จากเลือดไก่ สู่ แอปเปิ้ล กับสูตรป้องกัน เชื้อ รอบตัว

จากเลือดไก่ สู่ แอปเปิ้ล กับสูตรป้องกัน "เชื้อ" รอบตัว


กลายเป็นข่าวโด่งดังที่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าและผู้ประกอบการอาหาร หลังเกิดข่าว "เลือดไก่ในข้าวมันไก่ก่ออหิวาต์เทียม..." หรือล่าสุด "เรียกเก็บแอปเปิลมะกันปนเปื้อนเชื้อโรค" งานนี้ผู้บริโภคพากันสะดุ้งไปตามๆ กัน

เริ่มจากกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา

ทำหนังสือขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ และอ้างอิงข้อมูลจากสำนักระบาด กรมควบคุมโรค (คร.) ว่า พบรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากข้าวมันไก่ และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าปัญหาคือมาจากเลือดไก่ โดยเชื้อที่พบคืออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) โดยจากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ติดจากตัวเลือดไก่โดยตรง แต่มาจากกระบวนการผลิต ซึ่งมีความเป็นไปได้ การผสมน้ำเกลือเพื่อคงสภาพแข็งของเลือด อาจมีผลทำให้เชื้อปนเปื้อน ประกอบกับต้มไม่สุกจึงทำให้เชื้อเจริญเติบโตขึ้น
 
ปัญหาคือหนังสือดังกล่าวกลับมีชื่อของ นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
 
และระบุว่า งดข้าวมันไก่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้น กระทั่ง นพ.วิชัยต้องตั้งโต๊ะแถลงว่า หนังสือดังกล่าวเป็นของ สสจ.นครราชสีมาจริง แต่ไม่ได้ระบุว่างดหรือห้ามกินข้าวมันไก่แต่อย่างได ขณะที่กรมควบคุมโรค (คร.) นำโดย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมายืนยันว่าสามารถรับประทานข้าวมันไก่ได้ปกติเช่นกัน


ส่วนเลือดไก่หากจะรับประทานต้องต้มให้สุกโดยสังเกตเลือดไก่ที่ต้มสุกง่ายๆคือ ต้องมีสีเข้ม และเนื้อแข็งกว่าเลือดไก่ที่สุกไม่ดี ที่มีสีแดงๆ กลิ่นคาวและเนื้อนิ่มหยุ่น หากรับประทานแบบสุกๆ ต้มเกิน 75-80 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้ออหิวาต์เทียมที่ส่งผลให้เกิดอุจจาระร่วงได้



ปรากฏว่าเรื่องเลือดไก่ไม่ทันซา...กลับมีข่าวแอปเปิลนำเข้าจากสหรัฐเสี่ยงรับเชื้อแบคทีเรียอีก
 
ทั้งนี้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงวันที่ 14 มกราคม 2558 เรื่ององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) แจ้งการเรียกคืนสินค้าของบริษัท Bidart Bros.
 
แจ้งว่า แอปเปิลพันธ์กาล่า ภายใต้เครื่องหมายการค้า "บิ๊ก บี" (Big B) และแอปเปิลพันธุ์แกรนนี่สมิธ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "Big B" หรือ "Granny′s Best" ของบริษัทดังกล่าว
ปนเปื้อนเชื้อโรค "ลิสเทอริโอซิส" (Listeriosis) ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ และคนชรา หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
 
กระทบห้างสรรพสินค้าชื่อดังมากมายในการจำหน่ายแอปเปิลนำเข้า 2 ชนิดนี้


กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย. ต้องออกมาชี้แจงว่า จากการตรวจสอบด่านต่างๆ เบื้องต้นไม่พบการนำเข้าของแอปเปิลทั้ง 2 ชนิด แต่เพื่อความปลอดภัย อย.ได้ส่งตัวอย่างไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจสอบเชื้อแบคทีเรีย คาดทราบผล 2-3 วัน แต่ทางที่ดีที่สุดก่อนรับประทานควรปอกเปลือก เพื่อป้องกันเชื้อชนิดนี้ รวมทั้งสารเคมีอื่น ๆ
 
เกิดคำถามว่า จากการพบเชื้อในอาหารการกินเช่นนี้ เป็นเพราะเชื้อเหล่านี้ปะปนอยู่ในสภาพแวดล้อมใช่หรือไม่
 
และเราจะดูแลสุขภาพ สุขลักษณะอย่างไร?
 
