ที่มาของพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
2 เมษายน 2558 เป็นวันเฉลิมพระชนมายุ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ข้าพระพุทธเจ้า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปแสดงปาฐกถาในงานภูมิพลังแผ่นดินเรื่อง “รัตนะของแผ่นดิน จักรินทร์ราชสุดา” เล่าถึงที่มาของพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า
“เริ่มที่คำนำหน้าพระนาม “สมเด็จพระ” ที่บางคนยังไม่ทราบ คำนำหน้าพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับพระบรมราชวงศ์จักรีที่เป็นผู้หญิง เพราะตำแหน่งนี้เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ และพระอิสริยศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ สู่จุดสูงสุดเท่าที่พระบรมวงศานุวงศ์จะพึงได้รับการโปรดเกล้าฯ สนองพระนาม
ซึ่งนานๆ จะมีครั้งหนึ่ง หรือรัชกาลหนึ่งจะมีสักพระองค์หนึ่ง
เพราะที่ผ่านมามักจะเป็นการสถาปนาพระยศของ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระพี่นางเธอ การจะทำได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในโบราณนิติประเพณี หรือคำนึงถึงความรู้สึกของพระบรมวงศานุวงศ์ ความรู้สึกของประชาชนว่า ยอมรับหรือไม่
และคุณงามความดี ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินจะเลื่อนใครได้ง่ายๆ”
พระนามที่มีคำว่า “เทพ รัตนะ สุดา” ซึ่งเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหมายว่า “เทวดา แก้วอันประเสริฐ และลูกสาว”
ใส่พร้อมกันในพระนาม ไม่เคยปรากฏในพระราชพงศาวดารการตั้งชื่อเจ้านายหญิง เพราะจะเลือกมาตั้งพระนามในกรณีที่จำเป็นและเหมาะสม
ไม่ใช่นึกจะตั้งก็ตั้ง การตั้งพระนามเจ้านาย ต้องมีที่มาที่ไป ต้องระมัดระวัง และยึดตามโบราณราชประเพณี
“ถือเป็นความสอดคล้องอันยิ่งใหญ่ พร้อมกับการสถาปนา “สมเด็จพระ” ซึ่งมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นผู้ทรงคิดพระนามถวาย และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พอพระราชหฤทัยมาก ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย”
ดร.วิษณุ เล่าอีกว่า หลังจากสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คนไทยยังไม่คุ้น เรียกกันไม่ถูก พอคนไทยเรียกไม่ถูก ก็จะย่อเรียกพระนามเป็นว่า “สมเด็จพระเทพฯ , พระเทพ” ทั้งที่ในใจก็รักพระองค์
แต่ผมไม่อยากให้เรียกอย่างนั้น เพราะจะขาดคำที่สำคัญและความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระองค์นี้ ที่ทรงเป็นดั่ง “รัตนะ” คือ “แก้วอันประเสริฐ” และแก้วยังเป็นเรื่องสำคัญตามคตินิยมพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์
ฉะนั้น อยากจะเชิญชวนให้เรียกว่า “สมเด็จพระเทพรัตนฯ” ซึ่งจะให้ความหมายว่า “ทรงเป็นแก้วของเทพ แก้วของแผ่นดิน”
คำนี้มีความหมายซาบซึ้งตรึงใจกว่าการออกพระนามที่เรียกกันอย่างไม่เข้าใจความหมายที่ผ่านมา
พระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระเทพรัตนฯ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีมากมาย แต่ทุกสัปดาห์ สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะจัดเวลาไปสอน “วิชาประวัติศาสตร์” ที่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ที่จังหวัดนครนายกไม่เคยขาด ทรงให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง
ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้นักเรียนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ค่อยรู้สึกรักชาติ
ถ้าได้เรียนประวัติศาสตร์ไทยลึกซึ้งกว่านี้แล้วจะขนลุก พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ทรงสร้างชาติไทยได้ยิ่งใหญ่อย่างเหลือเชื่อ เลยทีเดียว
ราชอาณาจักรไทย สมัย กรุงธนบุรี ต่อ ต้นรัตนโกสินทร์ กว้างใหญ่ไพศาลมาก ทิศเหนือ ครองไปถึง เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ทิศตะวันออก ครองไปถึง ลาว เขมร ฝั่งแม่น้ำโขงจดเวียดนาม ทิศใต้ ลงไปถึง ตรังกานู ไทรบุรี ทิศตะวันตก ครองทั้ง เมาะตะมะ ทวาย มะริด ตะนาวศรี ยิ่งใหญ่ขนาดไหนลองไปเปิดแผนที่ปัจจุบันดูก็ได้
........................................................
หลายท่านสงสัยกันว่า การออกพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ่านอย่างไร จึงจะถูกต้อง สำนักราชเลขาธิการได้ให้ข้อมูลเรื่องการออกพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า
“สม – เด็ด – พระ – เทบ – พะ – รัด – ราด – สุ – ดา – สะ – หยาม – บอ – รม – มะ – ราด – ชะ – กุ – มา – รี”
ที่มา ; จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 11 ฉ.117 กุมภาพันธ์ 2544
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!