เรื่องน่ารู้ อาณาจักรโซเมีย คืออะไร? เกี่ยวยังไงกับ AEC


เรื่องน่ารู้ อาณาจักรโซเมีย คืออะไร? เกี่ยวยังไงกับ AEC


คำว่า "โซเมีย" หรือ "Zomia" คือศัพท์บัญญัติที่เคยเป็นที่ฮือฮาในแวดวงการรวมกลุ่มบูรณาการภายในภูมิภาคเอเชีย 

ซึ่งถูก คิดค้นโดย "Willem Van Schendel" นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ในปี 2545 และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในงานเขียนของ James C. Scott นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชื่อดัง 

สำหรับความหมายที่แท้จริงของ "โซเมีย" มักหมายถึง โซนภูมิศาสตร์วัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนที่สูง เหนือระดับน้ำทะเล 300 เมตรขึ้นไป โดยมีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนชายขอบที่กินทับตะเข็บชายแดนภูเขา ตั้งแต่จีนตอนใต้ อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศภาคตะวันออก ตลอดจนพื้นผิวขุนเขาในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ตามแนวเทือกเขาดาวนะ-เทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ชายแดนลาว-เวียดนาม และบางส่วนของกัมพูชาตามเส้นภูผาอันนัม 

สัณฐานของขุนเขาชายขอบดังกล่าว นอกจากจะเป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มชนในเขตอัสสัม มณีปุระ และตรีปุระของอินเดีย ในเขตภูเขาจิตตะกองของบังกลาเทศ ในเขตสามเหลี่ยมทองคำที่เต็มไปด้วยเหล่าพหุชนชาติ อย่างเช่น กลุ่มว้า ปะโอ อาข่า ฯลฯ หากแต่ขอบเขตอาณาจักรโซเมียนั้นยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งสอดรับกับกระแสการลงทุนยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องการขุดเจาะเหมืองแร่และอัญมณีรัตนชาติ การจัดตั้งเขตสัมปทานป่าไม้ การครอบครองพื้นที่สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและการพัฒนาการค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจโลจิสติกส์

โดยถึงแม้ว่าคำอธิบายเกี่ยวกับโซเมีย จะมุ่งเน้นไปที่การตีความเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและมานุษยวิทยา เพื่อค้นหาลักษณะร่วมของกลุ่มชนบนที่สูง หากแต่ในแง่มุมของการรวมกลุ่มอาเซียน โซเมียกลับเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงที่กระตุ้นให้นักธุรกิจนานาชาติ ต่างหันมาเร่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรและคุณลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรมโซเมียกันอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนาด่านการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องเจาะทะลุผ่านแนวตะเข็บโซเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งด่านศุลกากรและขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปเปิดตลาดตรงเขตเทือกเขาอันนัม ที่มักเชื่อมโยงไปยังไร่ปลูกกาแฟขนาดใหญ่ทางแถบที่ราบสูงโบโลเวนส์ของลาว รวมถึงหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ อาทิ กลุ่มเย้า ลาวโซ่ง และม้งดำ 

หรือในกรณีของการพัฒนาเส้นทางการค้าจากด่านแม่สอด จังหวัดตาก มุ่งตรงเข้าสู่เมืองมะละแหม่งของเมียนมาร์ ซึ่งเริ่มกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยหันมาทำความรู้จักกับพื้นที่ชายแดน ซึ่งมักเต็มไปด้วยการตั้งถิ่นฐานของกองกำลังกะเหรี่ยงที่คอยตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางในเขตป่าเขาอันห่างไกลจากอำนาจรัฐบาลพม่าหรือแม้แต่การขยายตลาดจากเมียนมาร์พุ่งตรงเข้าสู่อินเดีย และบังกลาเทศที่ต้องพาดผ่านเขตดินแดนหัวใจโซเมีย (Heartland Zomia) อันเป็นหมุดหมายหลักทางภูมิศาสตร์ที่จะนำพาทุนไทยให้เข้าไปหลอมรวมกับย่านตลาดใหม่ในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

อาจทำนายได้ว่า "อาณาจักรโซเมีย" (ที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร พร้อมประชากรอีก 100-125 ล้านคน) ถือเป็นจินตนาการทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมแนวใหม่ ที่มุ่งทลายระบบคิดแบบศูนย์กลางรัฐชาติแนวดั้งเดิม มาเป็นระบบคิดเชิงชายแดนชายขอบ ที่เน้นการผนวกอาณาจักรการค้าตอนใน (Hinterland Emporium) โดยการถูกหลอมรวมบูรณาการ พร้อมค่อย ๆ แปลงสภาพเป็นตัวเชื่อมเชิงพาณิชย์ (Commercial Linker) ที่ยึดโยงให้อาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าที่กระชับแน่นขึ้น

กระนั้น การระดมพลังเม็ดเงินผ่านอาณาจักรโซเมียแห่งนี้ กลุ่มพ่อค้าอาเซียนคงจำเป็นต้องลงทุนศึกษาวิจัยสภาพเศรษฐกิจสังคมของชนที่สูงกันอย่างเข้มข้น เนื่องจากอาณาจักรสนธยาที่กำลังจะแปลงร่างเข้าสู่อาณาจักรการค้าแห่งนี้ ถูกทำให้เป็นชายขอบ (Marginalization) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ทำให้ความเป็นโซเมีย มักจะอยู่นอกเหนือจากกระบวนการรับรู้กระแสหลักของผู้คนในเขตศูนย์กลางมาเป็นเวลาช้านาน


ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์