เรื่องเล่า ภาพเก่า “อำแดงเหมือน” วีรสตรีที่ถูกลืม
จะเล่าเรื่อง.. "อำแดงเหมือน" วีรสตรีที่ถูกลืม ผู้เรียกร้องสิทธิสตรีให้แก่หญิงไทยเป็นครั้งแรก...
"อำแดงเหมือน" เมื่อกล่าวถึงชื่อนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า เธอคือใครและมีความสำคัญอย่างไร แต่หารู้หรือไม่ว่า เธอคนนี้คือผู้จุดประกายแสงแห่งสิทธิสตรีของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นวีรสตรีที่ถูกลางเลือนในกันสมัยนี้จนน่าแปลกใจ เรื่องราวของอำแดงเหมือน เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ นับเป็นช่วงที่สตรีถูกประเมินค่าต่ำมากในสังคมไทย เพราะบิดามารดาหรือสามีสามารถขาย บุตรสาว ภรรยาของตนให้กับชายใดก็ได้ แม้สตรีผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จนมีคำกล่าวว่า "ผู้หญิงเป็นควาย...ผู้ชายเป็นคน"
ตามประวัติศาสตร์มีการบันทึกว่าเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ อำแดงเหมือนนั้นมีอายุ ๒๑ ปี ชอบพอรักใคร่ กับนายริด โดยที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือนไม่ทราบ ต่อมาบิดามารดา ของอำแดงเหมือน จัดการบังคับแต่งกับนายภู แต่เธอไม่สมัครใจที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับนายภู บิดามารดาของอำแดงเหมือนจึงทุบตีและบีบบังคับให้แต่งงานกับนายภู และได้สมคบกับนายภูให้ฉุดคร่าอำแดงเหมือนไปไว้ในที่บ้านถึงสองครั้ง แต่อำแดงเหมือนก็ดิ้นรนและยืนกรานไม่ยอมเข้าไปในเรือนของนายภูและหลบหนีกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้านบิดามารดาก็ทุบตี และข่มขู่จะฆ่า ในที่สุดอำแดงเหมือนจึงหลบหนีไปอยู่บ้านนายริด หลังจากนั้นบิดามารดาของอำแดงเหมือน บอกให้นายริดนำผู้ใหญ่ไปสู่ขอและขมาโทษที่บ้านกำนัน เมื่อนายริดแลญาติผู้ใหญ่ไปถึง พบนายภู นายภูจัดการกักตัวญาติผู้ใหญ่ของนายริดไว้ที่บ้านกำนัน และอำแดงเหมือน , นายริดและบิดามารดาของนายริด ก็ถูกหมายเรียกตัว ไปยังศาลากลางเมืองนนทบุรีเพื่อดำเนินคดี ซึ่งอำแดงเหมือนให้การต่อพระนนทบุรีและกรมการว่าไม่ได้รักใคร่ยอมเป็นเมียนายภู กรมการจึงเปรียบเทียบว่าถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าอำแดงเหมือนยินยอมเป็นเมียนายภู ก็ให้นายริดแพ้ความ แต่นายภูไม่ยอมสาบานตัว กรมการจึงเปรียบเทียบว่าให้อำแดงเหมือนสาบานว่าไม่ได้ยอมเป็นเมียนายภูและให้คดีเลิกแล้วต่อกัน แต่นายภูก็ไม่ยอมให้อำแดงเหมือนสาบานอีก ต่อมานายภูได้มาฟ้องกล่าวหานายริด บิดามารดาของนายริด และญาติผู้ใหญ่ของนายริดอีก ๒ คน พระนนทบุรี และกรมการบังคับให้นายริดส่งตัวอำแดงเหมือนให้แก่ตุลาการ อำแดงเหมือนได้ให้การตามเดิมว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภู แต่เธอกลับถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง ในระหว่างนั้นมารดาของเธอก็ได้ขู่เข็ญให้ยอมเป็นเมียนายภู และแกล้งใช้งานต่างๆ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก ในที่สุดอำแดงเหมือนจึงได้หนีมาถวายหนังสือฎีกาแก่พระเจ้าอยู่หัว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภู และสมัครใจที่จะอยู่กินกับนายริด พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้" แต่ให้นายริดจ่ายค่าเบี้ยละเมิด และค่าฤชาธรรมเนียม แก่บิดามารดาอำแดงเหมือนและนายภู ให้เลิกอายัดและยกฟ้องปล่อยตัวญาติผู้ใหญ่ ของนายริด และวินิจฉัยถึงสาเหตุ ที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือน ยอมให้นายภูมาฉุดคร่าตัวอำแดงเหมือนไปถึงสองครั้งนั้นว่า อาจเนื่องมาจาก เหตุที่บิดามารดาได้ทำหนังสือขายอำแดงเหมือนให้แก่นายภูไปแล้วซึ่งหาเป็นเช่นนั้นได้ตัดสินว่า "บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา" ถือว่าอำแดงเมือนเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง คดีนี้จึงโด่งดังมาก ผู้เขียนขอยกข้อความทั้งหมดจากคัดจากชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔ เพื่อใช้อ้างอิง และประกอบความรู้ในเรื่องนี้ด้วย
ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา
ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก
มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการโรงศาล แลราษฎรในกรุงหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มีหญิงสาวคนหนึ่ง ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ความในฎีกาดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้าอำแดงเหมือนเป็นบุตรนายเกต อำแดงนุ่น อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ ๒๑ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อนขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายเรื่องราวให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๔ ปีชวดฉศก๑๔ นายภูให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าต่อบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่า บิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า
ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดฉศก๑๔ เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภู นายภูให้ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านรู้เห็นเป็นอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้า ได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึงพาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยอยู่ที่บ้านกำนัน นายภูจึงอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน
ครั้น ณ เดือน ๗ ปีฉลูสัปตศก๑๕ มีหมายหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดไปเกาะข้าพระพุทธเจ้ากับนายริด กับบิดามารดานายริด มาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าให้การว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีและกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายริดแพ้ความนายภู นายภูไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หาให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่
ครั้นเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ นายภูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริด กับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน มีความแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการ เกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดากับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนมาแล้ว บังคับให้นายริดส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตุลาการ นายริดกับบิดามารดานายริด แลผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนก็เป็นคู้สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าได้ให้การไว้ต่อตุลาการเป็นความสัตย์จริง ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว นายเปี่ยม พะทำรงคุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตะราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาขู่เข็ญจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเป็นภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนตุลาการให้ชำระความต่อไป ก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยม พะทำรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ แกล้งใช้แรงงานต่างๆ เหลือทนได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัครเป็นภรรยานายริดชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ฎีกานี้ทรงแล้วจึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาลง ถ้าความเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไกลจากการที่เป็นจริงนัก ให้จมื่นราชามาตย์ กับนายรอดมอญ มหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฎีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายชู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่ง ให้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นเงินสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิง แลชายที่ว่าเป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเป็นเลิกแล้วต่อกันทั้งเรื่อง
แต่ถ้าความแปลกจะมีนอกจากที่ว่าในฎีกานี้ จะต้องตัดสินตามสักสองอย่าง คือ กิริยาที่บิดามารดายอมยกให้บุตรหญิงของตัวไปแก่ชายนั้นกระมัง จึงต้องยอมให้เขาฉุด ก็ถ้าการเป็นดังนี้ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา เพราะฉะนั้นในความเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชานชู้เดิมแลตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย
แลหญิงนั้นเมื่อหนีบิดามารดาตามชู้ไป ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วย ถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้ก็เร่งคืนให้ เว้นไว้แต่ผ้านุ่งห่มแลเบี้ยเงินหรือสิ่งของราคาสักสามตำลึง ให้บิดามารดาลดให้หญิง เพื่อจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่สักเดือนหนึ่งสองเดือน กว่าจะมีที่ทำมาหากินกับชายที่ตัวหญิงนั้นยอมเป็นเมียเขา
ความวิวาทอายัดแลฟ้องเถ้าแกให้เลิกเสีย
ตามลัทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใด ชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเป็นเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของ แลให้เมียเป็นดังสัตว์เดียรัจฉาน เพราะลัทธิอย่างนั้น แลจึงได้ตัดสินในเวลาหนึ่ง ให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงหย่าชายหย่าได้นั้นให้ยกกฎหมายนั้นต้องยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นประมาณ ความเรื่องนี้ที่เปรียบเทียบพิจารณาว่าเป็นเมียว่าไม่ได้เป็นเมียให้ยกเสีย เอาแต่ตามใจหญิงที่สมัครไม่สมัครเป็นประมาณ หญิงใดมีชายมาขอ บิดามารดายกให้ ตัวยอมไปอยู่ด้วยกัน มีผู้รู้เห็นด้วยกันมากกว่าสองคน เป็นผัวเมียกัน ร่วมสุขทุกข์รุนรอนเดียวกันอยู่นานหลายวันหลายเดือนประจักษ์แจ้งแก่คนรอบบ้านรอบเมือง ไม่มีใครขัดใครเถียง จึงควรตัดสินว่าเป็นผัวเมียกัน ในความเรื่องนี้จะให้เป็นถึงอย่างนั้นจะไม่ได้ จึงต้องให้เป็นไปตามใจหญิงสมัคร
ความคล้ายกับเรื่องนี้แต่ก่อนก็เคยตัดสินมา แต่ก่อนมีผู้มีชื่อพาบุตรหญิงไปขายไว้แก่พระยาสิงหราชฤทธิไกร ผู้บิดาหลวงเสนาภักดี แต่หญิงนั้นยังเป็นเด็ก ครั้นหญิงนั้นเจริญเป็นสาว หลวงเสนาภักดีสมคบเป็นภรรยา ครั้นภายหลังบิดามารดาของหญิงมายุยงหญิง ให้ถอนตัวจากหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมเป็นภรรยา จะสมัครคืนไปกับบิดามารดา หลวงเสนาภักดีก็ยอมปล่อย บิดามารดาจึงเอาเงินค่าตัวมาส่งหลวงเสนาภักดี แล้วรับตัวหญิงไปไว้ ไม่ช้าก็ไปบอกขายให้ผู้อื่นยอมยกหญิงนั้นให้เป็นภรรยาผู้อื่น หญิงนั้นไม่สมัครมาร้องทุกข์ จะขอกลับคืนมาเป็นภรรยาหลวงเสนาภักดี หลวงเสนาภักดีก็ยอมใช้เงินแรงกว่าค่าตัวเดิม แต่ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่บิดามารดาขืนใจบุตรไปขายให้ผู้อื่น ความเรื่องนี้ก็ได้โปรดตัดสินให้ตามใจหญิงแลหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมให้ตามใจบิดามารดา แลชายซึ่งจะเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่
