พญาคันคาก - พระยาแถน ต้นกำเนิดบุญบั้งไฟ

นิทานปรัมปราแห่งต้นกำเนิดแห่งประเพณีงานบุญบั้งไฟของทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่นิยมมีขึ้นช่วงฤดูฝนก่อนเข้าสู่การทำนา

 

ตำนานเรื่องเล่าที่ได้มีการบอกเล่าต่อกันมาจากบรรพบุรุษถึงลูกหลานสู่วรรณคดีที่ควบคู่กับประเพณีงานบุญบั้งไฟกันมาอย่างยาวนาน ของเหล่าชาวอีสานทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่นิยมจัดงานในช่วงฤดูฝนก่อนเข้าสู่การทำนา โดยมีเรื่องเล่าหลากหลายเรื่อง แต่ในครั้งนี้ ขอหยิบยกหนึ่งในเรื่องเล่าที่มีการเล่าสู่กันฟังมากที่สุด นั้นคือสงครามกับสู้รบ ระหว่าง พญาคันคาก กับ พระยาแถน จนกลายเป็นต้นกำเนิดประเพณีงานบุญบั้งไฟในปัจจุบันนี้

 

เรื่องเล่านี้ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นับเนื่องหลายอสงไขยสมัยที่ สรรพสิ่งมีชีวิตต่างสื่อสารระหว่างกัน ด้วยภาษาเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะซึ่งเปรียบดั่งเมืองสวรรค์ โดยมี พญาแถน ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ปกครองทั่วหล้า เหล่าสรรพสิ่งทั้งหลายต่างพากันให้ความเคารพยำเกรง อันเนื่องมาจากเป็นผู้มีฤทธิ์และอำนวยเกิดกาลเวลาแห่งฤดูกาลต่างๆ โดยทาง พระยาแถนเจ้า ได้เปิดประตูชั้นฟ้า ให้เหล่าพญานาคเจ็ด ไปลงเล่นน้ำสระหลวง เพื่อทำให้กลายเป็นฝนลงมาสร้างความชุ่มเย็น แก่เหล่าสิ่งมีชีวิตในโลกมนุษย์

 

แต่ในขณะนั้น ก็ยังมีเมืองหนึ่งชื่อนครดอกไม้ ซึ่งตั้งอยู่บนโลก พระยาเมือง ผู้ถือสัตย์ เหล่าไพร่ฟ้า อยู่เย็นเป็นสุขรื่นเริงกันทั่วหน้า แม่เมืองให้กำเนิดบุตรชาย ผู้มีลักษณะผิดเพศมนุษย์คันคาก หรือคางคก ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนทั้งหลาย แต่ถึงกระนั้น หมอโหรได้ทำนายทายทักว่า คันคากน้อยผู้นี้เป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่ง จงเลี้ยงดูให้ดีเถิด แต่เมื่อกาลเวลาค่อยๆผ่านหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป หามีผู้ใดรังเกียจเดียดฉันท์ไม่ จนกระทั้งถึงเวลาที่คันคากน้อยผู้นี้ได้ถอดคราบเติบโตกลายเป็นชายหนุ่มผู้มีรูปโฉมงดงาม ถอดคราบคางคกก็กลายเป็นเกราะทองรองกาย ทำให้ดูองอาจสง่างาม มีความสามารถเชิงยุทธพิชัย ฤทธานุภาพเหนือผู้ใด และเป็นที่ยำเกรงแก่เหล่าสัตว์เขี้ยวงาทั้งบกและน้ำกับบรรดาผู้มีเดชกล้าทั้งผอง รวมทั้งยังทรงบุญญาบารมีด้วยการรักษาสัตย์, ศีล, ทาน จนเป็นที่ยกย่องเคารพบูชาของสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั่วทั้งทีป พระยาเมืองจึงยกให้ท้าวเป็นผู้ครองนครดอกไม้สืบต่อสันตติวงศ์ มนุษย์, สัตว์สิ่ง, หินดินฟ้าและป่าแดดทะเลฝน เมื่อต่างให้ความเคารพยกย่องบูชาต่อพญาคันคากแล้ว ก็ลืมละการกราบไหว้ต่อพระยาแถน

