เปิดใจ ครูน้อย กับข้อครหา เงินหาย-หนี้ท่วม



เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...ชนัสถ์ กตัญญู


คล้อยหลังจาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะ เดินทางมาให้กำลังใจ "ครูน้อย-นวลน้อย ทิมกุล" ผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อย พร้อมประกาศจะช่วยปลดหนี้และสานต่อเจตนารมณ์ในการอุปการะเด็กยากไร้

เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นก็ดังระงมไปทั่ว

เป็นเสียงร้องไห้ที่เปล่งออกมาด้วยความซาบซึ้ง เพราะนั่นหมายความว่าสถานรับเลี้ยงเด็กที่เปิดมานานกว่า 35 ปีจะไม่ปิดตัวลงตามที่ปรากฎเป็นข่าว เด็กทั้ง 65 คนจะยังอยู่ในการดูแลของครูน้อยต่อไป

วันนี้ "สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย" ภายในซอยราษฎร์บูรณะ 26 คึกคักด้วยกองทัพสื่อมวลชนและผู้ใจบุญ ครูน้อยในวัย 73 สีหน้าเหนื่อยล้า นั่งอยู่บนโต๊ะทำงานตัวเดิมรอต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่มาให้กำลังใจ หลังจากทราบข่าวประกาศปิดทำการในวันที่ 31 ก.ค.

"วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นจากไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทุกวันนี้มีทั้งค่าขนมให้เด็กไปโรงเรียนวันละ 3500 บาท เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ 8 คนวันละ 2,000 บาท ค่ากับข้าว 3 มื้อ 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส และค่าจิปาถะอื่นๆ รวมทั้งหมดอยู่ราวๆ 200,000 บาทต่อเดือน

ส่วนรายรับทั้งหมดมาจากเงินบริจาค ผู้ที่บริจาคประจำทุกเดือนมีสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เดือนละ 30,000 บาท ดร.นิกร หงษ์ศรีสุข เจ้าของบริษัท เจมส์ แกลอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล แมนูแฟคเจอเร่อ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีอีก 4-5 รายให้เดือนละ 3000 บาท บวกกับเบี้ยบ้ายรายทาง รวมแล้วประมาณ 80,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ ส่วนที่ขาดก็ไปหยิบยืมเขา ถ้ายืมมาแล้วยังไม่พอก็ต้องเอาของไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน มันเป็นลูกโซ่อย่างนี้่มาหลายเดือนแล้ว"ครูน้อยแจกแจงรายรับรายจ่ายให้ฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ครูน้อยเคยประสบกับภาวะวิกฤตเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กๆในบ้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้กว่า 20 ราย รวมกว่า 5 หมื่นบาทต่อวัน จนมีหนี้สินพอกพูนสูงถึง 8 ล้านบาท

คราวนั้นเอง พล.ต.ท.พงศพัศ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการเจรจาประนีประนอมกับเจ้าหนี้ ควบคู่กับระดมเงินบริจาคจากประชาชน จนสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ครูหยุย-วัลลภ ตังคานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์ได้อาสาเข้ามาช่วยวางระบบการดำเนินงาน เช่น การบริหารเงินบริจาค จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันข้อครหานินทา

แต่วันนี้ คำถามที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เหตุใดปัญหาซ้ำๆเดิมๆจึงเกิดขึ้นไม่จบสิ้น