ความสองเรื่องนี้โปรดตัดสินให้ตามหญิงแลชายที่รักใคร่กัน ไม่ตามใจบิดามารดา ชะรอยคนบางจำพวกที่มีคดีของตัว ที่ตัวสำคัญว่าคล้ายกับเรื่องสองเรื่องนี้ แต่ได้ถูกตัดสินไปอย่างอื่นแต่ก่อนแล้ว จะมาบ่นหรือคิดว่าทรงตัดสินความต่างๆ ครั้งก่อนไม่เหมือนกัน การนั้นทรงพระราชดำริทราบแล้วว่า จะมีผู้ว่าอย่างนั้นจะคิดอย่างนั้น ขอให้ผู้สังเกตคดีถ้อยความพิจารณาดูให้ละเอียด ซึ่งทรงตัดสินต่างๆ ไปนั้น ตามบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของหญิงแลชาย แลเกี่ยวข้องในที่สูงที่ต่ำ มีที่กำหนดผิดกันอยู่จึงทรงตัดสินยักเยื้องไป
ชักเรื่องเทียบให้เห็นว่า แต่ก่อนนี้ไป นายไทยมหาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนเป็นนายรองชิด บัดนี้เป็นขุนนครเกษมศรี รองปลัดกรมกองตระเวนขวา แต่เถ้าแก่ไปขอทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุน เป็นภรรยา ได้ปลูกหอปลูกเรือนอยู่ด้วยกัน แล้วได้ให้ท้าวสมศักดิ์นก พาทรัพย์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทข้างใน ได้พระราชทานเงินตราให้ทรัพย์เมื่อเวลาเข้าไปเฝ้าบ้าง ครั้นภายหลังทรัพย์กับนายรองชิดโกรธขึ้งขุ่นเคืองกัน นายรองชิดมาอยู่บ้านเดิมไปมาหาสู่ทรัพย์แต่ห่างๆ ภายหลังทรัพย์มีชู้กับพันสรสิทธิ์ปั่น ในกรมพระตำรวจ
แลเมื่อพระยาเทพอรชุนไม่ได้อยู่บ้าน ไปราชการมณฑลนครศรีธรรมราช นายรองชิดไปหาทรัพย์ จับได้พันสรสิทธิ์ปั่นชายชู้ในที่นอน เถียงไม่ได้ นายรองชิดเห็นว่าทรัพย์เคยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงรู้จักอยู่ จึงนำความนั้นกราบทูบพระกรุณา จึงมีพระบรมราชโองการให้ลูกขุนปรับชายชู้ตามศักดินานายรองชิด เสร็จแล้วหญิงสมัครจะไปอยู่กับชายชู้ ชายชู้ก็สมัครจะรับไป เพราะได้เสียเบี้ยปรับมากแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ทรัพย์เป็นบุตรขุนนางมีบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นหญิงบุตรบิดามารดาสามัญเสมอราษฎร จะโปรดให้เป็นไปตามใจสมัครทรัพย์และชายชู้ของทรัพย์ไม่ได้ พระยาเทพอรชุนบิดาของทรัพย์ก็ไปราชการอยู่ไกล ภายหลังเกิดความเรื่องนี้ขึ้น พระยาเทพอรชุนจะว่าอย่างไรก็ยังไม่ทราบ
จึงโปรดให้หาตัวนายพิศาลหุ้มแพรในพระบวรราชวัง แลบุตรพระยาเทพอรชุนที่เป็นมหาดเล็กหลายนายมาแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า ทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุนนอกใจนายรองชิดผู้ผัว ยอมให้พันสรสิทธิ์ทำชู้จนนายรองชิดผู้ผัวจับได้ บัดนี้ชายชู้ก็เสียงเบี้ยปรับเสร็จแล้ว ตัวทรัพย์จะสมัครไปอยู่กับชายชู้ ญาติพี่น้องจะยอมให้หรือไม่ คาดเห็นว่า พระยาเทพอรชุนจะยอมยกให้ชายชู้หรือไม่ บุตรพระยาเทพอรชุนทุกนายกราบทูลพระกรุณาว่าไม่ยอม คาดใจพระยาเทพอรชุนว่าเห็นจะไม่ยอมให้ไปคบกับชายชู้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้มอบตัวทรัพย์ให้นายพิศาลพี่ชายของทรัพย์รับตัวทรัพย์ไปจำไว้คอยท่าพระยาเทพอรชุน การต่อไปข้างหน้าสุดแต่พระยาเทพอรชุนผู้บิดา
อนึ่งกฎหมายเก่าว่าผัวเมียหย่าร้างกันแยกย้ายกันไป บุตรชายให้ได้แก่มารดา บุตรหญิงให้ได้แก่บิดา กฎหมายบทนี้มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ให้ใช้ได้แต่ในบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์ต่ำ ก็ถ้าว่าบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์สูงศักดินากว่า ๔๐๐ ขึ้นไปให้ตามใจบิดา ถ้าบิดาไม่รับเลี้ยงขับไล่บุตรเสียด้วย บุตรจึงตกเป็นของมารดา ถ้าบิดารักชาติตระกูลยศศักดิ์อยู่ ไม่ยอมให้ไปกับมารดา บุตรก็ต้องเป็นของบิดาหมด ด้วยนัยนี้ ถ้าในบางที่บางคราว