 

ทำให้พระยาแถนเกิดความน้อยอกน้อยใจ จนกลายเป็นเคืองแค้นโกรธา แต่ด้วยความเกรงกลัวต่อบุญญาธิการและอิทธิ์ฤทธิ์ของพญาคันคากจะเป็นภัยเป็นแก่ตน จึงคิดอุบายหาทางกลั่นแกล้งด้วยการวางแผนทำให้ฝนไม่ตกมายังโลกมนุษย์ ส่งผลให้เหล่าสรรพสิ่งพากันเดือดร้อนไปทั่วพิภพนานถึง 7 ปี พญาคันคากไม่ทราบว่าจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร จึงลงไปยังใต้พิภพเพื่อปรึกษากับพญานาค

 

พญาหลวงนาโค กล่าวกับพระยาคันคากว่า พระยาแถนประทับอยู่ยังปราสาท เมืองยุคันธร ซึ่งเป็นเมืองที่มีแม่น้ำคงคาอันกว้างใหญ่ไพศาล พระยาแถนมีหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำยุคันธรแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมี ภูเขาสัตบริภัณฑ์ ตั้งอยู่รายล้อม ภูเขาพระสุเมรุถึง ๗ ลูก เมื่อครบกำหนดเวลาบรรดาพญานาคจะลงมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล แต่เมื่อพระยาแถนไม่ให้พวกพญานาคมาเล่นน้ำจึงไม่มีฝนตกลงมาในโลกมนุษย์

 

เมื่อกาลยังคงเป็นอย่างเช่นนี้ จึงทำให้ชาวเมืองของพญาคันคากและสัตว์ใหญ่น้อยต่างพากันอดอยาก แห้งแล้ง และกันดาร เมืองของพญาคันคากก็เกิดการข้าวยาก หมากแพง ทำนาทำไร่ก็ไม่ได้ผล มีการแก่งแย่งจี้ปล้น เกิดมีโจรขโมยแย่งกันกิน และฝูงสัตว์ใหญ่น้อยเมื่อหาอาหารไม่ได้ เหล่าสรรพชีวิตต่างก็พากันมาร้องทุกข์กับพญาคันคากเจ้าผู้ครองนครอินทรปัตกันแทบทั้งนั้น

 

พญาคันคากจึงเล่าให้บรรดาไพร่ฟ้าและข้าแผ่นดินฟังว่า พระยาแถนนั้นจับพญานาคผูกไว้ไม่ให้พญานาคมาพ่นน้ำได้ จึงเป็นเหตุไม่ให้ไม่มีละอองน้ำจากพญานาคตกลงมาเป็นฝนยังโลกมนุษย์ พร้อมทั้งได้ปรึกษาหารือกับบรรดาไพร่ฟ้าของพระองค์ว่า จะต้องทำสงครามกับพระยาแถน โดยพญาคันคาก ก็วางแผนที่จะขึ้นไปรบกับพระยาแถนบนสวรรค์ โดยให้บรรดาสัตว์ใหญ่น้อยเป็นกำลังทัพไปทำสงครามด้วย ด้วยการให้พวกปลวกช่วยกันก่อจอมปลวกเป็นภูเขาสูงขึ้นไปสู่เมืองสวรรค์ของพระยาแถน และให้บ่าวไพร่กับเสนาช่วยกันสร้างกำแพงขึ้นแล้วต่อบันไดขึ้นไปจนถึงเมืองพระยาแถนบนฟากฟ้าเมืองสวรรค์

 

ต่อมา พญาคันคากนำทัพเหล่าสัตว์ต่างๆขึ้นไปสู้รบพระยาแถน พอไปถึงเมืองพญาคันคาก กล่าวท้ารบ พระยาแถนก็ได้เตรียมการและแอบซ่อนอาวุธพร้อมกับไพร่พลเทวดาทั้งหลายไว้ทำสงครามเช่นกัน พญาคันคากผู้เปี่ยมฤทธา ทรงรู้ที่ซ่อนแหล่งอาวุธของพระยาแถน จึงสั่งการให้พวกมด มอด และปลวก ไปเจาะไช ชอน ด้ามอาวุธเหล่านั้นให้เสียผุพังให้หมด ตลอดจนให้ทำให้สนิมกินใบหอก มีด ดาบและหลาวเสียด้วย