"หนี้นอกระบบครั้งนั้นเป็นหนี้ส่วนตัวที่ครูไปหยิบยืมเขามาแล้วไม่มีปัญญาใช้ เป็นภาระที่ครูต้องรับผิดชอบคนเดียว ไม่เกี่ยวกับสถานรับเลี้ยงเด็ก ตอนนั้นบ้านครูน้อยไม่ได้เดือดร้อน มีทุนสำรองเพียงพอ เด็กๆมีกินบริบูรณ์ แตกต่างจากครั้งนี้ที่ถึงขั้นไม่มีเงินให้เด็กๆไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเงินบริจาคที่ลดน้อยลงสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนเรื่องครูหยุยที่เข้ามาให้คำปรึกษาเรื่องการทำมูลนิธิ ขอเรียนตามตรงว่าบ้านหลังนี้ครูน้อยเป็นคนก่อตั้งขึ้นมา เราทำตามนโยบายของเราเอง การทำบ้านเด็กของแต่ละคนย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างกันไป ครูหยุยก็แบบนึง ครูประทีปก็แบบนึง มีการวางระบบ ตั้งกองทุน แล้วจึงเปิดเป็นบ้าน มีหลักเกณฑ์เยอะ ระบบอาจจะดีและยั่งยืน แต่มันไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของเรา บ้านครูน้อยมีที่มาจากการที่เด็กอดอยากหิวโหย วิ่งมาเกาะรั้วหน้าบ้าน ขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยตามแนวทางของเรา จู่ๆวันหนึ่งมีคนมาตีกรอบให้ จากเคยให้ค่าขนมเด็กเท่านั้นต้องลดเหลือเท่านี้ ครูทำไม่ได้ ยอมรับว่าเป็นคนใจอ่อน ใครเดือดร้อนมาก็ช่วยทุกคนทั้งค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล บางครอบครัวพ่อแม่เจ็บป่วย ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ครูก็ช่วยหมด"


เปิดใจ ครูน้อย กับข้อครหา เงินหาย-หนี้ท่วม


ครูนวลน้อยย้ำหนักแน่นว่า นอกจากเด็กที่อยู่ในอุปการะคุณทั้ง 65 คนแล้ว ยังให้การช่วยเหลือคนในชุมชนรอบบ้านด้วยตามแต่โอกาสจะอำนวย

"บางทีมาขอข้าวกิน เราก็ให้ บางคนมาเรียกหน้าบ้านขอเงินร้อยนึงพาลูกไปหาหมอ เราเปิดกระเป๋าดูมีอยู่แค่ 300 ก็ให้ไปหมด เพราะ 300 นั้นมันจำเป็นสำหรับเขามากกว่า ลำพังเราไปหยิบยืมคนอื่นได้ แต่ชาวบ้านบางคนยากจน มาจากต่างจังหวัด แถมไร้ญาติ ถ้าหยิบยืมใครไม่ได้ลูกเขาอาจจะป่วย หรือตายไปก็ได้ ครูคิดว่าการทำบุญ เราอย่าไปแยกแยะ เหมือนทุนการศึกษา อย่าไปแยกแยะเลยว่าเรียนดีแต่ยากจน เด็กที่ยากจนและเรียนไม่ดีเพราะสมองทึบก็มีเยอะแยะ ความยากไร้ความลำบากของคนเรามันแตกต่างกัน"

ประเด็นเกี่ยวกับคำครหานินทา ทั้งถูกกล่าวหาว่าเอาเงินบริจาคไปซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถป้ายแดง ครูน้อยถอนหายใจ บอกเสียงเศร้า

"ข้อกล่าวหาต่างๆที่เกิดขึ้นมันบั่นทอนจิตใจมาก ลูกเต้าก็ถูกประนามว่าแม่เอาเงินบริจาคไปซื้อรถป้ายแดงให้ ครูน้อยมีลูกสองคนเรียนจบป.ตรีกับป.โท เขาทำงานอย่างมีเกียรติ มีแต่แม่นี่แหละที่เอาสร้อย เอาข้าวของของเขาไปจำนำ ลูกๆต้องกู้แบงค์มาช่วยใช้หนี้ให้แม่ ไปสืบดูได้สิ่งที่ครูทำมา 35 ปีจนถึงบัดนี้ไม่มีอะไรที่เป็นก้อนเป็นกำ เป็นเนื้อเป็นหนังเลยแม้แต่นิดเดียว ไอ้ที่จะควักเงินซื้อมีแค่กับข้าวกับปลาและซ่อมแซมบ้านเท่านั้น"น้ำตาคลอเพราะคำใส่ร้ายที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ชีวิตครูน้อยเองใช่จะสุขสบาย โรคภัยรุมเร้าทั้งความดัน เบาหวาน จนเป็นแผลต้องเดิดกระเผลกอย่างยากลำบาก ซ้ำยังต้องเจอกับความเครียดกังวลที่ประเดประดังเข้ามา กว่าจะหลับตานอนได้ในแต่ละคืนช่างยากเย็น

