคุ้มกันได้ 94-99 เปอร์เซ็นต์ และมีภูมิคุ้มกันได้นาน 10 ปี



การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี
 
          ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 1 และเข็ม ที่ 2 ห่างกัน 1-2 เดือน ส่วนเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ห่างกัน 4-5 เดือน ควรฉีดวัคซีนให้ครบ ทั้ง 3 เข็ม ถึงแม้ว่าจะลืมหรือจำไม่ได้ให้ถือว่ายังไม่ได้ฉีด สามารถฉีดวัคซีนได้โดยเริ่มต้นใหม่ หรือ จะทำการตรวจเลือดดูภูมิต้านทานก่อนได้ 
 
          แนะนำฉีดในเด็กแรกเกิด ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไวรัส บี มาก่อน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสเลือด ผู้ป่วยที่รับการฟอกล้างไต หรือปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งผู้ป่วย โรคตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุอื่นๆ




ข้อมูลและภาพประกอบจาก

จุฑานันทน์ บุญทราหาญ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์