 

ครั้นรุ่งเช้า พอถึงเวลา พระยาแถน สั่งการให้แจกจ่ายอาวุธแก่กองทัพ ก็ปรากฏว่าอาวุธทั้งหลายเหล่านั้นเกิดการชำรุดทั้งหมด พระยาแถนจึงต้องเปลี่ยนแผนที่จะรบกับพญาคันคากโดยการใช้เวทมนต์แทน ซึ่งพญาคันคากผู้เก่งกาจ ก็รู้ทัน จึงใช้ให้ กบ เขียด อึ่งอ่าง และจักจั่น คอยส่งเสียงรบกวน การเพ่งสมาธิร่ายเวทมนต์ของพระยาแถน ฝ่ายพระยาแถนจึงเสกให้งูไปกินกบเขียด อึ่งอ่าง และจักจั่นให้หมด พญาคันคากเห็นดังนั้นก็เสกให้มีเหยี่ยว และนกรุ้ง(แร้ง)ไปจัดการกินงูของพระยาแถนให้หมด พระยาแถนเสกสุนัขไปกินนกและกินเหยี่ยวของพญาคันคาก พญาคันคากก็เสกเป็นเสือโคร่งไปไล่กินสุนัขของพระยาแถน จนหมด พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบผู้คนและสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาคันคากก็เสกเป็นพญาครุฑกางปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และมีการร่ายเวทมนต์คาถาอาคมให้ผู้คนที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการสู้รบกันของทั้งคู่เป็นไปอย่างดุเดือด ต่างคนต่างก็มีคาถาอาคมเพื่อต่อสู้กับศัตรู ในศึกครั้งนั้นเรียกว่า มหายุทธ จนเวลาล่วงเลยผ่านไปยาวนาก็ยังไม่สามารถหาผู้แพ้ชนะกันได้ ต่อมาสัตว์ต่างๆเหล่านี้จึงเป็นศัตรูกันนับตั้งแต่นั้นมา และทางพระยาแถนก็ได้ชวนพญาคันคากมาทำการชนช้าง(ยุทธหัตถี) เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันอีกครั้ง และในที่สุด พระยาแถนก็เพลี่ยงพล้ำถูกพญาคันคากจับตัวได้ จึงต้องทำสัญญาสงบศึกกัน

 

โดยที่พระยาแถนจะยอมปล่อยพวกพญานาคให้มาพ่นน้ำเพื่อให้ฝนตกมายังโลกมนุษย์ และหากว่าปีใดพระยาแถนลืมก็ขอให้ชาวโลกมนุษย์ส่งบั้งไฟขึ้นมาเตือนพระยาแถนว่าได้เวลาปล่อยพญานาคให้เล่นน้ำในสระบนสวรรค์เพื่อให้ละอองน้ำตกลงมาเป็นฝนบนโลกมนุษย์ได้แล้ว และเมื่อรู้ว่าฝนตกและปริมาณน้ำนั้นเพียงพอแล้วก็ให้กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ ร้องระงมเป็นสัญญาณให้รับรู้และหยุดทำการให้ฝนตกได้แล้ว

 

หลังจากนั้น งานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นสัญญาว่าเมื่อปีใดที่ฝนตกล่าช้าไม่ตรงตามฤดูกาล ชาวอีสาน และชาวลาวตลอดจนชาวเขมรก็จะทำบั้งไฟ จุดขึ้นไปบอกข่าวแก่พระยาแถนเพื่อให้ส่งน้ำฝนลงมาให้แก่ชาวโลกมนุษย์ และให้ตกลงมาตรงตามฤดูกาล จนกระทั้งสืบทอดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้


พญาคันคาก - พระยาแถน ต้นกำเนิดบุญบั้งไฟ


พญาคันคาก - พระยาแถน ต้นกำเนิดบุญบั้งไฟ


พญาคันคาก - พระยาแถน ต้นกำเนิดบุญบั้งไฟ

ภาพประกอบเครดิตตามภาพ
ที่มา :: tnews.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์