"มีแต่ความคิดว่าจะหาเงินจากไหนมาช่วยเด็กๆ ยอมรับว่ามืดแปดด้าน มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลายคนมองว่าเราอยู่ดีมีสุข บางคนกล่าวหาว่าเราเอาเงินทองไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังมีอีกเยอะที่อยากให้เราดำเนินงานต่อ สองสามวันนี้มีโทรศัพท์เข้ามาทั้งวันว่าอยากจะช่วย ครูเปิดต่อไปได้ไหม สงสารเด็ก ครูก็ตอบไปว่าไม่สามารถรับปากได้ เพราะถ้าคุณมาช่วยแค่ในช่วงที่กำลังวิกฤติขณะนี้แล้วก็จากไป มันก็เหมือนเราหิวน้ำ คุณเอาน้ำมาให้เรากินแก้วนึง แล้วคุณก็จากไป อีกไม่นานเราก็หิวน้ำอีก เมื่อไม่มีน้ำจะกินก็ทุรนทุรายอย่างเก่า ต้องมาผจญกับวิบากกรรมเดิมๆ"


เปิดใจ ครูน้อย กับข้อครหา เงินหาย-หนี้ท่วม


อะไรที่ทำให้ยืนหยัดกัดฟันต่อสู้มานาน 35 ปี ทั้งที่ภาระหนักอึ้งขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับเรี่ยวแรงกำลังวังชาที่ลดน้อยถอยลง ครูนวลน้อยตอบเสียงดังฟังชัดว่า ความสุขที่ได้เห็นเด็กๆกินอิ่ม ได้เรียนหนังสือ และเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม

"เด็กๆที่ครูรับไว้อุปการะล้วนเป็นเด็กมีปัญหา ยากจน ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ติดคุก เด็กพิการ เราให้ความช่วยเหลือทุกอย่างในชีวิต ค่ากินค่าอยู่ ค่าขนมไปโรงเรียน ค่ารักษาพยาบาล จนถึงวันนี้ก็น่าจะราวๆพันกว่าคนแล้ว หลายคนโตไปมีครอบครัว ทำมาหากินสุจริต ขับแท็กซี่ เป็นกรรมกร

ครูไม่ได้หวังให้เด็กทุกคนมีชีวิตที่หรูหรา มีการศึกษา มีใบปริญญา แค่ช่วงที่เขามีโอกาสได้มาพบครู ครูให้เขากินอิ่ม มีขนม มีของเล่น มีเสื้อผ้าให้เขาใส่บ้าง อะไรที่ทำให้เขามีความสุข ครูก็จะให้ เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ครูจะจากเขาไปหรือเขาจะจากครูไป แต่ช่วงที่อยู่กับเรา เราดูแลเขาอย่างดีที่สุด นี่คือความสำเร็จของครู"

ข่าวล่าสุดที่พล.ต.อ.พงศพัศเข้ามาเคลียร์หนี้ให้อีกครั้ง พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่าจะช่วยให้ครูเปิดบ้านหลังนี้ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่ก่อหนี้นอกระบบ และไม่ไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาใช้อีก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ไขปัญหาเก่าๆเดิมๆให้หมดไปเสียที

นี่คือวิบากรรมอีกครั้งหนึ่งของครูน้อย แม่พระผู้เสียสละเพื่อเด็กยากไร้มานานกว่า 35 ปี


เปิดใจ ครูน้อย กับข้อครหา เงินหาย-หนี้ท่วม

ขอบคุณข่าวสารดีๆจาก :::http://www.posttoday.com/ :: เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...ชนัสถ์ กตัญญู


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์