หญิงที่มีศักดิ์สูงจะไปได้ผัวไพร่มีบุตรเกิดด้วยกัน บุตรนั้นก็ต้องเป็นของมารดา หรือของตาแลญาติข้างมารดาหมดตามบรรดาศักดิ์ เมื่อตัดสินดังนี้ จะว่าเข้าข้างผู้ดีข่มขี่ไพร่เกินไปก็ตาม แต่เห็นว่าผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นอันมากจะเห็นชอบด้วย ถ้าจะไม่ตัดสินอย่างนั้น จะว่าไปตามกฎหมายเก่าก็จะเป็นที่เสียใจแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์มากนัก ชักเรื่องว่ามาทั้งนี้จะให้เห็นหลักความที่ทรงพระราชดำริแล้วตัดสิน อย่างความบางเรื่องคล้ายๆ กับความที่ร้องฎีกาสองเรื่องนี้ คือผู้หญิงสมัครจะไปอยู่กับผู้ชาย ผู้ชายก็สมัครจะรับ แต่ญาติพี่น้องของหญิงเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเขาไม่ยอมเลย ก็ในความเรื่องนั้นตามรูปความก็ควรจะทรงตัดสินให้ตามใจหญิงสมัคร เหมือนกับความฎีกาสองเรื่องนี้
ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ไม่ได้มาพิจารณาการให้ละเอียด ก็ดูเหมือนจะเห็นไปอย่างนั้นด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ละเอียดไป ระลึกดูการแต่หลังมา เห็นว่าหญิงในตระกูลนั้นไม่เคยตกไปเป็นภรรยาผัวที่ต่ำศักดิ์เสมอกับชายที่หญิงนั้นรักนั้นเลย ชายคนนั้นมักใหญ่ใฝ่สูงเอื้อมเข้าไปสมคบกับหญิงในตระกูลสูงเช่นนั้น เป็นที่แปลกใจคนในตระกูลนั้นทั้งสิ้น ถ้าจะตัดสินให้ตามใจหญิงแล้ว คนในตระกูลนั้นทั้งสิ้นเขาคงคิดว่าผู้ครองแผ่นดินลดศักดิ์ตระกูลเขาให้ต่ำไป ตัวอย่างจะเป็นที่เขาเสียใจไม่รู้หาย ถึงจะบังคับชายให้เสียเบี้ยละเมิดให้แก่เขาตามกฎหมาย อย่าว่าเลย ถึงจะเสียให้เขาสัก ๑๐๐ ชั่งเป็นเบี้ยปรับ เขาก็ลั่นวาจาว่าไม่ยอมยินดีรับเป็นอันขาดทีเดียว
อนึ่งถ้าจะตัดสินให้ชายหญิงคู่นั้นได้อยู่ด้วยกันตามสมัครรักใคร่กันแล้ว ผู้ตัดสินก็ดูเป็นโง่งมนักไม่รู้เท่ารู้ทันคนเสียคมเสียคาย ถูกหลอกถูกลวงกล้ำกรายเข้ามาในพระราชวัง โทษเสมอขบถแต่แผ่นดินเก่ามาจนแผ่นดินใหม่ ก็จะเป็นอันไม่รู้เท่าอ้ายขบถเสียการที่ปรากฏว่าไม่รู้เท่านั้น จะเป็นที่จะให้คนลามๆ ต่างๆ เดินทางนั้นมาลูยลายพระราชฐานต่อไปในภายหน้า จึงประกาศมาขอให้ผู้มีปัญญาตริตรองดู
แต่ความสามัญในโรงศาลในกรุงแลหัวเมืองทั้งปวง ให้ตุลาการพิจารณาสังเกตตระกูลหญิงตระกูลชาย แลเปรียบเทียบให้คล้ายกับกระแสพระราชดำริ ก็ซึ่งถือลัทธิว่าชายถูกต้องหญิงแล้ว ก็เชื่อว่าเป็นเมียนั้นใช้ไม่ได้ ให้บังคับตามใจสมัครในตระกูลหญิงที่ต่ำ แลตามใจบิดามารดาพี่น้องหญิงในตระกูลที่สูงศักดิ์ ตามบังคับนี้เถิด
วิสัยตระกูลต่ำมีแต่คิดจะหาเงินหาทอง ย่อมข่มขืนบุตรหลานของตัวแล้วเอาไปขายไปให้ ให้ไปต้องทนยากอยู่ในที่ที่ตัวจะได้เงินได้ทองมาก แต่บุตรไม่ควรที่จะต้องยากเพราะบิดามารดา จึงต้องตัดสินให้ตามใจบุตรสมัคร ประการหนึ่ง หญิงก็ไม่ควรจะสึกหรอมากไปหลายแห่ง ในตระกูลต่ำ ถ้าตัดสินให้เป็นของบิดามารดาแล้ว ก็จะทำให้สึกหรอมากไปดังเช่นเป็นในความฎีกาสองเรื่องนี้ ก็ในตระกูลสูงโดยว่าหญิงพลัดไปสึกหรอในสถานที่ต่ำ เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้อง ก็เมื่อคืนมาให้ญาติพี่น้องถึงต้องสึกหรอเป็นสองซ้ำสามซ้ำ ญาติพี่น้องทั้งปวงคงจะไม่ยอมให้ไปสึกหรอในตระกูลต่ำ โดยจะต้องสึกหรอเขาคงจะให้ไปสึกหรอในที่มีศักดิ์สูงเป็นที่ยำเยงกลัวของคนเป็นอันมาก คนทั้งปวงเกรงใจไม่ออกปากพูดถึงความเรื่องนั้นได้ ก็เป็นอันแก้อายให้หายไปโดยลำดับ เพราะจะทำคนทั้งหลายให้ลืมความนั้นเสีย
ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ หรือเป็นวันที่ ๕๓๓๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
(คัดลอกประกาศมาให้อ่านกัน.)
สรุป อำแดงเหมือนคือ วีรสตรีที่ถูกลืม(คือไม่มีใครรู้) ว่าเป็นผู้เรียกร้องสิทธิสตรีให้แก่หญิง(สยาม)ไทยเป็นครั้งแรก...