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ปกติเชื้อโรคหลายชนิดมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว มีมาก่อนมนุษย์เสียอีก เพียงแต่บางชนิดร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันดีก็ป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแต่ละประเทศมีโครงการความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ทำให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ส่งผลให้ทราบว่าอาหารชนิดใดปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย
 
เหมือนเหตุการณ์กรณีสเปนพบเชื้ออี.โคไลในถั่วงอกซึ่งเดิมอาจพบยากขึ้นแต่เมื่อวิวัฒนาการดีขึ้น การตรวจสอบโรคก็พบง่ายด้วย เช่นเดียวกับเชื้อลิสเทอริโอซิส ที่มีข่าวว่าสหรัฐส่งหนังสือแจ้งมายังไทย เพื่อให้ตรวจสอบแอบเปิลพันธุ์กาล่าและแอปเปิ้ลพันธุ์แกรนนี่สมิธ เนื่องจากพบเชื้อนี้
 
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทราบว่ายังไม่พบการนำเข้าแอบเปิลที่อาจรับเชื้อนี้เข้าประเทศไทย
 
จริง ๆ แล้ว เชื้อลิสเทอริโอซิสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในน้ำ ในดิน ในอุจจาระ พบได้ทั่วไป การที่มีโอกาสพบเชื้อนั้นพบได้หมด ทั้งพืชผัก ผลไม้ หรือแม้กระทั่งนม ยีสต์ เนย เพียงแต่ว่าจะพบที่กระบวนการไหน แม้เราบริโภคอาหารที่มีเชื้อชนิดนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในคนที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี แต่ในคนที่ภูมิต้านทานน้อยหรือผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึงเด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และในหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มนี้ต้องระวัง
 
เชื้อชนิดนี้จะสังเกตค่อนข้างยาก ตรงที่อาการไม่จำเพาะ เนื่องจากอาการหลากหลาย ตั้งแต่มีไข้สูง อาจติดเชื้อในกระแสเลือดและลุกลามไปที่สมอง ไปจนถึงสมองอักเสบได้ บางรายอาจมีภาวะไข้สมองอักเสบ แต่กรณีนี้ต้องตรวจสอบดีๆ เนื่องจากไข้สมองอักเสบมีหลายสาเหตุ
 
สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยน้อยมาก มีเพียง 1-2 รายเท่านั้น

 เพราะจริงๆ หากมีอาการลักษณะนี้ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งจะหายได้ ทำให้ไทยไม่มีรายงานชัดเจนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อชนิดดังกล่าว
 
"จริงๆ เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเชื้อโรคพวกนี้ เพราะมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างเชื้ออหิวาต์เทียมนั้น แม้จะไม่เติบโตในดิน
แต่จะพบในน้ำกร่อย น้ำเค็ม ซึ่งหากอยู่ในดินก็พบได้ แต่ไม่ก่อโรค จะอยู่นิ่งๆ แต่หากอยู่ในดินที่ชื้นแฉะและไปปนเปื้อนกับอาหารก็จะก่อโรคอุจจาระร่วงได้ทันที
 
ขณะที่เชื้อลิสเทอริโอซิสนั้นจะพบในดินในน้ำหากพบในพวกผลไม้ พืชผัก อาจมาจากกระบวนการปลูกก็เป็นได้
ตรงนี้ก็ต้องดูสาเหตุ แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หากจะรับประทานอาหาร เน้นปรุงสุก ร้อน เป็นดี โดยผักผลไม้ต้องนำไปล้างน้ำให้สะอาด หรือล้างผ่านน้ำสัก 15 นาที รวมทั้งอาจแช่น้ำด่างทับทิม ก็จะสามารถรับประทานได้
 
"ส่วนผลไม้ที่มีเปลือกอย่างแอบเปิล จริงๆ ถ้าล้างน้ำก็รับประทานได้แล้ว แต่หากกังวลก็ปอกเปลือกแล้วกินจะได้สบายใจ" นพ.โอภาสกล่าวทิ้งท้าย ด้วยการแนะวิธีง่ายๆ ในการอยู่ร่วมกับเชื้อโรคที่มีอยู่รอบตัว...โดยไม่ก่อโรค

จากเลือดไก่ สู่ แอปเปิ้ล กับสูตรป้องกัน เชื้อ รอบตัว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์